เชื่อไม่กระทบชาวมุสลิม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้ ขั้นรับฟังความเห็นไม่มีใครขัดข้องในหลักการ เตรียมพิจารณาพร้อมร่างฯ ฉบับประชาชน พรรคก้าวไกล
วันนี้ (21 พ.ย.66) คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) (ฉบับที่…) พ.ศ. … (สมรสเท่าเทียม) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ฉบับรัฐบาลเศรษฐา
โดยมีสาระสำคัญแก้ไขเพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้น และสมรสกันได้ รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ซึ่งเปลี่ยนจากชาย-หญิง เป็น ‘บุคคล-บุคคล’ และผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น
ทั้งยังเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และเพิ่มเหตุฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส โดยร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหลักการสำคัญ เช่น บุคคลทั้งสองฝ่ายสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ การจัดการทรัพย์สินในบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศวิถีของบุคคลนั้น ๆ
สำหรับการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น เช่น การจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กำหนดให้จ่ายเงินแก่สามีหรือ ภริยา แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ร่างดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพื่อให้มีความหมายครอบคลุม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือที่ปรึกษารัฐบาลไปแก้กฎหมายให้สอดคล้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯต่อไป
เชื่อไม่กระทบชาวมุสลิม เหตุมีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ อยู่แล้ว
แหล่งข่าวภายในที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แสดงความกังวลถึงผู้ที่นับถืออิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี) โดยนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้เสนอร่างได้ชี้แจงว่า 3 จังหวัด มีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ หรือกฎหมายอิสลาม (Personal Law) ที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเป็นเฉพาะอยู่แล้ว ยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่กระทบกับชาวมุสลิม
โดยพื้นที่ชายแดนใต้ในกรณีที่โจทก์ และจำเลยที่เป็นมุสลิม ต้องใช้กฎหมายอิสลาม ไม่สามารถใช้กฎหมายแพ่งได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นชาวมุสลิมก็ต้องใช้กฎหมายของแผ่นดิน ซึ่งกฎหมายอิสลามจะใช้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุ ไม่มีหน่วยงานใดขัดข้องในหลักการ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แตกต่างจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีรายละเอียดกว้างขึ้น ส่วนร่างจะมีรายละเอียดอย่างไร ต้องรอที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา มั่นใจว่าจะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแน่นอน เพราะในหลักการผ่านหมดแล้ว โดยก่อนหน้ามีการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ law.go.th. และระบบ Google Form บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม-14 พฤศจิกายนปี 2566 เป็นระยะเวลา 15 วัน ซึ่งประชาชนเห็นด้วยกว่า 96%
The Active พูดคุยกับ นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในส่วนของภาครัฐ ต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ฉบับภาครัฐ ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ เกณฑ์อายุขั้นต่ำของการสมรส ข้อห่วงกังวลเรื่องงบประมาณแผ่นดินในการจัดสรรสิทธิและสวัสดิการข้าราชการ เงื่อนเวลาที่กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการทบทวนกฎหมายที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ การอุ้มบุญ และการอุดช่องว่างทางกฎหมายกรณีที่อยู่ระหว่างการทบทวนกฎหมายอื่นให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยพบว่า ไม่มีหน่วยงานใดที่ขัดข้องในหลักการ แต่อาจจะต้งใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติม เชื่อว่าเมื่อกฎหมายผ่านจะทำให้คู่รักเพศหลากหลายได้ใช้ชีวิตคู่ภายใต้กฎหมายที่คุ้มครองเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง
“ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า พร้อมมากถ้ากฎหมายผ่านก็จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันเซ็นยินยอมให้การรักษาโดยไม่ต้องโกหกว่าเป็นญาติกันอีกต่อไป จะทำให้ความรักของคนทุกเพศเปิดเผยในสังคมได้อย่างมีความสุข อาจจะมีในส่วนการเงิน การคลัง สวัสดิการ ที่ขอเวลาในการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้เส้นทางของกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับ ที่คาดว่าจะเข้าไปในสภาฯ พร้อมกัน อยากให้ทุกคนเอาใจช่วย สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เพื่อประเทศไทยจะได้เป็นเมืองที่โอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริง”
นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ
เส้นทางสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับ ก่อนเข้าสู่สภาฯ 12 ธ.ค.นี้
สำหรับความคืบหน้าร่างฯ สมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับขณะนี้
1) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ สถานะ ยื่นสู่สภา ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาตรา 77 แล้ว
2) ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดยภาคประชาชน สถานะ ล่าสุดได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 11,904 รายชื่อ โดยการลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายหมาย การรับฟังความคิดเห็นวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา 77 และบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
3) ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สถานะ ยื่นสู่สภา