เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมประชาชนทุกฝ่าย และคดี 112

อดีตแกนนำเหลือง-แดง ชี้ รัฐต้องหยุดมองประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเหตุคิดต่างว่าทำผิด รธน. ด้านเครือข่ายนิรโทษกรรมฯ ขอมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น และเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

วันนี้ (19 พ.ย. 2566) โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) แถลงข่าวเปิดตัว ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … พร้อมจัดงานเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง” 

อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า วันนี้ตนเองขอมานามส่วนตัว เพราะ พธม. ได้สลายตัวไปตั้งแต่การชุมนุมปี 51 โดยในช่วงหนึ่ง อมรได้พูดถึงการเคลื่อนไหวของ พธม. ที่มีจุดยืนในการตรวจสอบระบอบประชาธิปไตยที่มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นว่ากันว่าเป็นเผด็จการสภาฯ ก่อเกิดเป็นประเด็นความเห็นต่างในภาคประชาชน นักเคลื่อนไหวมีมุมมอมที่แตกต่างกันออกไป จนเป็นปัจจัยความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน 

แต่ถึงวันนี้เมื่อได้สรุปบทเรียน และเห็นถึงการเคลื่อนไหวว่าถึงจุดหนึ่ง พวกตนทำได้เพียงจุดกระแสการตื่นตัวการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในหลายๆ ส่วน กับอีกเรื่องหนึ่งคือบทเรียนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีแบบเปิดเผย ท้ายที่สุดแล้วมีการฉกฉวยผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น คือการรัฐประหารโดยคณะทหาร ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำให้นักเคลื่อนไหวบางส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และบางส่วนถอนตัวออกไป

ผลพวงของการเคลื่อนไหวที่ตามมา คือ รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ อ้างเอาเหตุผลการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาเป็นเหตุผลในการรัฐประหาร และได้เขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ขึ้นมา ที่นับเป็นการถอยหลังทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ สร้างค่านิยมว่าพรรรคการเมืองไม่ใช่ของประชาชน และนักการเมืองเป็นกลุ่มคนชั่วร้าย การที่ภาคประชาชนจะได้ตัวแทนเข้ามาจัดการอำนาจรัฐจะต้องผ่านกลไกพรรคการเมือง เป็นหนทางตีบตันที่ไม่สามารถทำให้ประชาชน หรือองค์กรภาคประชาชนเข้ามาสู่อำนาจได้อย่างแท้จริง เพราะกติกาเขียนมาเพื่อตอบสนองกลุ่มการเมืองที่มีเบื้องหลังคือกลุ่มทุน

อมร ย้ำว่า เห็นด้วยที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งหนทางเฉพาะหน้าคือการมีกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งเป็นความจำเป็น ซึ่งตนค่อนข้างสนับสนุนแนวคิดพรรคก้าวไกล ที่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้องว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนมาตรา 112 เห็นว่าเป็นหนึ่งในปัญหาร่วมในสังคม จึงสนับสนุนว่าก่อนมีเนื้อหาของร่างจะต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ก่อน ส่วนระยะกลางต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่ได้ตัวแทนจากภาคประชาชนในการเลือกตั้งมาเขียน หากไม่ทำสองสิ่งนี้ การเมืองไทยคงวนเวียนอยู่แต่กับระบบอำนาจที่รับใช้ทุนแต่ไม่เคยทำประโยชน์ให้ประชาชน

“ช่วงจังหวะเวลานี้เหมาะสม ในการที่เราจะหาข้อเท็จจริงของแต่ละกลุ่ม แต่ละสี แต่ละเครือข่าย จุดยืนที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงอยู่ตรงไหน หากค้นคว้าและยอมรับกันในมุมเหตถผล จะทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ ส่วนคดีความของบรรดาผู้ที่เคยเคลื่อนไหวในอดีต คงต้องรอการติดคุกกันต่อ ซึ่งในทางคดีของกลุ่ม พธม.โดนข้อหาหนักทั้งก่อการร้ายและกบฏ”

