ผู้แทนกรมอุทยานฯ ยันใช้หลักมีส่วนร่วมทำแผนบริหารจัดการทรัพยากร

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบหลายพื้นที่​กังวลและเริ่มคัดค้าน การเตรียมประกาศอุทยานฯ ใหม่ 22 แห่ง  ด้าน กสม. เสนอ ตั้งตัวแทนชาวบ้าน ในคณะกรรมการพิจารณาการประกาศอุทยานทุกระดับ ใช้หลักสิทธิชุมชนและหลักสากลสร้างส่วนร่วมจัดการทรัพยากร 

ภาพจาก Facebook : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.

จากเวทีเสวนา การเตรียมประกาศอุทยานแห่งใหม่ 22 แห่ง เอื้อประโยชน์หรือรอนสิทธิชาวบ้าน ที่จัดขึ้น ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา

ชยันต์  วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การต่อสู้กับนโยบายรัฐที่จะขยายพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ  เริ่มต้นเห็นความชัดเจนในแนวคิด 2 แนวทาง คือแนวทางของชาวบ้านมองว่า ป่า เป็นพื้นที่ของการทำมาหากิน  ที่อยู่อาศัย และเป็นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์  หรือพึ่งพาทรัพยากรในป่า การที่รัฐจะประกาศเป็นเขตอุทยาน  หรือป่าสงวนชาวบ้านไม่เคยรับรู้  เพราะชาวบ้านอยู่มาก่อนมาโดยตลอด  รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า ก็ไม่ได้ดำเนินชีวิตในลักษณะทำลายป่า เหมือนอย่างที่มีการกล่าวอ้าง  แตกต่างจากความคิดของรัฐที่มองว่า ป่าต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่น เช่น ชาวบ้านปลูกข้าวไร่  ก็อยากส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงเดี่ยวที่ใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลง  รวมไปถึงยังมีความคิดใช้ป่าจิตวิญญาน เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว  

อย่างไรก็ตาม ในยุค  ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ก็อยากให้หมู่เกาะต่าง ๆ เป็นอุทยานแห่งชาติ ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว สามารถจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก พร้อมกับอนุญาตให้เอกชนได้เข้าไปเช่าพื้นที่ทำรีสอร์ท หรือโรงแรม ขณะเดียวกันก็ไม่อนุญาตให้พี่น้องชาวเล ไปจอดเรือ หลบมรสุม  หรือไปทำมาหากินจับปลารอบ ๆ เกาะที่เป็นอุทยาน  ​ความคิดของรัฐที่มีต่อป่าหรืออุทยานแห่งชาติ จึงมีความคิดต่างจากความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ 

นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะที่บ้านกลาง จ.ลำปาง ซึ่งเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท  ที่ อ.สะเมิง เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน และ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน กับการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ชาวบ้านมักจะเจอกับนโยบายที่พยายามเร่งรัดประกาศอุทยานทับที่ชาวบ้าน จึงต้องมีการต่อรองกับเจ้าหน้าที่มาตลอด จึงมีคำถามจะมีการตกลงแบ่งกันอย่างไร วิธีการประกาศเขตอุทยานจะทำอย่างไร ไม่ให้กระทบกับพื้นที่ทำมาหากินชาวบ้าน 

“ดังนั้นนี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านมีความกระวนกระวาย ไม่มั่นใจว่าวิถีชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปหลังการประกาศอุทยาน ซึ่งจริง ๆแล้วชาวบ้าน ไม่ได้คัดค้านการประกาศอุทยาน  แต่ให้มีการกันพื้นที่ 3 ส่วน คือ พื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และป่าจิตวิญญาน ชาวบ้านต้องการความชัดเจนว่า พวกเขาจะมีวิถีชีวิตอยู่อย่างไรในพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยาน  วิถีชีวิตของเขาจะถูกริดรอนหรือไม่ จะรอนสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากระรรมชาติอย่างไร   จึงเป็นที่มาการหารือกันหลายรอบ รวมถึงวันนี้ เพื่อให้มีแนวทางชัดเจน การกันเขตให้ชาวบ้านได้อยู่ทำมาหากินตามวิถีชีวิตเป็นมา และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย“ 

ชยันต์  วรรธนะภูติ  หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชยันต์  วรรธนะภูติ  หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ภาพจาก Facebook : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.

