ปธ.กมธ.ยกร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ ยัน ไม่หนุนคนรุกป่า

เชื่อหากอธิบดีกรมอุทยานฯ ดูเนื้อหากฎหมายอย่างละเอียด จะเข้าใจหลักการสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องร่วมผลักดัน เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้คนทุกกลุ่ม

วันนี้ (4 ส.ค. 2567) ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึงกรณี ที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เวลานี้ มีความพยายามที่จะออกกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่บุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ  2  ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ให้ทางกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ 

และ 2. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯในขณะนี้

โดยกรมอุทยานฯ เห็นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะสร้างผลเสียอย่างมหาศาล โดยจะทำให้ผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าและที่ดินของรัฐครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องทั้งหมด ในที่นี้ รวมไปถึงนายทุนที่บุกรุกที่ดิน ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาตินั้น 

ปิยะรัฐชย์ เห็นว่า ในความคิด ความรู้สึกลึก ๆ ของอธิบดีกรมอุทยานฯ คงไม่ได้ตั้งใจจะมาบอกว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นร่างที่ไปรุกป่าขนาดนั้น

เพราะถ้าหากได้มานั่งดูเนื้อหาและรายละเอียดที่กรรมาธิการฯ พิจารณากันอยู่ตอนนี้ ซึ่งยังไม่ครบถ้วน 100% เชื่อว่าหากทางอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้อ่าน และมีข้อเสนอแนะมาคุยกัน จะรู้ว่าร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการช่วยเหลืออุทยานฯ ด้วยซ้ำ และจะเข้าใจว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการไปทำลายป่าหรือรุกป่า 

และในร่างกฎหมาย ซึ่งมีหัวใจสำคัญของการกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญต่อข้อกังวลในหลายเรื่อง เพราะเรามีความตั้งใจอยู่แล้วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องไม่ไปลบล้างหรือไปกระทบ พ.ร.บ.ฉบับอื่น เป็นสิ่งที่ทางกรรมาธิการฯ มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน

พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ และกำหนดพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์  อยากชวนอธิบดีกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่ไปชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย ซึ่งมีการดูแลรักษา อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างกลมกลืน ดูแลป่าควบคู่กับการใช้ประโยชน์ เป็นการพึ่งพากันของคนกับป่า 

“ชาวบ้านที่นั่นได้จัดทำกองทุนดูแลป่า  โดยนำเงินจากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน บนฐานศักยภาพทุนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ โดยจะเก็บรายได้ส่วนหนึ่ง เข้ากองทุนชุมชน 5% นำเงินนั้นกลับมาดูแลป้องกันไฟป่า และดูแลป่าอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างที่บอกได้ว่า นี่แหละ คือพื้นที่ต้นแบบ และสามารถตอบโจทย์อธิบดีอุทยานฯได้ว่า ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา จะสามารถช่วยเหลือ เป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงให้กับทางอุทยานในการดูแลป่าด้วยซ้ำ“ 

ย้ำ หลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ปิยะรัฐชย์ ย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นร่างกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ แต่จะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีวัฒนธรรม และให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลและมีความเปราะบาง ได้เข้าถึงสิทธิและโอกาสเท่าเทียมคนในสังคม

ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 โดยมีหลักการ 3 ประการ

1) คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของรัฐ

2) ส่งเสริมศักยภาพ โดย “ส่งเสริมศักยภาพ” สร้างกลไกการมีส่วนร่วมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

3) สร้างความเสมอภาค ด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมี “ศักดิ์ศรี” ให้หลักประกันความเท่าเทียมที่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาพเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 ส่วน คือ

1) การวางหลักการในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รับรองให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

2) กลไกการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้มีกลไกทั้งในระดับนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกลไกเชิงปฏิบัติเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์

3) การจัดตั้งสภากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของกลุ่ม

ชาติพันธุ์  โดยประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดี และเสนอนโยบาย

4) จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศในการกำหนดนโยบายด้านชาติพันธุ์ของประเทศ

5) จัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ และเชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นหลักประกันให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มากไปกว่านั้น คือ เป็นประโยชน์กับประเทศที่เราจะได้โอบรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทุนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active