คืบหน้าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับใกล้พร้อมแล้ว เห็นในทิศทางเดียวกัน คู่รักทุกเพศได้รับสิทธิเท่าเทียม พร้อมเสนอกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ World Pride 2028
เมื่อวันที่ 17 พ.ย 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมให้สัมภาษณ์กับมิเชล เหมียว (Michelle Meow) จาก Commonwealth Club of California World Affairs และ Interpride ในประเด็นสิทธิของคนเพศหลากหลาย และการเสนอให้กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028) รวมถึงการพบปะบุคคลสำคัญด้าน LGBTQIA+ เช่น นาตาลี ทอมป์สัน (Natalie Thompson) 1 ในสมาชิกประธานผู้บริหาร ของInterpride และ ตุ๊กตา Topline นักร้องไทยแนวเพลงลูกทุ่งหมอลำ ที่ผลิตเพลงสนับสนุนกฏหมายสมรสเท่าเทียม เป็นต้น
นายกฯ กล่าวว่ามี 3 นโยบายที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสิทธิของชุมชน LGBTQIA+ ในประเทศไทย ได้แก่
1) พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
2) พ.ร.บ.รับรองเพศอัตลักษณ์
3) การยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมใกล้เข้าสู่ช่วงการลงคะแนนในรัฐสภา คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง ธ.ค.นี้ นายกฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจว่ารัฐสภาจะสามารถโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้ ด้วยเพราะเสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นจากประชาชนไทย ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่อง สิทธิของชุมชน LGBTQIA+ ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีมานี้
วิสัยทัศน์ของนายกฯ สำหรับงาน Bangkok World Pride ในปี 2028 คือการทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำและเป็นประตูสู่การเฉลิมฉลองทั้งด้านความหลากหลาย, ความเท่าเทียม, การรวมความหลากหลายของบุคคล และการยอมรับความเป็นตัวตนของบุคคล เป็นต้น โดยเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสนับสนุนสิทธิ LGBTQIA+ และความหลากหลายของกลุ่มนี้บนเวทีโลก
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะสร้างสังคมที่โอบรับความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพฯ กำลังเตรียมตัวสำหรับเทศกาลไพรด์พาเหรดในปี 2024 ซึ่งจะเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในการแสดงศักยภาพงานไพรด์ เพื่อแสดงถึงคุณสมบัติ ในการเสนอจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เข้าชิงการเป็นเจ้าภาพของ World Pride ในปี 2028 ซึ่งการตัดสิน จะมีขึ้นในช่วง ต.ค. มากไปกว่านั้น สิ่งที่น่าจับตามอง สำหรับเทศกาลไพรด์ ก็คือขบวนพาเหรด เทศกาลไพรด์ ในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อโอบรับคนเพศหลากหลายในประเทศไทย
เมื่อย้อนกลับมาที่เทศกาลไพรด์ในปี 2023 Bangkok Pride สร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ด้วยผู้คนเข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน และ การพูดถึงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและความหลากหลายนั้นบนโซเชียลมีมากกว่า 38,547 ข้อความ และเพียง10วันมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ ถือว่าได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นบนโซเชียลมีเดีย
เหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงถึงการเติบโตของชุมชนคนเพศหลากหลายในประเทศไทย ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการสนับสนุนของรัฐบาลสำหรับเทศกาลไพรด์ในปีหน้านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากรัฐบาลปัจจุบันสามารถผ่านกฎหมายสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นได้สำเร็จ รวมถึงพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่สังคมคาดหวังเป็นอย่างมาก การมีส่วนร่วมและความสนใจของสื่อไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมเท่านั้น แต่ยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลจากการยอมรับความหลากหลายและการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน
สำหรับความคืบหน้าร่างฯ สมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับขณะนี้
1) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ สถานะ ยื่นสู่สภา ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาตรา 77 แล้ว
2) ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดยภาคประชาชนสถานะ ยื่นสู่สภา อยู่ระหว่างการส่งรายชื่อ ไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อ
3) ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม)
เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สถานะอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อยื่นสู่สภาฯ