ภาคประชาชนจับตาประชุม ครม.อังคารนี้ จี้พิจารณาร่าง กม.ชาติพันธุ์

หากรัฐเร่งเดินหน้าพิจารณา ทั้งฉบับรัฐบาลและร่างใกล้เคียงรวม 4 ฉบับ  เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันได้ทุกฝ่าย เดินหน้าสู่ความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

วันนี้ ( 4 ก.พ.66 ) สุริยันต์ ทองหนูเอียด  ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนและหนึ่งในผู้ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงการจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์ของรัฐบาล ว่าขณะนี้ภาคประชาชนกำลังติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และคาดหวังว่าอังคารที่ 6 ก.พ.นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นฉบับของรัฐบาล ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) ยกร่างเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ทั้งการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ครอบคลุม 

 ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะตัวแทนฝ่ายนโยบายได้ประกาศ kick off เดินหน้าผลักดันร่างกม.ชาติพันธุ์ทุกฉบับ กับตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเองก็มีความเข้าใจ เห็นความจำเป็นและความสำคัญที่ต้องพิจารณากฎหมายที่จะคุ้มครองปกป้องชาติพันธุ์เกือบ 10 ล้านคน และประชาชนทั้งประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการผลักดันกฎหมายนี้ 

Kick off กม.ชาติพันธุ์ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 18 ม.ค.67

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏร พรรคร่วมรัฐบาล หรือวิป 5 พรรค ได้ขอนำกลับไปพิจารณาภายใน 60 วัน ซึ่งใกล้ครบกำหนด และหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการ ก็จะทำให้กระบวนการตรงนี้ล่าช้าไปด้วย 

ส่วนร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ฟีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์เสนอ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล  ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง แต่จะเดินต่อได้ก็ต่อเมื่อร่างของรัฐบาล ผ่านการพิจารณาของครม. แล้ว ซึ่งอันนี้คิดว่าเป็นโอกาสประจวบเหมาะ ที่รัฐบาลจะได้สร้างความชัดเจนในการออกกฎหมายมาคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยตามหลักสากล ตามหลักที่รัฐบาลได้บรรจุไว้ทั้งในแผนพัฒนาประเทศ แผนที่ได้แถลงต่อรัฐสภา รวมไปถึงแผนในการผลักดันให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้ในการปฏิรูปประเทศ

“ หากรัฐเร่งรัดก็จะเป็นไปตามหลักความร่วมมือ หลักของการไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างการยอมรับ หรือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การผลักดัน กม.ที่มีอยู่หลายฉบับนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ในเชิงการปฏิรูประเทศอย่างแท้จริง” 

สุริยันต์ ทองหนูเอียด หนึ่งในผู้ร่วมร่าง กม.ชาติพันธุ์

สุริยันต์ ยังมองว่าหากรัฐบาลพิจารณาผ่านร่าง กม.ชาติพันธุ์ล่าช้า จะส่งผลถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐบาล ที่จะถูกสั่นคลอน เรื่องความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจจะมองไปถึงเรื่องบทบาทของพรรคเพื่อไทย ที่ดูกระทรวงวัฒนธรรมด้วย  และรัฐบาลเองพยายามพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะเรื่องของการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ ที่ดึงศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ การดันพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม หรือทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นพื้นที่ในเชิงเข้มแข็งได้ อันนี้คือตอบโจทย์ซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง 

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่การขายสินค้า แต่มันเป็นเรื่องอำนาจอ่อนๆ ที่นำไปสู่การปรับปรุงการทำงาน ซึ่งถ้าร่างกฎหมายชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายที่แสวงหาความร่วมมือกับรัฐแล้ว ยังไม่สามารถเดินหน้าได้  แสดงว่าซอฟพาวเวอร์ที่รัฐบาลพูด อาจจะคนละความหมายกับภาคประชาชน  อันนี้อยากให้รัฐบาลสร้างความชัดเจน เพราะจริงๆเรื่องนี้หากเดินหน้า รัฐเองก็มีแต่ได้กับได้  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active