ด้าน อิทธิพล  ไทยกมล  ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กล่าวยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมาในเรื่องการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติจะมองในภาพกว้างจริง ๆ  จึงมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การทำกิน หรือการเก็บเอาพื้นที่ลักษณะต่าง ๆ เข้ามา  แต่ในปัจจุบันนอกจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ภาครัฐได้ออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มี พรบ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้นมาในปี 2562  พูดถึงเรื่องของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ การได้พึ่งพิงทรัพยากร การได้อยู่อาศัย การได้ทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานเตรียมประกาศเอาไว้  ในอดีตอาจมีเรื่องการขีดเส้น การกำหนดขอบเขตที่มันกว้างใหญ่ ทับพื้นที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์บางส่วน  วันนี้อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ที่เตรียมการ และเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็จะมีการสำรวจ  การเข้าไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนและประชาชน

อย่างเช่น กรณีอุทยานแห่งชาติออบขาน แม่เงา และ ถ้ำผาไท เตรียมการจะมีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งชุมชน ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จะมีการกันพื้นที่ออกจากอุทยานแห่งชาติ  ทีนี้เข้าใจในเรื่องการการกังวลใจในการจะได้พึ่งพาทรัพยากรเมื่อประกาศแล้ว ตามมาตรา64,65 ว่าใช้ได้ไหมกับพื้นที่เตรียมประกาศหรือไม่ ดังนั้นในการทำประชาพิจารณ์ เราก็อยากให้อุทยานแห่งชาติเอง ที่เข้าไปทำประชาพิจารณ์ หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอว่าพื้นที่ตรงนั้นชาวบ้านจำเป็นที่ต้องใช้ประโยชน์ประมาณพื้นที่เท่าไหร่ ใช้ประโยชน์อะไรบ้าง เพื่อเสนอพูดคุยกัน หัวหน้าอุทยานจะได้ทำเป็นเอกสาร  และทำเป็นบันทึก เรียนเสนอเข้ามายังส่วนกลาง  

“คือส่วนไหนที่ชุมชนเห็นว่าประกาศได้ ไม่ได้คัดค้าน อันนี้ก็ประกาศไปก่อน ส่วนพื้นที่ยังมีข้อสงสัยข้อกังวลใจอยู่ว่าชาวบ้านจะได้ใช้ไหม  ก็ให้พูดคุยกันกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำแผนทำข้อเท็จจริงข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อวันที่เจ้าหน้าที่เสนอเข้าสู่กรรมการอุทยานแห่งชาติ จะได้นำเสนอได้ครบถ้วน  ว่าในส่วนที่ชาวบ้านมีความกังวลใจอยู่  ให้เป็นที่เข้าใจ พึงพอใจในวงกว้าง ไม่ได้เรียกร้องเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  หรือไม่ได้เรียกร้องด้วยสิทธิอะไรที่มันผิดแผกออกไป แต่เป็นเพราะว่าเป็นวิถีชีวิตที่ชุมชนที่นั่นจำเป็นต้องใช้อยู่ และก็มีลักษณะของการร่วมอนุรักษ์สภาพป่าตรงนั้นเอาไว้ โดยที่มีแผนการดำเนินการที่ไม่ให้กระทบ เป็นความเห็นประกอบเสนอคณะกรรมการอุทยานจะได้พิจารณาดำเนินการ“ 

อิทธิพล  ไทยกมล  ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อิทธิพล  ไทยกมล  ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช / ภาพจาก Facebook : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.

ด้านตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่, พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา จ.แม่ฮ่องสอน เห็นตรงกันว่า ยังไม่มั่นใจในการชี้แจงของตัวแทนกรมอุทยานฯ เพราะที่ผ่านมาขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ไม่มีการสำรวจ การกันแนวเขตตามที่ชาวบ้านร้องขอ และแม้จะยังไม่มีการประกาศเขตอุทยาน แต่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ถูกยึดที่ทำกิน ไม่สามารถทำเกษตร เช่น ไร่หมุนเวียนตามวิถีได้

“เราทำข้อมูลเรื่องเดินหน้าโฉนดชุมชนเรายื่นให้แล้ว สุดท้ายตอนนี้พื้นที่ทับซ้อนอยู่ดี บอกสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม สุดท้ายที่ดินชาวบ้านก็ถูกยึดอีก ทั้งๆที่บอกว่ากันออกแล้ว พี่น้องมีแปลงเดียว พอเจรจาขอคืน เขาบอกว่าอยู่ในคดีคืนไม่ได้แล้ว นี่จึงกลายเป็นความขัดแย้ง  อย่างนี้แหละ ทำให้ชาวบ้านต้องคัดค้าน เราทำทุกอย่างให้ความร่วมมือทุกอย่าง สุดท้ายที่ดินถูกยึด “

สะท้าน ชีววิชัยพงศ์  ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา 
สะท้าน ชีววิชัยพงศ์  ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา / ภาพจาก Facebook : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.

