ศูนย์ทนายฯ ยื่นคำร้องขอประกันตัว 15 ผู้ต้องขังคดีการเมือง

ทนายสิทธิฯ เผย เตรียมยื่นขอประกันตัว อานนท์ นำภา 14 ก.พ. นี้ ชี้ แม้ที่ผ่านมาศาลมักไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่บางรายยืนยันสิทธิขอยื่นประกันตัวอีก นักวิชาการสิทธิฯ ชี้ รัฐบาลเลือกตั้ง เป็นความหวังเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน

วันนี้ (9 ก.พ. 2567) ที่ศาลอาญา รัชดา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงถึงการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 15 ราย ประกอบด้วยผู้ต้องขังจากคดีอาญามาตรา 112 จำนวน 7 คน และผู้ถูกคุมขังจากคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ จำนวน 8 คน

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ตัวแทนทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มสูงขึ้น แม้มีแนวโน้มว่าศาลมักจะไม่ให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ผู้ต้องขังจำนวน 15 ราย ยังมีความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองอีกครั้ง โดยวาระที่มีการเข้าชื่อกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนอยู่ในเวลานี้ จะเป็นทางออกในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง มีความสำคัญกับผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

สำหรับผู้ต้องขังรายอื่นที่ยังไม่ได้ยื่นขอประกันตัวในวันนี้ ตัวแทนทนายความเปิดเผยว่า มี “วุฒิ” และ “อานนท์ นำภา” ที่จะยื่นประกันตัวในวันที่ 14 ก.พ. 2567

เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว นักวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมาก และมีจำนวนหนึ่งกำลังถูกจองจำ โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เพียงเพราะการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ นี่จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมายืนยันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นโอกาสอันดีที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะได้แสดงบทบาทในการคืนและสร้างความเป็นธรรมให้นักโทษการเมืองที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน และเป็นโอกาสอันดีที่สังคมไทยควรจะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันได้ถึงความแตกต่างหลากหลาย และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชนของนักโทษทางการเมือง

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทย ปล่อยตัว – หยุดดำเนินคดีอานนท์ นำภา

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนนำ 7,301 รายชื่อ จากการเปิดปฏิบัติการด่วน (URGENT ACTION) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และยื่นข้อเรียกร้องถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังได้ขับเคลื่อนผลักดันให้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมลงชื่อและส่งจดหมายเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ปล่อยตัวอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและคำตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่เขาถูกดำเนินคดีความทั้งหมด รวมไปถึงประชาชน เด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีความเพียงเพราะได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเอง โดยรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า การนำรายชื่อประชาชน สมาชิก นักกิจกรรมจากทั่วโลกมายื่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ในครั้งนี้ คือปฏิบัติการด่วนที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ต้องการกระตุ้นใหทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนทุกคน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ รวมไปถึงการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่จำกัดสิทธิมนุษยชน

พร้อมย้ำว่า สิทธิในการประตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรได้รับเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

สำหรับข้อเรียกร้องที่แอมเนสตี้ฯ มีถึงรัฐบาลไทย คือ

  1. ปล่อยตัวอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดีใด ๆ ต่อเขาและบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งเด็ก ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน
  2. ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้อานนท์ นำภาและนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิของตนโดยสงบ
  3. แก้ไข เพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน

ด้าน สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ออกมารับหนังสือเปิดเผยว่า เรื่องนี้ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับไปเร่งรัดพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มองว่าสำหรับนายอานนท์แล้วก็ถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกับตน ก็ไม่ควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีทางการเมืองลักษณะแบบนี้ พร้อมย้ำว่า การยื่นนิรโทษกรรมในเวลานี้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องยกเว้นความผิดตามกฎหมายข้อใดก็ตาม แต่ทางรัฐบาลจะเร่งรับเรื่องนี้ไปดำเนินการให้ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active