เปิด 7 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยและนายกฯ ใหม่ จากครอบครัวผู้ถูกอุ้มหาย

‘อังคณา’ ชี้ ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหาตัว “ทนายสมชาย” ถามนายกฯ แพทองธาร จะคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร ด้าน ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

“เจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่รู้ว่า ในแต่ละปี แม่ ๆหลายคนตายจากไปโดยไม่ทราบความจริงว่าลูก ๆ ของพวกเธอหายไปไหน ในฐานะครอบครัว เราขอบคุณมิตรภาพและกำลังใจจากผู้คนร่วมสังคม เราเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ของผู้หญิง จะสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้ และเราอยากบอกกับรัฐว่าแม้จะล้มเหลว สิ้นหวัง หวาดกลัว และเจ็บปวด แต่ผู้หญิงในฐานะครอบครัวก็ไม่เคยสูญสิ้นความหวัง เรายังคงความเชื่อมั่นว่ากฎหมายจะคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน และสักวันความจริงจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัวซึ่งเป็นที่รักของพวกเขา”

เนื้อหาที่ปรากฏในท้ายจดหมายเปิดผนึก ที่ครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันผู้สูญหายสากล (30 ส.ค. 2567) โดยติดแสตมป์หน้าซองเป็นรูปบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ช่วงหนึ่งในงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล “Faces of the Victims: A Long Way to Justice” (ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม) เพื่อทวงถามความคืบหน้าและยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาคนหายของรัฐไทย หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นเวลาปีกว่า

รัฐบาล

สำหรับสาระสำคัญของจดหมายฉบับดังกล่าว ระบุถึงความยินดีเมื่อประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทำให้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ สหประชาชาติมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ยังระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย เปิดเผยความจริงและคืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญหายทุกคน โดยเน้นย้ำความกังวลและห่วงใยในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย การยุติการงดเว้นโทษ และคืนความยุติธรรมครอบครัว ดังนี้

  1. เราเน้นย้ำสิทธิที่จะทราบความจริง เนื่องจากการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 
  2. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้ ต้องมีความจริงใจในการตามหาตัวผู้สูญหาย และคืนพวกเขาสู่ครอบครัว ในการ  การค้นหาตัวผู้สูญหายต้องเป็นไปตามหลักการชี้แนะในการค้นหาผู้สูญหาย ของคณะกรรมการสหประชาชาติ คือการหาตัวบุคคล ไม่ใช่การหาศพ หรือเพราะการค้นหาตัวบุคคล จะทำให้เราทราบเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง 
  3. เราขอเน้นย้ำสิ่งที่รัฐไม่อาจละเลยได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของครอบครัว ในกระบวนการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะเมื่อการบังคับสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล และมีอำนาจในหน้าที่การงาน การคุกคามต่อครอบครัวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ รัฐต้องประเมินความเสี่ยง และออกแบบการดูแลความปลอดภัยร่วมกับครอบครัว และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติการคุ้มครองอีกต่อไป
  4. รัฐบาลต้องให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยในกระบวนการหาตัวผู้สูญหาย เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรม การตัดสิทธิของครอบครัวในการมีส่วนร่วมทำให้การค้นหาตัวผู้สูญหายไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอาจมีการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น
  5. ข้อเรียกร้องต่อมาตรา 13: เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตรา 13 อย่างเข้มงวด ป้องกันการส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกทรมาน
  6. ที่สำคัญที่สุด คือ การขจัดทัศนคติเชิงลบต่อครอบครัว การสร้างภาพให้ผู้สูญหายเป็นคนไม่ดีทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กให้มีชีวิตอย่างหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย
  7. เราขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่หยุดส่งเสียงจนกว่าความจริง และความยุติธรรมจะปรากฏ และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว

อังคณา ถาม “อุ๊งอิ๊งรักพ่อแค่ไหน ลูก ๆ คนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน

หนึ่งในครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อย่าง อังคณา นีละไพจิตร ระบุว่า คดีสมชายผ่านมากว่า 20 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้า เพราะรัฐไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการเปิดเผยความจริง และนำคนผิดมาลงโทษ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญา แต่ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัวสมชาย กรรมการตาม พ.ร.บ. ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัวทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด ไม่นานนี้ ขณะจัดงานรำลึก 20 ปี สมชาย นีละไพจิตร ยังมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มาสอดแนม ตามถ่ายภาพครอบครัว ยังไม่นับรวมการด้อยค่า และคุกคามทางออนไลน์

“สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายในรัฐบาลทักษิณ ปีนี้ลูกสาวคุณทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณทักษิณเองก็ยังมีบทบาททางการเมือง ก็อยากทราบว่าลูกสาวคุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร อย่างน้อยบอกความจริง และนำคนผิดมาลงโทษก็ยังดี อุ๊งอิ๊งรักพ่อแค่ไหน ลูกๆคนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว”

อุ้มหาย

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International เปิดเผยข้อมูลว่าตามข้อมูลของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (WGEID) ตามรายงานล่าสุด ประเทศไทยมีกรณีการบังคับสูญหายที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หลายกรณี อย่างไรก็ตาม จำนวนที่แน่นอนของกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทยอาจแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและช่วงเวลาที่พิจารณา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา WGEID ได้บันทึกกรณีการบังคับสูญหายในประเทศไทยประมาณ 80 ถึง 90 กรณี จำนวนนี้สะท้อนถึงกรณีที่ได้รับการรายงานและยอมรับโดยสหประชาชาติเพื่อทำการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เนื่องจากบางกรณีอาจไม่ได้รับการรายงานหรือถูกจัดประเภทต่างออกไป

“ในวันที่เรารำลึกถึงเหยื่อของการบังคับสูญหายสากล ข้ออ้างเรื่องงบประมาณหรือการขาดแคลนบุคลากรไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ความเงียบและการเพิกเฉยไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป รัฐมีหน้าที่ไม่เพียงแต่ต้องผ่านกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่ยังต้องทำให้กฎหมายเหล่านี้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง เพื่อคืนศักดิ์ศรีและความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา”

พร้อมระบุว่า เราจะไม่หยุดเรียกร้องจนกว่าความจริงจะถูกเปิดเผย และผู้ถูกบังคับสูญหายจะกลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัว พร้อมกับการปรากฏของความยุติธรรมที่แท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active