เครือข่ายสิทธิเด็ก เสนอนโยบายคุ้มครองเด็ก ผ่านมิติศาสนา

เครือข่ายสิทธิเด็กและตัวแทนศาสนา เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเด็กในพื้นที่ พร้อม กระจายความรับผิดชอบลงไปให้กับท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งสร้างกลไกระดับชุมชน แก้ปัญหาคนในพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง ศาสนาและการคุ้มครองเด็ก ที่ว่าด้วยเรื่อง เสียงสะท้อนและมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานในชุมชน ถึงข้อท้าทายและโอกาสต่อภาคศาสนาในการคุ้มครองเด็ก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและตัวแทนของแต่ละศาสนาในประเทศไทยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงข้อท้าทายและโอกาสในการผลักดันนโยบายการทำงานคุ้มครองเด็กในองค์กรศาสนา และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาศาสนามีความเกี่ยวข้องกับสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็กอย่างมาก เพราะหลักสำคัญของแต่ละศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรือศาสนาหลักอื่น ๆ  ของโลกต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเมตตา ความไม่เบียดเบียนกัน และสันติสุข ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก ซึ่งองค์กรศาสนามีอิทธิพลมากและควรมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการคุ้มครองเด็ก

อนุรักษ์ ไชยเผือก ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านดอกไม้ป่า ตัวแทนศาสนาคริสต์ ระบุว่า ทุกองค์กรที่อยู่ภายใต้ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก จะต้องมีนโยบายคุ้มครองเด็ก และหากเมื่อเด็กถูกกระทำ ถูกล่วงละเมิด จะต้องมีแผนรองรับ  โดยเสนอให้มีการให้ความรู้ หากเขาได้รับผลกระทบจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร คือสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันได้ลงไปทำงานกับชุมชนและอบรมให้กับชาวบ้านสร้างกลุ่มให้คำปรึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยงานรัฐบาลที่ร่วมมือกัน

“ปัญหาความรุนแรงปัญหาเรื่องเด็กไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวอีกต่อไปแต่เป็นปัญหาของชุมชนปัญหาของสังคมซึ่งต้องให้ความร่วมมือระหว่างกันต้องทำงานร่วมกันระหว่างบ้านวัดโรงเรียน  เราอยู่ในส่วนของศาสนาคือวัด เรามีการอบรมบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ให้มีความรู้จริง ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเจอปัญหาหรือสถานการณ์”

โอปอ ศรีสุวรรณ ผู้ประสานงานโครงการคุ้มครองเด็กและเสริมสร้างพลังผู้หญิงเครือข่ายพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB) ได้ยกประเด็นของพระพุทธศาสนาในการทำงานกับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในวัด แม้ที่ผ่านมามีการออกข่าวเด็กที่ถูกล่วงละเมิด แต่ ไม่มีการปรากฎของ ข้อมูลว่าเกิดขึ้นที่ไหน มีกี่เหตุการณ์ สิ่งนี้จึงได้เป็นการตั้งต้นให้ตนได้ลงไปทำงานประเด็นนี้ ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่มีลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของการทำงานด้านเด็กในพื้นที่ของศาสนาพุทธ และได้ระบุถึง ข้อท้าทายในบริบทของศาสนาพุทธในพื้นที่ ๆ ทำงาน การแยกคำสอนของศาสนาออกจากโครงสร้างของวัฒนธรรม จะทำอย่างไรให้คำสอนทางศาสนาและสิทธิต่าง ๆ สองอย่างนี้มาเจอกันบนพื้นฐานของความรักและความเมตตา  ซึ่งเป็นหัวใจของทุกศาสนาได้อย่างไร 

ข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องของเงินทุนกับการที่จะต้องขอทุนในปัจจุบัน  แม้จะเป็นการทำงานเพื่อสังคมแต่บ่อยครั้งอัตลักษณ์ของศาสนากลายเป็นความท้าทายที่ทำให้การหาทุนเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงในพระพุทธศาสนามีภาพจำของการดูแลเด็กผู้ชายในวัดมาอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันมีแม่ชีที่ลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและผู้หญิงในวัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อท้าทายสำหรับพุทธศาสนา

ประเทศไทยมี 43,005 วัด มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม 400 กว่าแห่ง เท่าที่ทราบไม่มีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กของแต่ละวัด

รอซีด๊ะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า ศาสนาอิสลามเป็นวิถีชีวิตไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้คนที่เป็นมุสลิมจะต้องนำหลักศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย หรือแม้กระทั่งเกิดใหม่ก็ต้องไปรับผลตอบแทน ในโลกหน้าคนที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่เวลาทำงาน ก็จะหวังผลบุญที่จะไปอยู่ในโลกแห่งความยังยืน โลกหน้า

และสอดคล้องกับ โอปอ ศรีสุวรรณ จะต้องมีฐานข้อมูลความรู้ อย่างในกรณีของศาสนาอิสลาม คือ เรื่องของความรุนแรงในครอบครัว  ทั้งประเด็นเรื่องการหย่าร้างที่ในบริบทของศาสนาอิสลามทำได้ยากมากหากผู้หญิงจะฟ้องหย่า ประเด็นเรื่องการมีภรรยาหลายคนเป็นข้อท้าทายที่สุ่มเสี่ยงอาจจะเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้หากไม่ทำตามหลักศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ศาสนาอิสลามมีกฎมากมายที่ร่างกันขึ้นมาแต่ยังมีช่องว่างในการนำมาใช้และยังไม่ได้มีส่วนที่จะทำให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการฟังเสียงและแก้ปัญหาเพราะส่วนมากก็ยังคงยึดเอาในประเด็นที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเหมาะสมเป็นหลัก

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอจากวงเสวนา เพื่อที่จะเสนอต่อเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเห็นพ้องไปในทางเดียวกันคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเด็ก

ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว เห็นด้วยกับการที่ต้องสนับสนุนนโยบายการคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะในศาสนาอิสลามซึ่งยังไม่เห็น และควรมีการสร้างความตระหนักในองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก คนที่เป็นพี่เลี้ยงหรือคนที่ทำงานองค์กรจะต้องให้ความสำคัญให้กับเด็ก แต่จากที่ผ่านมาหากองค์กรใดไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเด็กก็จะมีการละเมิดเด็ก การให้ความรู้ความเข้าใจกับ ประชาชนทั่วไป กับองค์กรทางศาสนาคือสิ่งที่ต้องทำทันที

“อย่างของศาสนาอิสลามจะต้องทำอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนา หรือสถานศึกษาอื่น ๆ จะต้องให้ความรู้กับครูผู้สอนให้เขามีความตระหนักมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม การสร้างการคุ้มครองเด็กต้องทำทุกระดับ  เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงระดับจังหวัด จึงเสนอว่าควรที่จะมีในระดับชุมชนระดับตำบล หรือเทศบาล  เพราะในอนาคต การกระจายงบประมาณ จะต้องไปลงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากสามารถสร้างกลไกระดับชุมชนได้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาของคนในพื้นที่

เชื่อว่าคนในพื้นที่เองก็จะรู้จากคนในชุมชนของเขาเป็นอย่างดี และหากเกิดกรณีการล่วงละเมิดเขาก็สามารถที่จะเรียกคู่กรณีมาเจรจา โดยใช้อำนาจของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านให้ความเคารพ แทนที่จะเรียกร้องจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์จากจังหวัดมาค่อนข้างจะทำงานยาก และใช้เวลาดำเนินการนาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active