ภาคประชาชน จับตา ‘สมรสเท่าเทียม’ ย้ำ หลังกม. ผ่าน ต้องมีบทเฉพาะกาล บังคับใช้ทันที

อุ๊งอิ๊ง ร่วมแสดงความยินดี ระบุ พูดคุย สส.เพื่อไทย ไม่จำเป็นอย่าขาดสภาฯ พร้อมสนับสนุนเต็มที่

วันนี้ (19 ธ.ค.66) 16.15 น. คณะทำงานเพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน จัดกิจกรรม สานฝันสมรสเท่าเทียม : รวมพลังสู่การเปลี่ยนแปลงในสภา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง และจับตาการทำหน้าที่ของ สส. เนื่องในโอกาสที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ และผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 ธ.ค. 66

บรรยากาศมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก นำโดย แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ พรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด และในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ สมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ เป็นวาระแรก ถือว่าเป็นฤกษ์ดีมาก และเป็นความสำเร็จขั้นที่สำคัญ โดยที่ประชุมพรรค ยืนยัน สส.เพื่อไทยยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่

เพื่อทำให้สภาฯ มีความแข็งแรง เราก็ได้ขอร้องว่าหากไม่จำเป็นอย่าขาดการประชุมสภาฯ ซึ่ง ส.ส ทุกคนได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คิดว่าเป็นไปในทิศทางที่บวกมาก ๆ และทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

สมรสเท่าเทียม กฎหมายสมานฉันท์ เพื่อไทยย้ำ ผ่านแน่

ในเวที “โค้งสุดท้ายสมรสเท่าเทียมก่อนโหวตในสภาฯ อัครนันท์ กัณณกิตติ ส.ส.และผู้รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย (LGBTQIAN+) ต้องประสบกับปัญหาการใช้ชีวิต ทั้งที่ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายในให้เข้าถึงสวัสดิการ พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่จะลุกขึ้นมาใช้ความกล้าหาญ ผลักดันกฏหมายนี้ให้เกิดขึ้นจริงในสมัยรัฐบาลนี้ เชื่อว่าในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ นักการเมืองเกือบทุกพรรคก็จะโหวตผ่านให้กับสมรสเท่าเทียม ส่วนข้าราชการที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ วันนี้ปี 66 โลกเปลี่ยนไปไม่สามารถหลีกหลีกความเจริญไปได้ โลกของความหลากหลายทางเพศ คือโลกยุคใหม่ของสิทธิและเสรีภาพ

ขณะที่ขั้นตอนหลังผ่านวาระแรก จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับรัฐบาล พรรคก้าวไกล และภาคประชาชน เพื่อศึกษาในรายละเอียด และเข้าไปโหวตในชั้น ส.ส. และ ส.ว.อีกครั้ง โดยเชื่อว่าจะไม่มีใครแตกแถว

ต้องยอมรับว่าในรอบนี้ ที่ท่านนายกฯ เป็นโตโผในการผลักดันด้วยตัวเอง และทุกๆ พรรคก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นภายในปี 67 ประชาชนจะมีโอกาสประกาศได้ใช้กฏหมายนี้ทันทีหลังประกาศใช้ และยังถือเป็นกฎหมายสมานฉันท์ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลอีกด้วย

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า หากสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ LGBTQIAN+ ไม่ว่าจะเป็นคนใน Generation ไหน จะสามารถมีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคน การทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับทุกคน และต้องขอบคุณทุกการต่อสู้ของพี่น้อง LGBTQIAN+ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ขอนักการเมืองอย่าใช้กลไกในสภาฯ ขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศไทย เนื่องจาก LGBTQIAN+ จ่ายภาษีเท่ากับทุกคน เลิกอ้างว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจะทำให้ผู้มาใช้เงินสิทธิข้าราชการมากขึ้น เพราัการเป็นข้าราชการรัฐบาลจะต้องเตรียมเงินให้กับครอบครัวทุกครอบครัวอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาคู่รักเพศเดียวกัน ไม่เคยได้ใช้สิทธินี้เลย ซึ่งถือว่าในอดีตมีการละเมิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพราะว่าไม่ได้รับสวัสดิการของคู่รักที่ควรจะได้รับ 

เราขอว่าเมื่อเป็นร่างฯ ของประชาชนแล้ว รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนจริงๆ อยากให้มีบทเฉพาะกาลและมีผลบังคับใช้ในทันทีที่ลงมติแล้ว ให้สามารถคุ้มครองสิทธิได้เลย โดยไร้เงื่อนไข เพราะเราถูกละเมิดสิทธิมานานเกินไปแล้ว

สอดคล้องกับ อรรณว์ ชุมาพร นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ เชื่อว่าประชาชนจะจับตาการทำงานของ ส.ส. ในสภาฯ พร้อมย้ำว่า ท้ายที่สุดในขั้นของการแปรญัติ ภาคประชาชนต้องการเพดานที่สูงที่สุด คือ ต้องมีบทเฉพาะการเพื่อให้สมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งต่างจากร่างฯ อื่นๆ ที่เสนอเข้ามาในรอบนี้ ที่มีผลในระยะเวลาที่แตกต่างกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active