ชาวบ้าน ตั้งคำถามกรณีเอกชนเตรียมจัดเวที EIA เหมืองหินปูน ในค่ายทหาร

ชาวบ้านชุมชนเขากะลา จ.นครสวรรค์ กังวลเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกตขัดระเบียบการรับฟังความคิดเห็น หรือไม่ ย้ำ “เขากะลา” เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ชุมชนบริเวณรอบเขากะลา จังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายเรารักเขากะลาและชาวบ้านชุมชนเขากะลาที่ได้รับผลกระทบ ได้ทราบว่ามีหนังสือเชิญร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของบริษัทพระนอน จำกัด ซึ่งจัดโดยบริษัทตถาตา สิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) ที่ได้รับอนุญาติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ สโมสรนายทหารประทวน ร.4 พัน.1 กรมทหารราบที่ 4 ค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ 

โดยชาวบ้านต่างมีความกังวลถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพราะปัจจัยทางด้านสถานที่และข้อจำกัดในการเข้าร่วมประชุม เครือข่ายชุมชนและกลุ่มคนรักเขากะลาตั้งคำถามถึงความฉ้อฉลในการเลือกสถานที่จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) ที่จัดขึ้นในค่ายทหาร อีกทั้งการเข้าร่วมประชุมนั้นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะต้องติดต่อขอเข้าร่วมประชุมโดยที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันแต่อยู่นอกรัศมี 3 กิโลเมตร รอบที่ตั้งโครงการ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ 

ตัวแทนชาวบ้านยังสงสัยว่า สถานที่จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) ที่จัดขึ้นในค่ายทหารนั้น ขัดกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร พ.ศ.2561 ตามข้อ5 ในตอนหนึ่งระบุว่า ในการกำหนดสถานที่รับฟังความคิดเห็นให้คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น รวมถึงสถานที่ดังกล่าวต้องเป็นสถานที่เปิด หรือไม่อย่างไร โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งระยะทางของที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากเวทีรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) ที่จัดในค่ายทหาร มากกว่า 20 กิโลเมตร

เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต้องการยื่นหนังสือขอตรวจสอบการอนุญาตจัดเวที EIA ในค่ายทหารครั้งนี้ ถึง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 (EIA) ของ บริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม) ของบริษัท ศิลาพระนอน จำกัด เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนกลับมาทบทวนอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานและทุกคนในชุมชน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีความพยายามในการจัดเวทีหลายครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ ( 22 ก.ค.66 ) ที่วัดธารลำไย ตำบลเขากะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรวมกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านเวทีการประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 (EIA) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างดังกล่าว 

โดยชาวบ้านยังคงย้ำ สาเหตุที่ออกมาคัดค้าน เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าจะทำให้หลายชุมชนได้รับผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่หินดังกล่าว ได้แก่พื้นที่หมู่ 7 บ้านพุตานวล ,หมู่ 9 บ้านหัวครัก ,หมู่ 10 บ้านพุน้อยในตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์, หมู่ 5 บ้านธารลำไย, หมู่ 10 บ้านพุวิเศษ หมู่ 11 บ้านเขาพระไกร, หมู่ 12 บ้านเขาสนามชัย และ หมู่ 13 บ้านพุตาเมือง ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี หลายร้อยหลังคาเรือน  โดยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการระเบิดเขาทำเหมืองแร่ 

“เขากะลา เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล แต่ถ้าหากเกิดการสร้างเหมืองแร่หินและระเบิดเขามลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง การทำเกษตรกรรมรวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของบึงบอระเพ็ดจะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำความความเดือดร้อนมายังชาวบ้านในพื้นที่ “ 

ตัวแทนชาวบ้าน ชุมชนบริเวณรอบเขากะลา จังหวัดนครสวรรค์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active