กสม. เสนอแก้ปัญหาการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์

พบการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์มีปัญหาหลายประเด็น ทั้งความยากจน ขาดนโยบายกำกับดูแลที่ชัดเจน ห่วงถูกละเมิดสิทธิ แนะ พม. เร่งแก้ไขกฎระเบียบ ยกระดับมาตรฐานกำกับดูแล

วันนี้ (16 พ.ย. 2566) วสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยว่า จากการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กสม.ได้มีมติให้หยิบยกกรณีพี่เลี้ยงเด็กของสถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดสระบุรี กระทำทารุณกรรมเด็ก เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

ทาง กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศ เอกสาร งานวิจัย และความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิเด็ก ตลอดจนการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) กำหนดให้การกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชนหรือหน่วยงานอื่นใด ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก

โดยแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กของสหประชาชาติ กำหนดให้รัฐมีบทบาทนำในการสร้างหลักประกันให้ครอบครัว และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งต้องจัดให้มีรูปแบบบริการเลี้ยงดูทดแทนที่หลากหลาย สถานสงเคราะห์ควรมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงครอบครัวมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลี้ยงดูชั่วคราวและมุ่งให้เด็กได้คืนสู่ครอบครัว

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น” เมื่อเดือนเมษายน 2566 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายการเลี้ยงดูทดแทนประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันมีเด็กประมาณ 120,000 คน ที่อยู่ในสถานรองรับเด็กประเภทต่าง ๆ การที่เด็กไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ ถูกพรากจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น และได้รับบริการเลี้ยงดูทดแทนที่ไม่เหมาะสมในสถานสงเคราะห์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น รัฐควรสนับสนุนให้มีทางเลือกที่หลากหลายของบริการเลี้ยงดูทดแทน เช่น ครอบครัวอุปถัมภ์ การรับบุตรบุญธรรม การจัดบริการแบบกลุ่มบ้าน เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่อบอุ่น ปลอดภัย

นอกจากนี้ กสม. ยังเห็นว่า การเลี้ยงดูทดแทนในสถานสงเคราะห์ แม้ว่าเด็กจะได้รับการดูแลทางกายภาพหรือโอกาสทางการศึกษา แต่จะไม่ได้รับการเอาใจใส่เป็นรายบุคคล ส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ ของเด็กในระยะยาว ขณะที่ค่านิยมการจัดกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับการท่องเที่ยวในสถานสงเคราะห์ เช่น การเยี่ยมชม การเลี้ยงอาหารกลางวัน ยังก่อให้เกิดภาวะความผูกพันไม่มั่นคงหรือภาวะพร่องรัก และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

โดยสรุป กสม. พบว่า ประเด็นการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีปัญหาสำคัญหลายประการ ดังนี้

(1) ความยากจนและการขาดโอกาสทางการศึกษาซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องเข้าสู่สถานสงเคราะห์ ทั้งที่ไม่ใช่เด็กกำพร้าแท้แต่ยังมีพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่

(2) การขาดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของสถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะการลดจำนวนสถานสงเคราะห์และจำนวนเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

(3) ความไม่มีประสิทธิภาพของกลไกกำกับดูแลสถานสงเคราะห์ตามกฎหมาย และสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์อย่างถูกต้อง ทำให้มีสถานสงเคราะห์ของรัฐบางส่วนและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนส่วนใหญ่ดำเนินกิจการโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็ก

(4) ปัญหาด้านกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ เช่น การกำหนดคำนิยามสถานรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ยังไม่ครอบคลุมสถานรองรับเด็กทุกประเภท การขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ที่กำหนดให้ต้องมีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิในสถานที่ที่จะขออนุญาตจัดตั้ง ทำให้สถานสงเคราะห์เด็กเอกชนส่วนหนึ่งไม่สามารถยื่นจดทะเบียนจัดตั้งได้ นอกจากนี้ การสนับสนุนค่าอาหารให้แก่เด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในอัตราเพียง 57 บาทต่อคนต่อวัน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และการให้ความช่วยเหลือเงินสงเคราะห์เด็กครอบครัวยากจนในจำนวนไม่มาก ยังส่งผลกระทบต่อการดูแลโภชนาการของเด็กให้มีคุณภาพ เพียงพอ และไม่ตอบสนองต่อปัญหาของแต่ละครอบครัว

และ (5) ปัญหาทัศนคติของคนในสังคม ที่ไม่เอื้อต่อการลดจำนวนสถานสงเคราะห์และจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์ เนื่องจากสังคมไทยบางส่วนยังมีทัศนคติด้านลบต่อการรับเด็กที่ไม่มีความผูกพันทางสายเลือด เด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กในสถานสงเคราะห์มาอุปการะ ทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์

ทั้งนี้ ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 กสม. เห็นควรให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ดำเนินการจดแจ้งสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย พร้อมทั้งสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลจำนวนสถานสงเคราะห์และจำนวนเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ จัดให้มีกลไกคัดกรองเด็กที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกระบวนการรับเข้า ส่งต่อ และส่งคืนเด็กสู่ครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งควรมีนักวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประเมินสถานการณ์ของเด็กและครอบครัว อีกทั้งให้ทบทวนความเหมาะสมของการเลี้ยงดูเด็กแต่ละคนอย่างรอบด้านทุก ๆ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย และให้เตรียมความพร้อมก่อนส่งคืนเด็กสู่ครอบครัวหรือชุมชน

ให้มีการกำกับดูแลมาตรฐานสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การประเมินคุณสมบัติ ความสามารถด้านวิชาชีพ และความเหมาะสมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ การตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย และมาตรฐานการดูแลเด็ก เป็นต้น โดยให้มีการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านสิทธิเด็กและการดูแลส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย

ให้มีการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565-2569) ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการนำเด็กเข้าสู่สถานรองรับทุกประเภท โดยเฉพาะสถานสงเคราะห์ และมุ่งสนับสนุนการเลี้ยงดูทดแทนที่มีลักษณะถาวรหรือใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวมากที่สุด

นอกจากนี้ ให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะ “กลไกตำบลคุ้มครองเด็ก” เพื่อเชื่อมโยงภารกิจด้านเด็กและครอบครัว มุ่งสนับสนุนการจัดบริการที่เหมาะสม เพียงพอ และหลากหลาย เพื่อให้ครอบครัวสามารถดูแลเด็กได้ และลดการนำเด็กเข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทน

(2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้ พม. แก้ไขกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการและการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การกำหนดเงื่อนไขการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถานสงเคราะห์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น การเพิ่มทางเลือกการจัดบริการเลี้ยงดูทดแทนของสถานสงเคราะห์ที่หลากหลายโดยเฉพาะรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กแบบครอบครัวทดแทนหรือเสมือนครอบครัว และการเลี้ยงดูเด็กแบบกลุ่มบ้าน ทบทวนกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กหรือการสนับสนุนรูปแบบอื่น ๆ แก่ครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูและมุ่งเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ พม. ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในประเด็นการกำหนดคำนิยามสถานรองรับเด็กให้ครอบคลุมทุกประเภท เช่น สถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บ้านพักเด็กและครอบครัวประจำจังหวัด มูลนิธิ สมาคม วัด ศาสนสถาน โรงเรียนประจำ โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หอพักการกุศล ฯลฯ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันในการกำกับดูแลมาตรฐานการเลี้ยงดูทดแทนเด็กของประเทศให้ทั่วถึง เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active