สภาฯ จ่อคว่ำ ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ หวั่นลิดรอนสิทธิผู้ปกครอง

กมธ. ถอนร่าง พ.ร.บ.ฯ กลับไปแก้ไขใหม่ ด้านนักวิชาการ ห่วงหากผู้ใหญ่ยังลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตี มันอาจเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ ย้อนแย้งฝันพัฒนาทุนมนุษย์รัฐบาล ‘แพทองธาร’

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับการลงโทษเด็ก ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านวาระ 1 ในขั้นรับหลักการไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และวันนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาปรับแก้ไขแล้ว จึงนำมาเสนอต่อสภาเพื่อรับการพิจารณาต่อในวาระ 2 และ 3 โดย สส. หลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็นค้านในหลักการ เล็งจ่อคว่ำกฎหมาย ขณะที่ กมธ. รับจะกลับไปปรับแก้ไขใหม่

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข คือ ยกเลิก (2) ของมาตรา 1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”

ฟากรัฐบาลเห็นค้าน ตีกลับ กมธ. ถอนร่างไปแก้ไขใหม่

ด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว สส.พรรคเพื่อไทย ขึ้นอภิปรายในสภาว่า เสียงข้างมากในสภาฯ นี้มีแนวโน้มคัดค้าน จ่อคว่ำ เท่าที่ฟังจากการอภิปราย จึงมีข้อเสนอให้ กมธ. ถอนกลับไปปรับแก้ใหม่ เพราะถ้อยคำในหลักการมีความกำกวม คำว่า ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ นั้นอยู่ในขั้นไหน เอาอะไรมาวัด แค่ไหนเรียกทารุณกรรม ย้ำว่าต้องสมดุลการรักษาสิทธิเด็กและสิทธิของผู้ปกครอง โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีหลายเสียงของ สส. ฟากรัฐบาลที่ออกมาแสดงถึงความกังวลต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ปกครองในการอบรมสั่งสอนหรือไม่ หรืออาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัว อย่างอดิศร เพียงเกษ​ สส. พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า การกำหนดว่าห้ามให้ลงโทษโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นยาวเหยียด ไม่อยากให้เด็กเป็นลูกบังเกิดเกล้า ส่วนตัว ตนเองก็ได้เติบโตเพราะไม้เรียวครูสมัยเป็นนักเรียน

“ถ้ามีการลงมติในวันนี้ ผมจำเป็นต้องคว่ำกฎหมายฉบับนี้ ผมอยากให้สังคมไทย เป็นสังคมไทยที่ไม่เอาสังคมต่างประเทศมาใช้ มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีสั่งสอนกันได้”

อดิสร เพียงเกษ

ขณะที่ นิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย กังวลว่าร่างกฎหมายห้ามตีลูกจะทำให้พ่อแม่และครูไม่สามารถสั่งสอนเด็กที่เกเรได้ ส่วน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย ชี้ว่าถ้อยคำในร่างกฎหมายยังคลุมเครือ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในศาลและการบังคับใช้ จึงควรปรับปรุงให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

‘ภัสริน’ ผิดหวัง ทั้งที่สภาฯ รับหลักการมาแล้ว ย้ำ กม. ไม่ทำลายครอบครัว

ขณะที่ ภัสริน รามวงศ์ สส. พรรคประชาชน หนึ่งในผู้ผลักดันร่างกฎหมาย ออกมายืนยันผ่านทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัวว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการลิดรอน ‘สิทธิ’ ของพ่อแม่ในการอบรมสั่งสอนลูก เพียงแต่กำหนดว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่พ่อแม่ก็ยังสามารถสั่งสอนอบรมบุตรของตนเองได้ นอกจากนี้ กฎหมายนี้เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่ได้มีการกำหนดโทษ หรือจะจับพ่อแม่เข้าคุกเข้าตาราง ไม่ได้ทำลายสถาบันครอบครัวอย่างที่พรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายแต่อย่างใด

