บังคับใช้กฎหมายขายตรงฯ ตัดช่อง ”เทวดา“ เอี่ยวธุรกิจแชร์ลูกโซ่

ทนาย “วีรพัฒน์” แนะย้อนดูรายงาน “ดิไอคอน”  หลัง สคบ.พบพิรุธปี 61 แต่ไม่คืบ ขณะที่ผู้เสียหายรวมแล้ว 4,700 คน ความเสียหายมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท

ความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจจับกุม 18 ผู้ต้องหาระดับผู้บริหารและนำตัวไปฝากขังในเรือนจำ โดยไม่มีการยื่นประกันตัว มีรายงานว่าขณะนี้ ตำรวจยังไม่สามารถดำเนินการออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติมได้ เนื่องจากขอเร่งดำเนินการในส่วนสำนวนของผู้ต้องหา 18 คน ให้เสร็จสิ้นทันครบกำหนดฝากขังก่อน 

โดยประเด็นที่สังคมจับตาควบคู่ไปกับการเอาผิดผู้ต้องหา คือ กรณีปรากฏคลิปเสียงการต่อรองผลประโยชน์ ระหว่าง บอสพอล หรือ วรัตน์พล วรัทน์วรกุล กับ บุคคลปริศนา หรือที่เรียกกันว่า เทวดา สคบ. ที่อาจมีส่วนรู้เห็น เปิดทางให้ธุรกิจที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนดำเนินการได้โดยไม่มีการตรวจสอบทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากหรือไม่

The Active คุยกับ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร และผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA ซึ่งทำคดีเรียกค่าเสียหายคดีหุ้นสตาร์ค และ คดีซิปเม็กซ์ ซึ่งมีประชาชนตกเป็นผู้เสียหายมูลค่ารวมหลักหมื่นล้านบาท มองถึงการตั้งข้อสังเกตจากสังคมในขณะนี้ว่า จำเป็นที่จะต้องให้ตำรวจแสดงฝีมือเชื่อว่าคงไม่ทำอะไรแล้วให้สังคมจับผิดเอาได้ ที่สำคัญตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยตนเองตามกระแสข่าวที่ค้นพบว่ามีคนมาดำเนินการในลักษณะเรียกรับเงินอยู่หลายคลิป 

ส่วนตัวมองว่าก็ต้องเอาคลิปเหล่านั้นมาขยายผลสอบสวนต่อ หากสุดท้ายตรวจสอบที่ว่ามี 10 คลิป แต่ตรวจจริงมี 5 คลิป สังคมก็คงต้องตั้งคำถามต่อว่าคลิปที่เหลือหายไปไหน มีใครที่อยู่เหนือไปกว่านั้นที่เปิดเผยไม่ได้หรือไม่ แต่ถามว่าสังคมจะรู้ได้อย่างไรว่าพยานหลักฐานมีอะไรบ้างอาจจะต้องอาศัยกลไกภายใน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือคณะกรรมาธิการ ของสภาฯ เป็นต้น ที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ตอนนี้ยอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามีมือที่สาม หรือใครเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ ต้องให้เกียรติเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ขยายผลการสอบสวน

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในคดีหุ้นสตาร์ค ทนายวีรพัฒน์ พบว่ามีลูกหลานผู้ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ นักธุรกิจใหญ่ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้มีความกังวลว่าจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่ แต่สุดท้ายก็ถูกฝากขังก่อนมีคำพิพากษา จึงอยากให้ประชาชนที่ติดตามคดีดิไอคอนกรุ๊ป ให้เวลาตำรวจทำงานอย่างเต็มที่ แต่ในส่วนของภาคประชาสังคม สื่อมวลชน สามารถช่วยติดตามตัวอย่างกรณีคลิปเสียง เช่น ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าไปดูไฟล์จากมือถือได้หรือไม่ว่าอาจจะมีมากกว่านี้ หรือหากถูกลบไปแล้วก็มีวิธีการกู้กลับคืนมาได้

ทนายวีรพัฒน์ ยังยกตัวอย่างอำนาจของ เทวดา ว่ามีได้ทุกระดับ ตัวอย่าง เวลาเราไปยื่นเอกสารสำนักงานเขต บางคนต้องนั่งรอ แต่บางคนบอกมีวิธีการพิเศษให้ไม่ต้องรอ หรือทำแทนให้เลยก็ได้แค่มีของติดไม้ติดมือไปนิดหน่อย สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมที่ผิด เป็นความไม่ถูกต้องที่สังคมต้องหันมาใส่ใจ 