ด้าน เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า หากมองภาพของการจัดการทรัพยากรในระดับสากล องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น ( IUCN )  ได้นำเสนอหลักการใหญ่ๆไว้ 2 หลักการ คือการบริหารจัดการร่วมกัน หรือ Co management ซึ่งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ จะได้รับความสำคัญมาก เพราะเขาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์พื้นที่มาก่อน ทำให้เกิดความหลากลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้น 

อีกเรื่อง  คือ  การใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ  Benefit sharing ซึ่งเป็นหลักสำคัญว่า การอนุรักษ์ต้องมีการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน  มิใช่อนุรักษ์  โดยไม่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากพืช หรือชีวิตที่หมุนเวียนกลับมาได้โดยเร็ว เช่นไม้ไผ่ หรือการเก็บหาน้ำผึ้ง เห็ด ตามฤดูกาลเดียวและก็เกิดมาใหม่ ดังนั้นสองเรื่องนี้ จะต้องปรากฏในพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 

อดีตกรรมการสิทธิฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ที่อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ไปติดตามรับฟังกระบวนการต่าง ๆ พยายามอ่านเอกสารของอุทยานฯ กลับพบว่าให้ความสำคัญ กับชุมชนน้อยมาก 

“ ในรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 เราจึงระบุว่ารัฐบาลควรจะมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาปัญหาอุปสรรคการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง รวมถึงขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายป่าสงวนฯ รวมถึงกฎหมายลำดับรองที่ควรคำนึงถึง “สิทธิชุมชน” ในการจัดการ หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างยั่งยืนมากที่สุด ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขของบุคคลและชุมชน ให้เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิมากเกินขอบเขตของกฎหมาย “

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จึงมีข้อเสนอว่า ต้องสร้างการมีส่วนร่วมชัดเจนเป็นรูปธรรม มีตัวแทนชาวบ้านไปอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาการประกาศพื้นที่อุทยานในทุกระดับ เพราะที่ผ่านมาแทบจะไม่มีตัวแทนชาวบ้านอยู่ในคณะกรรมการระดับไหนเลย  พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาบทบาทมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำหน้าที่บริการวิชาการต่อชุมชน วิจัยเรื่องวิถีชีวิตที่คนอยู่กับป่าได้ รวมทั้งวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าพืชภูมิปัญญาของชาวบ้าน 

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม. ) ติดตามตั้งแต่ปี 2563-2564 จะเห็นว่านโยบายอนุรักษ์เพิ่มพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาคดีความชาวบ้านกว่า 40,000 คดี  ขณะที่ภาพรวมปี 2565 ยังไม่ครบปี กสม.ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอุทยานฯ ปัญหาที่ดิน  หรือเรื่องทรัพยากรถึง 7 กรณี เช่น ที่เกาะเกาะตะรุเตา เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับชาวเล ที่รัฐไม่ได้สำรวจพื้นที่จิตวิญญาน พื้นที่เพิงพักชั่วคราวในการหาปลา  หรือแม้แต่พื้นที่ชาวมันนิอยู่อาศัยและเก็บผลอาสินต่างๆในป่า ก็ไม่ได้สำรวจการเป็นอยู่ของชาวมันนิ  และในรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี2560-2565 มีเรื่องเกี่ยวข้องกับอุทยานถึง 4 เรื่อง  สะท้อนให้เห็นว่าของเก่ากรมอุทยานฯ ยังแก้ไม่เสร็จ พอมาเริ่มของใหม่หรือเตรียมประกาศพื้นที่ใหม่ จึงเป็นฝันร้ายและภาพกลัวของประชาชน 

“ในรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 เราจึงระบุว่ารัฐบาลควรจะมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาปัญหาอุปสรรคการใช้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง รวมถึงขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายป่าสงวนฯ รวมถึงกฎหมายลำดับรองที่ควรคำนึงถึงสิทธิชุมชน ในการจัดการ หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างยั่งยืนมากที่สุด ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขของบุคคลและชุมชน ให้เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิมากเกินขอบเขตของกฎหมาย“

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / ภาพจาก Facebook สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active