หวังรัฐบาลใหม่ล้างปมจำกัดสิทธิ เร่งรัด พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์

เครือข่ายชาติพันธุ์ หวัง รัฐบาลใหม่ เร่งรัดผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยเกือบ 60 กลุ่ม ล้างปมปัญหาการจำกัดสิทธิ และการคุกคามจากนโยบายรัฐในอดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2566 ในงานเวทีรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพรายการและพัฒนาการให้บริการสื่อสาธารณะ ตอน พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง โดยสภาผู้ชมผู้ฟังรายการ ภูมิภาคเหนือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)  ซึ่งได้จัดเวทีสาธารณะ ณ ตลาดลานร่มสัก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

สถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ใต้เงาอำนาจของรัฐไทย

โดยช่วงแรก ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้กล่าวถึงสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ใต้เงาอำนาจของรัฐไทยว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน รัฐไทยมองกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นภัยต่อรัฐ และไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ “ ชาติพันธุ์ ไม่ใช่คนไทย เป็นภัยต่อความมั่นคง “  ซึ่งยังมองว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย มีการติดต่อสัมพันธ์กับเครือข่ายที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ความผูกพันกันทางวัฒนธรรมคนเหล่านี้ถูกตัดขาดโดยเส้นแดน คือ กะเหรี่ยงพม่า -กะเหรี่ยงไทย ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้มีชาติพันธุ์ เชื้อชาติที่เชื่อมโยงเป็นพี่น้องกัน แต่กลายเป็นว่า การปฏิสัมพันธ์กันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐมาโดยตลอด พยายามที่จะกีดกันคนเหล่านี้ และใช้นโยบายที่ให้สังคมมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในเรื่องของความเป็นคนอื่น เป็นคนพึ่งบารมีของไทย มาบ่อนทำลายความมั่นคง มาสอดแนม มาเป็นปฏิปักษ์กับความมั่นคงของรัฐตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอันนี้คือ สิ่งที่เกิดต่อเนื่องมา ตั้งแต่ยุคที่เรียกคนเหล่านี้ว่าชนกลุ่มน้อย พัฒนายกระดับขึ้นมาเป็นชาวเขา ที่ไม่ได้หมายถึงชาวเรา ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์พยายามที่จะอธิบายมาตลอด ว่าพวกเขาเกี่ยวพันอยู่กับสังคมไทยมายาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเขาพยายามที่จะยกระดับตนเองให้สังคมไทยและสังคมโลก ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ใช่คนกลุ่มน้อย แต่ทัศนะของฝ่ายความมั่นคง กลับมองกลุ่มชาติพันธุ์ มองไปจนถึงเรื่องจะใช้คำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนหรือไม่  ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์สำคัญ เพราะหากรัฐมองเช่นนี้ จะส่งผลต่อการผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ด้วย

ประเด็นที่ 2 ยังมอง “ชาติพันธุ์ เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม” จะเห็นว่าตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงเห็นข้อมูลหรือหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯ บอกว่าสาเหตุการลดลงของพื้นที่ป่า คือ ชาวเขา ทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำไร่เลื่อนลอย ยังคงฝังรากลึกแบบนี้มาตลอดจนกระทั่งพัฒนาการมาใช้กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานต่างๆ ก็มองว่า ต้องบังคับใช้กฎหมายกับคนเหล่านี้อย่างเข้มข้น ต้องกำหนดมาตรการ ว่าถิ่นที่อยู่ของชาวไทยภูเขาหรือชาติพันธุ์พวกนี้ ต้องกำหนดให้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1 ชั้น 2 ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งและทำให้คนเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่เขาควรจะได้รับเหมือนคนไทยทั่วไป นี่เป็นอุปสรรคที่มองว่าถ้าให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างเสรี อยู่บนพื้นที่นั้น จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรมหาศาล แต่ไม่เคยคิดบนหลักความจริงเลยว่า หลายจังหวัดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ตาก หรือแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรในจังหวัด 80-90 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วยังคงดำรงรักษาผืนป่าได้เกินกว่า 70% สะท้อนให้เห็นว่าวิถีชีวิตภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ มีความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรป่าอย่างดี