แต่คดีใหญ่อย่างธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป ไม่ใช่ธุรกิจเล็ก ๆ ต้องปรึกษาทางกฎหมาย มีใบอนุญาต มีหน่วยงานดูแล โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงเข้ามาเกี่ยวข้อง คำถามคือ บุคคลเหล่านี้อยู่ไหนตอนที่ดิไอคอนกรุ๊ปเริ่มขยายธุรกิจ ส่วนที่มีการพบรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่มีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบพฤติกรรมการประกอบธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หรือเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่ ตั้งแต่ปี 61 นั้น

ทนายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2563 มีรายงานการตั้งคณะกรรมการขายตรงฯ ชุดใหม่แทนชุดเก่า จึงต้องถามต่อว่ามีการเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมหรือไม่ ฝ่ายเลขาฯ ที่ต้องเสนอประเด็นนี้เข้าที่ประชุมพิจารณาเป็นใคร ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่ดิไอคอนกรุ๊ปทำธุรกิจใหญ่โต มีดาราเป็นพรีเซนเตอร์ ผลประกอบการน่าตกใจ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงมีสิทธิจะจี้ลงไป ซึ่งถ้าเห็นในรายงานก็จะรู้ได้ว่ามีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ยุ่งเหยิง หรือมาแทรกแซงกระบวนการหรือไม่

ชี้ช่องเอาผิดข้าราชการปล่อยปละ ไม่ระงับเหตุก่อนความเสียหายขยายวงกว้าง เป็นบรรทัดฐานใหม่

เพื่อปิดช่องเรียกรับผลประโยชน์ ที่ส่งผลให้ธุรกิจประเภทแชร์ลูกโซ่ เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและเศรษฐกิจ ทนายวีรพัฒน์ เสนอว่า หากกรณีดิไอคอนกรุ๊ปเข้าข่ายความผิด และถูกดำเนินคดีจริง จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการข้าราชการไทยโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่เป็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เพราะกรณีดิไอคอนกรุ๊ป เพิ่งกำเนิดหลังปี 2561 ฉะนั้นกฎหมายพร้อม มีโทษถ้าดำเนินการขยายวงสมาชิก ชักชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจโดยอาศัยการล่อจูงใจว่าจะได้ประโยชน์ตามจำนวนสมาชิกที่สูงขึ้น ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษจำคุกห้าปี 

“ถ้าวันนั้นเขาถูกตักเตือนว่าถ้าคุณไม่หยุดคุณมีโทษจำคุกเขาก็ต้องหยุด แต่วันนั้นมีใครเตือนเขาไหม หรือไม่มีใครเตือน ถ้าข้าราชการ หรือผู้รับผิดชอบ หน่วยงานไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงถูกปล่อยปละละเลยมาได้เขาก็ต้องรับผิด เมื่อคนอื่นที่อาจมีเทวดามาดลใจให้ช่วยดำเนินการให้ทำ หรือไม่ทำอะไรบางอย่าง ก็คงจะต้องกลัวกฎหมายมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นคือกฎหมายต้องมีผลบังคับใช้ และลงโทษผู้กระทำผิด“

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

รมว.ดิจิทัลฯ เผย สัปดาห์นี้มีความคืบหน้าหลังตั้งกรรมการฯ ตรวจสอบ

ด้านประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำกับดูแล รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรีที่ดูแล สคบ. กล่าวถึงความคืบหน้าหลังแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และได้ตั้งคณะอนุกรรมการมาตรวจสอบว่า ยังไม่ได้มีการรายงานความคืบหน้า แต่ตนได้สั่งการให้คณะกรรมการมารายงานภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงาน

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่มีรายชื่อเจ้าหน้าใน สคบ. ปรากฏตามข่าวว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว จะต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลที่ต้องดูตรงนี้ ตนคิดว่าท่านคงไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหาย

ส่วนบรรยากาศตลอดช่วงเช้าที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยังมีผู้เสียหายจาก การลงทุนกับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ทยอยเข้ามาร้องทุกข์อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 10 – 20 ต.ค. มีผู้เสียหายสอบปากคำไปแล้ว 2,822 คน มูลค่าความเสียหาย กว่า 965 ล้านบาท 

ขณะยอดรวมผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 4,700 คนแล้ว มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active