อมร อมรรัตนานนท์

ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การเกิดคดีทางการเมืองกับประชาชน เนื่องจากอำนาจรัฐมองประชาชนเป็นศัตรู หากไม่มองประชาชนเป็นศัตรูจะต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่แตกต่างของประชาชน ด้วยวิธีการต่างๆ ยกเว้นกระทำการผิดกฎหมายแพ่ง อาญาอย่างชัดเจน ซึ่งกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลห้ามรัฐห้ามกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ 

ดังนั้นตราบใดที่รัฐยังมองว่าประชาชนเป็นศัตรูก็จะหาเหตุต่างๆ มายัดเยียดใส่ร้าย โดยที่หากยังเป็นแบบนี้คงไม่ต้องพูดถึงการนิรโทษกรรม ดังนั้น ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน ซึ่งนาทีนี้ส่วนตัวมองว่าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการสนับสนุนจากพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สว. กลับตาลปัตรที่พรรคซึ่งประชาชนเลือกมากที่สุด 14.4 กว่าล้านเสียง แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ 

พร้อมฝากไปถึงพรรครัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่จะสร้างคะแนนด้วยการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หากสนับสนุน คะแนนทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มขึ้นมาอีกมาก รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่คล้ายกับฉบับปี 2540 ก็จะเป็นอีกหนทางที่พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเก็บใส่กระเป๋าเหมือนกัน

ด้าน สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมในยุค พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม ยึดหลักในการนำยุติธรรมสู่ประชาชน มีการใช้เงินกองทุนยุติธรรมจำนวนมากมาดูแลประชาชน แต่กระทรวงยุติธรรมเป็นปลายเหตุที่รับผลมาจากหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้น รัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมปรับปรุงเรื่องที่ยังขุ่นข้องหมองใจ 

“ยุคนี้เราต้อนรับประชาชน และกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ จึงเป็นยุคที่น่าจะสอดคล้องความต้องการของประชาชนในระดับหนึ่ง ส่วนความเห็นต่อร่าง พ.รบ.นั้น รมว.ยุติธรรม สั่งการให้รวบรวมเพื่อเสนอความเห็น วันนี้จึงยังตอบไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายอย่างไร”

สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ

เครือข่ายฯ ยังร่วมแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายผลักดันร่างนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง และก่อให้เกิดผลกระทบเป็นคดีทางการเมือง ทำให้มีประชาชนผู้ถูกดำเนินคดี บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก การสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, และคดีอาญาอื่นๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,763 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 167 คน คิดเป็นจำนวนคดี 1,381 คน

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 มีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,400 ราย ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี 

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคม นักวิชการ และนักกิจกรรมที่ติดตามและมีความเป็นห่วงต่อกรณีที่การแสดงออกทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนถูกดำเนินคดี และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2549 จึงเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมพ.ศ…. ต่อประชาชนเพื่อเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยยืนยันว่า

1. ประชาชนไม่ว่ากลุ่ม สังกัดหรือเสื้อสีใด สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหากคดีดังกล่าวเป็นคดีทางการเมือง

2. คดีทุกประเภทมีโอกาสได้รับการนิรโทษกรรม รวมถึงคดีมาตรา 112 ที่เป็นหนึ่งในคดีทางการเมือง

3. เราไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากเจ้าหน้าที่ปฎิบัติพอสมควรแก่เหตุย่อมได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 อยู่แล้ว มีเพียงแต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เคยได้รับความคุ้มครองใดๆ

4. คณะกรรมการในการพิจารณาคดีทางการเมืองต้องมีตัวแทนของประชาชนในการพิจารณา

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอเรียกร้องให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรครัฐบาล และพรรคก้าวไกล ที่มาจากประชาชนเดินหน้าผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ…. และขอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น และเข้าชื่อเสนอกฎหมายในโอกาสต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active