สำหรับประเด็กการนำวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับใช้ ภัสริน มองว่า หากรัฐบาลอยากจะมีที่ยืนในเวทีโลก คุณค่าสากลอย่างสิทธิมนุษย์ชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ควรเป็นคุณค่าหลักที่รัฐบาลยึดถือ ไม่ใช่อ้างวัฒนธรรมไทยราวกับสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย เมื่อก่อนวัฒนธรรมไทยก็กีดกันผู้หญิง ไม่มีนักการเมืองหญิงด้วยซ้ำ แต่วันนี้สังคมก็เปลี่ยนแปลงและมีการยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวทางสังคม คุณค่าจากตะวันตกก็มีส่วนเช่นกัน

ดิฉันรู้สึกผิดหวังในตัว “ผู้แทนราษฎร” ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผล เช่น ไม้เรียวสร้างคน, อย่าเอาสังคมตะวันตกมาเป็นแบบอย่าง, ไม่มีพ่อแม่คนไหนตีลูกจนตายหรอก ทั้งที่รับหลักการมาแล้วในวาระที่ 1 เราจะปักหมุดสังคมที่ปลอดภัยลดความรุนแรงได้อย่างไร ในเมื่อผู้แทนในสภายังกล่าวยกยอการใช้ความรุนแรง

ภัสริน รามวงศ์

‘หมอโอ๋’ แจงยิบ ตีเด็กไม่ช่วยให้เขาได้เรียนรู้

หมอโอ๋-ผศ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างกฎหมาย ได้ชี้แจงต่อสภาฯ ว่า เข้าใจได้ว่ายังมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะสังคมไทยมีความเชื่อเรื่อง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” มานาน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ขอเน้นย้ำว่าองค์ความรู้สมัยใหม่และการวิจัยเกี่ยวกับสมองของมนุษย์แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความรุนแรง มักมีปัญหาในด้านการเรียนรู้ เนื่องจากสมองถูกกระตุ้นให้เน้นการเอาตัวรอดมากกว่าการพัฒนา ส่งผลให้เด็กอาจใช้ความรุนแรงตอบโต้ในอนาคต

หลายกรณีที่บ้านกาญจนาภิเษกพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมักจะกลายเป็นอาชญากร เด็กที่เผชิญความรุนแรงมักเรียนรู้ที่จะหลบหนีปัญหา ไม่กล้าเผชิญหน้า และมีความวิตกกังวล สิ่งสำคัญคือ เมื่อเด็กถูกใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง พวกเขามักขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล งานวิจัยเกี่ยวกับสมองยังชี้ว่า การอบรมเชิงบวกเป็นทางออกที่ดีกว่า การลงโทษเมื่อเด็กทำผิดนั้นอาจหยุดพฤติกรรมชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้หรือแก้ไขปัญหา เราจึงต้องหาสาเหตุว่าทำไมเด็กถึงทำผิด และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อช่วยให้เขาแก้ไขปัญหาได้

“ในยุคนี้แล้ว เราน่าจะเลิกถกเถียงเรื่อง ‘ถูกตี ก็ดีได้’ เพราะการที่เราเติบโตมาได้ดี อาจไม่ได้มาจากการที่ถูกตี แต่อาจจะมาจากการที่เรารับรู้ว่าพ่อแม่รักเรา หมอย้ำเสมอว่าถ้าไม่ตี ลูกอาจจะดีกว่านี้่ได้ …เข้าใจว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากตีลูก แต่พ่อแม่แค่ไม่รู้ว่าจะมีวิธีไหนที่จะใช้สอนลูกได้บ้าง ดังนั้น ถ้าเรามีกฎหมายช่วยส่งเสียงว่าความรุนแรงกับเด็กไม่มีประโยชน์ สังคมจะตั้งคำถามไปในทางบวกแทนว่า แล้ววิธีการแบบไหนดีที่จะช่วยพัฒนาเด็กไทยได้ไกลกว่าเดิม”

หมอโอ๋-ผศ.จิราภรณ์ อรุณากูร

ภายหลังการถกเถียงร่วมชั่วโมง ที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ประธานการประชุมฯ ต้องสั่งพัก เพื่อให้กรรมาธิการ กลับไปพิจารณาว่า จะถอนร่างเพื่อนำกลับไปทบทวน หรือจะยังคงยืนยันในร่างกฎหมายที่มีการปรับแก้มา ปรากฏว่า กรรมาธิการฯ เห็นพ้องว่า ขอถอนร่างกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง

