The Last breath of SAMYAN การต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนศาลตัดสินคดี

The Last breath of SAMYAN หนังสารคดีที่สะท้อนภาพอำนาจ ความศรัทธา และขบวนการประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ผกก. ชี้ ความศรัทธาและศาลฯ เป็นเรื่องปัจเจก แต่การสู้กันระหว่างคนตัวใหญ่กับคนตัวเล็ก คือสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแผนดําเนินโครงการพัฒนาที่ดิน บริเวณหมอน 33 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน ซึ่งในการดําเนินโครงการดังกล่าวจะต้องรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เพื่อปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง เป็นที่มาของคำสั่งย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มีอายุกว่า 100 ปี ออกจากพื้นที่เดิม ไปยังพื้นที่ใหม่ คือ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ โดยให้เหตุผลในภายหลังว่าเพื่อความสมเกียรติ เป็นสิริมงคลคู่ชุมชนสืบต่อไป ส่วนพื้นที่เดิม จะมีการก่อสร้างอาคารสูงแทน แต่ครอบครัวที่ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ย้ายตามประกาศ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จึงฟ้องร้องพร้อมเรียกค่าเสียหายถึง 4,600 ล้านบาท นำมาสู่แฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม และเกิดการเคลื่อนไหวปกป้องพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โดยประชาชนในย่านและนิสิตนักศึกษา พร้อมตั้งคำถามถึงแนวทางการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสีย และอาศัยอยู่บริเวณนั้น

จากการต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่ง สู่การสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of SAMYAN หวังจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการต่อสู้ และต่อลมหายใจให้กับศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ซึ่งมีอายุเก่าแก่ เป็นที่ศรัทธาของชุมชนและนิสิตจำนวนไม่น้อย

สำหรับทีมผลิตภาพยนตร์สารคดีชุด The Last Breath of Sam Yan นำโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้กำกับ และอำนวยการสร้างโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ ได้จัดกิจกรรมฉายรอบสื่อและวงเสวนา ที่โรงหนังเฮาส์ สามย่าน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีสื่อ นักเขียน และนักกิจกรรมเข้าร่วมจำนวนมาก

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอำนวยการสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เล่าว่า เรื่องการต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิม คล้ายกับหลายเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น การต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิมคือภาพสะท้อนคนเล็กคนน้อยไม่มีที่อยู่ ในสถานการณ์ที่ที่ดินและคอนโดมิเนียมมีราคาสูง ที่อยู่อาศัยจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของที่อยู่อาศัย แต่กลายเป็นที่สะสมความมั่งคั่งของคนรวยบางกลุ่ม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้

“จะเห็นว่าปัญหาการไล่ที่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันหมดเลย ดังนั้น การต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิมในแง่หนึ่งมันเชื่อมโยงกับการต่อสู้ในที่อื่น ๆ และกำลังบอกว่าปัญหานี้หากไม่แก้ไขมันจะลุกลามไปเรื่อย ๆ ตอนนี้คนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่คนชนชั้นล่างหรือคนทั่วไปเพียงอย่างเดียว คนชนชั้นกลางหลายคนเริ่มมีปัญหา แม้กระทั่งนิสิตจุฬาฯ ที่หลายคนก็เป็นลูกหลานคนชนชั้นกลางก็เดือดร้อนกับที่ดินราคาแพง ไม่มีที่อยู่ หอพักราคาแพง ปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันจบสิ้น เพราะนิสิตไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเลย”

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม และเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ร่วมกับเนติวิทย์ มองว่า การมีส่วนร่วมของประชาคมควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการมีส่วนร่วมของพื้นที่ แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ผ่านมาอาจบอกได้ว่า จุฬาฯ ไม่เคยดูแลนิสิตและชุมชนรอบข้าง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในพื้นที่บริเวณนั้น  

“เคยคุยกับรุ่นพี่หลายคน เขาบอกว่าสมัยก่อนมันมีร้านอาหารเต็มไปหมด เดินออกมาเจอคุณลุงคุณป้า แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี ซึ่งคนเหล่านั้นคือคนที่มีความเชื่อมโยงกับนิสิตจุฬาฯ เป็นคนที่ขายอาหารในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด แล้ววันหนึ่งถ้าที่ดินราคาขึ้น การให้ศูนย์การค้าเช่าจะได้กำไรที่ดีกว่า แล้วจุฬาฯ อาจจะบอกว่า โอเค ถ้าคุณจ่ายค่าเช่าไม่ไหวก็ออกไป มันก็แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้มองว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมจุฬาฯ ฉะนั้น สำหรับผม ผมมองว่าการมีส่วนร่วมเราต้องคุยกัน ฝ่ายจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ นิสิต คนในชุมชน หรือคนที่มีส่วนร่วม นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งจุฬาฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐมาเป็นเวลานาน กว่าจะสร้างองค์กรมาได้ขนาดนี้ เงินภาษีที่มาจากส่วนของประชาชนก็มีเหมือนกัน ฉะนั้น จุฬาฯ มีพันธะบางอย่างกับสังคม มากกว่าแค่บริษัทที่ปล่อยเช่าเพื่อกำไร”

ด้าน เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้กำกับ กล่าวว่า ในฐานะคนทำหนัง แน่นอนว่าอยากให้ทุกคนได้ดู ไม่ใช่เพียงแค่แวดวงนักการเมือง นักกิจกรรม แต่รวมถึงคนทั่วไปด้วย และแม้หนังเรื่องนี้จะจบแค่ความยาว 75 นาที แต่ว่าบทสนทนายังหวังว่าจะดำเนินต่อไป และในมุมมองของบทบาทคนรุ่นใหม่กับการคัดค้านการไล่รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมครั้งนี้ สะท้อนว่าความศรัทธาศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นเรื่องของปัจเจก แต่สิ่งที่ทำให้การต่อสู้ครั้งนี้เกิดขึ้น คือการต่อสู้กับอำนาจใหญ่ที่กำลังเอาเปรียบคนตัวเล็ก

“ระหว่างการผลิต ทางทีมโปรดิวเซอร์มีความพยายามติดต่อขอข้อมูลทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งที่สนับสนุนให้มีศาลเจ้าอยู่ และฝั่งของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตอนแรกตอบรับให้สัมภาษณ์ แต่เลื่อนไปมา จนสุดท้ายก็ไม่ได้สัมภาษณ์ แต่ถ้าเมื่อไรที่เขาพร้อมให้ข้อมูล ก็พร้อมทำภาค 2 เพราะอยากได้ยินเสียงของเขา”

ปัจจุบันครอบครัวผู้ดูแลยังคงยืนหยัดต่อสู้ และศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม ท่ามกลางการก่อสร้างตึกสูงที่อยู่รายรอบ และใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

และในวันที่ 21 มิ.ย. 2566 จะมีการสืบพยานครั้งสุดท้ายของคดีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ก่อนที่จะมีการประกาศคำตัดสิน ซึ่งตัวแทนคณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม ระบุว่า การสืบพยานครั้งนี้จะเป็นตัวชี้ชะตาว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมจะเป็นอย่างไร

The Last Breath of Sam Yan กำกับและเขียนบทโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ อำนวยการสร้างโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ เริ่มฉายตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. นี้ ที่โรงภาพยนตร์ HOUSE SAMYAN และ Doc Club & Pub.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active