“ แต่กลับถูกมองว่าเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ต้องถูกจัดการ สะท้อนให้เห็นทุกมาตรการของรัฐ ล่าสุดคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 62 ก็มีมิติต้องควบคุม และต้องพยายามลดปริมาณการใช้ประโยชน์พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้  ก็คือนอกเหนือจากการควบคุมแล้ว พยายามหามาตรการควบคุมและเพิ่มพื้นที่ป่า นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา กับการทวงคืนผืนป่า อันนี้ชัดเจนมาก มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ป่าเป็นกลุ่มแรก เพราะว่าการใช้คำว่าทวงคืนผืนป่า บวกมายาคติที่คนทั่วไปรับรู้ข่าวสารของรัฐมาตลอดว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อป่า เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องการทวงคืนผืนป่าเรื่องการจัดการกับคนพวกนี้ เป็นสิ่งที่รัฐพึงกระทำ “

ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ประยงค์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เพราะรัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็น ปฏิปักษ์ต่อทรัพยากร ภัยต่อสิ่งแวดล้อม การที่ถูกกล่าวหาว่าตัดไม้ทำลายป่า ทำลายต้นน้ำลำธาร จนกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นสาเหตุของโลกร้อน และ ฝุ่นควันไฟป่า สิ่งเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่ ทำให้มาตรการ นโยบายต่างๆของรัฐออกมาละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และไม่ยอมรับวิถีวัฒนธรรมพวกเขา

ประเด็นที่ 3 คือ มายาคติที่มองว่า “กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นภัยเรื่องยาเสพติด” นับตั้งแต่เรื่องของการ ปลูกฝิ่นในอดีต พยายามให้มีนโยบายยกเลิก ปราบปราม ส่งเสริมพืชทดแทนต่างๆ จนกระทั่งมาถึง ยาบ้า ซึ่งก็มีสมมติฐานว่า ชนกลุ่มน้อย หรือชาติพันธุ์ต่างๆเหล่านี้ เป็นสาเหตุ หรือกระบวนการการค้ายาเสพติดทั้ง ๆที่จริงๆแล้ว กระบวนการค้ายาเสพติดเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากในสังคมนี้ แต่ว่า รัฐจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มชาติพันธุ์ หรือชาวไทยภูเขา จะเห็นว่าเวลาจับกุมมีการพาดหัวข่าว เช่น มูเซอเหิม ม้งค้ายา เป็นการพาดหัวข่าวทำให้เกิดความแตกแยก และเป็นการฝังแนวคิดให้คนมีอคติต่อชาติพันธุ์มาโดยตลอด

จากมุมมองของรัฐ 3 ด้าน ที่มีหลักคิดให้กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นภัยต่อสังคม 3 ด้าน จึงมีนโยบาย ควบคุม จำกัด กำหนดมาตรการในการเลือกปฏิบัติ และไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการยอมรับ

โอกาสที่สูญเสีย กับนโยบายจำกัดสิทธิที่ดินทำกินกลุ่มชาติพันธุ์ ผืนป่าตะวันตก

สมบัติ ชูมา ผู้อำนวยการสถาบันธรรมชาติพัฒนา

สมบัติ ชูมา ผู้อำนวยการสถาบันธรรมชาติพัฒนา กล่าวว่า หลังปี 2545 มีทั้งกฎกระทรวง พ.ร.บ.หลายฉบับที่ออกมากำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันกับผืนป่าตะวันตกอย่างสมดุล โดยอ้างระบบนิเวศเป็นตัวจัดการ พยายามนำงานวิชาการมาบอกว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต้องมองที่ขีดจำกัดทางนิเวศ ให้ลดการใช้ประโยชน์ในผืนป่าตะวันตกทั้งหมด ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เกิดความรู้สึกต่อผลกระทบ ต่อทั้ง 200 หมู่บ้านในพื้นที่ถูกจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์