ฝันถึงเด็กไทยยุคใหม่ ไม่อาจใช้เครื่องมือยุคเก่าบ่มเพาะเยาวชน

ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI ให้ความเห็นว่า หากร่างกฎหมายนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กถูกคว่ำลง ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะถ้ามันถูกคว่ำเมื่อสัก 30 ปีที่แล้วยังพอทำความเข้าใจได้ แต่ในปัจจุบัน โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงและตื่นตัวเรื่องสิทธิเด็กอย่างมาก โลกต้องการเด็กที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ไม่กลัวความผิดพลาด แต่หากผู้ใหญ่ยังลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตี มันอาจเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ สวนทางต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ตามที่รัฐบาลได้กล่าวไว้ในการแถลงนโยบาย

การใช้ความรุนแรงกับเด็กส่งผลเสียทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษาและลดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นอกจากนี้ยังส่งผลทางเศรษฐกิจ เนื่องจากลดความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคต โดย ยูนิเซฟ ประเมินว่าปัญหานี้อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 1.4% ถึง 2.5% ของ GDP

“การลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไม่กล้าแสดงออก อย่างครูตีเด็ก เด็กก็ไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นครอบครัวจะเป็นตะแกรงขั้นสุดท้ายที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ถ้าพ่อแม่ตีลูก เด็กก็ไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัยใดอีก”

ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล

ทั้งนี้ ทัฬหวิชญ์ เข้าใจถึงความกังวลของผู้ที่คัดค้านการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว เช่น เราไม่ควรนำแนวคิดเลี้ยงดูเด็กแบบต่างประเทศมาใช้ในไทย เป็นต้น ขณะที่ พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู อาจตั้งคำถามว่า ‘ถ้าไม่ให้ตีลูก แล้วให้ทำอย่างไร?’ ทัฬหวิชญ์ สังเกตว่า ปัญหาของเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่รู้ถึงวิธีการจัดการหรืออบรมเยาวชนด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อแก้ไขพฤติกรรม หรือผู้ปกครองบางคนอาจไม่มีเวลาอบรม การใช้วิธีเฆี่ยนตีจึงใช้ได้เร็วและเห็นผล ดังนั้น ถ้าจะแก้กฎหมายนี้ให้ห้ามตีเด็ก คงต้องมาพร้อมกับข้อเสนอแนะถึงวิธีการใหม่ด้วย

ทั้งนี้ ตามคำมั่นสัญญาและการแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ได้ย้ำว่า รัฐบาลจะพัฒนาทุนมนุษย์ให้ตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่ พร้อมสร้างแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงออกมาเป็นนโยบายการศึกษา 9 ด้าน

ทางทัฬหวิชญ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการศึกษาที่รัฐพยายามทำอยู่ คือการแก้ไขที่เครื่องมือ เช่น การนำ AI มาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา, การสร้างแพลตฟอร์ม Learn to Earn, การสนับสนุนเทคโนโลยีการศึกษา เป็นต้น เครื่องมือที่ใช้ใหม่มาก แต่เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนยังเป็นแบบเดิมอยู่หรือไม่? การอบรมเด็กด้วยความรุนแรง จะพาเด็กไทยสู้กับโจทย์ของโลกใหม่ได้จริงหรือไม่?

“คำถามสำคัญ คือ ตอนนี้ประเทศเรากำลังต้องการเยาวชนแบบใด โจทย์ของประเทศไทยเป็นอย่างไร ถ้าเรายังเรียนหลักสูตรเดิม ถึงเครื่องมือจะใหม่แค่ไหน เราก็ไม่อาจสร้างเด็กให้ทันโลกตามที่ต้องการได้ ดังนั้นเราควรคุยเรื่องเป้าหมายให้ชัด วางหลักสูตรให้สอดคล้อง ก่อนที่จะพูดถึงเครื่องมือ “

ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active