“ จะเห็นว่าพี่น้องชาติพันธุ์ ถูกจำกัดพื้นที่มากขึ้น แม้แต่ในบันทึกMOU ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น ที่ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ ให้กลุ่มชาติพันธุ์ดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็ถูกยกเลิกไป  ส่งผลกระทบต่อสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีมาแต่เดิม ทั้งพื้นที่จิตวิญญาณ การประกอบพิธีกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการทำเกษตรตามวิถีชีวิตก็ถูกจำกัด “

นันทนา กะโพ้ ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ 3 ชุมชน คือห้วยหินดำ ป่าผาก บ้านกล้วย ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ทำกินประชาชนแต่ดั้งเดิม การให้เอกชนสัมปทานพื้นที่ทำสวนป่า ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ทำกินในที่ดินดั้งเดิมแต่บรรพบุรุษ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีที่เคยทำมาได้ ผลผลิตลดลง ความหลากหลายเมล็ดพันธุ์สูญหาย ห่วงลูกหลานในวันข้างหน้า ไม่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย อนาคต ความมั่นคงหายไป

รัตนา ภูเหม็น ตัวแทนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น จ.อุทัยธานี กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการประกาศเขตอนุรักษ์ และนโยบายทวงคืนผืนป่ายุค คสช. มีการดำเนินคดี ตรวจยึดพื้นที่ชาวบ้านที่ทำกินแต่บรรพบุรุษ 47 คน รวมกว่า 1,000 ไร่ ทำให้ไม่สามารถทำเกษตรตามวิถีแบบไร่หมุนเวียนได้เช่นเคย ต้องออกมารับจ้าง ซื้อข้าว ซื้อผักกิน ขาดที่ดินเหมือนสูญเสียชีวิตไป

“เราคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกของประชาชน จะเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่สะสมมาหลายยุค โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน คืนชีวิตให้ประชาชน เพราะที่ดินคือชีวิต คืนที่ทำกินตามวิถีวัฒนธรรมที่เราสืบทอดมา ซึ่งเป็นวิถีของความมั่นคงและหมุนเวียนใช้ประโยชน์ และช่วยรักษาผืนป่า“

หวังรัฐบาลใหม่ เร่งผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิ วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ประยงค์ ดอกลำไย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า นอกจากการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ แก้ปัญหาพื้นที่รัฐทับซ้อนที่ดินประชาชน และยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ทางออกต้องเร่งรัดการผลักดันกฎหมายออกมาคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยที่มีจำนวนมาก  และถูกคุกคามโดยนโยบายของรัฐ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาตลอด ซึ่งอันนี้จะเป็นการคุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตพวกเขา และเป็นการคืนความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย

“ จริงๆ แล้ว เรื่องนี้กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติปี  2562 และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงต่อรัฐสภา ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่ ครม.จะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ แต่ชัดเจนว่า 4 ปี ไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามที่สัญญา ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลมาตลอด ดังนั้นรัฐบาลใหม่ ความสำคัญอันดับแรก ในการแก้ปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์ ประมาณ 57 ชาติพันธุ์ ที่อยู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ และการให้ความสำคัญ กับความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ในการเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมประชากรอื่นในไทย “

ผศ.วรวิทย์ นพแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

เช่นเดียวกับ ผศ.วรวิทย์ นพแก้ว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่าหากจะมองไปข้างหน้า ก็ต้องถอยมามองว่าพื้นที่แถบผืนป่าตะวันตก เป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์อยู่มาก่อนจะมีรัฐไทยรัฐชาติสมัยใหม่ด้วยซ้ำ  ดังนั้นการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ตามมติ ครม.ปี2553 มีหลักการสำคัญ ทั้งการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอย่างยาวนาน ปกป้องทรัพยากรด้วยความรู้ภูมิปัญญาตามวิถีวัฒนธรรม และควบคู่ไปกับการการพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมจึงสำคัญ ดังนั้นภาคีเครือข่ายต่างๆต้องร่วมกันรื้อถอนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบนี้ออกไป และผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ที่เราจะต้องร่วมกันผลักดันและติดตามกันต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active