LGBTIQN+ และ กทม. ร่วมจัด “นฤมิตวิวาห์” 100 คู่ รับวาเลนไทน์ ปี 66

สร้างปรากฏการณ์งานสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในไทย ส่งเสียงให้ ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่านเป็นกฎหมาย ผลักดันเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเพศหลากหลาย

วันนี้ (15 ก.ย.65) กลุ่มภาคประชาชนที่ใช้ชื่อว่า “นฤมิตไพรด์” ภาคีเครือข่ายกว่า 60 องค์กร และกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการจัดกิจกรรม “นฤมิตวิวาห์” งานสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) มากที่สุดครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 100 คู่ ในวันที่ 14 ก.พ. 66 เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความรักที่ไม่จำกัดด้วยกรอบแห่งเพศที่สังคมคาดหวังให้มีแค่เพศชายหญิง และส่งเสียงให้มีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

พรหมศร วีระธรรมจารี หนึ่งในทีมผู้จัดกิจกรรมกล่าวว่า “นฤมิตไพรด์”  ถือเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของกลุ่ม LGBTIQN+ ในประเทศไทย ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมานากว่า 30 ปี และยังสามารถจับมือกับพันธมิต กว่า 60 องค์กร และกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความรักด้วยความรักที่หลากหลาย ให้เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศไทย และดินแดนสวรรค์ของ LGBTIQN+ ทั่วโลก ​​

“นฤมิตวิวาห์” ยังคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคม และระดับนโยบาย ใน 6 ประเด็นสำคัญ  

  • เยาวชนเพศหลากหลายในสถานศึกษา – การถูกกลั่นแกล้งหรือคุกคามโดยผู้มีอำนาจในโรงเรียน บังคับให้แต่งกาย ทำทรงผมตามเพศกำเนิด เนื้อหาหลักสูตรว่า LGBTIQN+ มีเจตคติด้านลบทางเพศ โดยไม่สนใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการเรียกร้องของเยาวชน
  • หนัง ละคร ซีรีส์วาย สื่อมีอิทธิพลสร้างภาพจำและตีตรา LGBTIQN+ มาอย่างยาวนาน แม้ที่ผ่าน แม้ว่าในประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ควรสร้างเพื่อให้เกิดความเป็นปกติของสังคม การเห็นคนเพศเดียวกันรักกันได้เป็นเรื่องปกติแต่จะไม่สมบูรณ์หากสมรสเท่าเทียมไม่ผ่านสภาฯ
  • สมรสเท่าเทียมส่งผลต่อผู้ประกอบการอย่างไร สมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่พีธีกรรม หรือการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่แต่คือการรับรองทางกฎหมาย ในเรื่องเศรษฐกิจการไม่ให้คู่รักเพศเดียวกันกู้ร่วมกันได้ หรือไม่มีสมรสเท่าเทียม เป็นการขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโต ขัดขวางการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจากความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีสิทธิมนุษยชน และขอให้บรรจุงานนฤมิตวิวาห์ และงานไพรด์ให้เป็นเทศกาลในปฏิทินของประเทศไทยเพื่อให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย
  • การข้ามพ้นกรอบหญิงชายเพื่อผลิบานในแบบของตัวเอง  การที่โครงสร้างในสังคมยังสนับสนุน ให้สิทธิเพียงเพศชายและหญิง รวมถึงครอบครัว สถาบันศึกษา กฎหมาย ที่มองเห็นเพียงพลเมืองที่อยู่ในกรอบบรรทัดฐานที่อยากให้เป็น 
  • เคลื่อนด้วยความรักเพื่อความเป็นธรรมสมรสเท่าเทียมคือหัวใจการเรียกร้องของประชาชน  กลุ่ม LGBTIQN+ ต้องต่อสู้มาในโลกที่ต้องเผชิญความเจ็บปวด ความขัดแย้งของคนใกล้ตัว ในสังคม จนถึงระดับวัฒนธรรม การต่อสู้เพื่อสมรสเท่าเทียมจึงนำไปสู่การเรียนรู้กฎหมายร่วมกันกับเพศหลากหลายในโรงเรียน ลดความรุนแรง ครอบครัวใกล้ชิดมากขึ้นเพราะรู้จักคนในครอบครัวในแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ต้องหวาดกลัวการถูกทำร้ายหรือคุกคาม 
  • การรับรองเพศสภาพ ความเท่าเทียมในสังคมหากเกิดขึ้นได้จะนำมาซึ่งสันติสุข แต่การจะทำนั้นยาก แม้หลักการ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ ระบุชัดเจนมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะถูกรับรองทางกฎหมายโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนสรีระ หรือเปิดเผยเพศสภาพ ความพึงพอใจทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ คุณลักษณะทางเพศสรีระ มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารที่รับรองอัตลักษณ์ที่รวมถึงสูติบัตร ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ความเท่าเทียมในสังคม เป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวคิดว่าเพียงแค่คนเรารักกันทำไมต้องยุ่งยากและต้องมารณรงค์ขนาดนั้น แต่เพราะเราอยู่ในจุดเริ่มต้นมาก ๆ กทม. ในฐานะเจ้าของยินดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดซึ่งเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เวลามาก ๆ

“รู้สึกขอบคุณภาคประชาสังคม และเชื่อว่า หลาย ๆ อย่างต้องจัดเยอะ พรุ่งนี้ทำอะไรได้อีกก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราในฐานะทีมนโยบายขอยืนยันว่างานที่เป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เราจะไม่หยุดและจะเดินต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ ขอให้คำมั่นสัญญาไว้ที่นี่”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

สำหรับกิจกรรม “นฤมิตวิวาห์” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Love Liberate and Festival” ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบด้วย 3 โซนกิจกรรมได้แก่

เวทีหลัก บริเวณสนามกีฬาที่จะถูกเนรมิตเป็นงานเลี้ยงโดยเชฟจากชุมชนเพศหลากหลายที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและเวทีคอนเสิร์ตที่จะขับกล่อมเรื่องราวความรักอันหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองให้กับผู้ร่วมสมรส

ลานพิธีกรรมวิวาห์ บริเวณด้านหน้าของสนามกีฬาที่จะจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้ร่วมสมรส เช่น พิธีสวมแหวน พิธีสาบาน ร่วมกับการมีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่เพื่อยืนยันให้กับความรักที่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมของผู้ร่วมสมรส

ลานกิจกรรม “Love and Art”  บริเวณพื้นที่รอบสนามกีฬาที่จะถูกรังสรรค์ให้กลายเป็นนิทรรศการศิลปะ แกลเลอรีรูปภาพ และดนตรีกลางสวน

ก่อนหน้านี้ วันที่ 5 มิ.ย. 65 ทีมงานนฤมิตไพรด์ได้สร้างปรากฎการณ์ “บางกอกนฤมิตไพรด์” บริเวณถนนสีลม จากการจัดกิจกรรมในครั้งนั้น ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 13,000 คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดกิจกรรมไพรด์พาเหรดในกรุงเทพมหานคร​ สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรม นฤมิตวิวาห์ สามารถดูรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ https://naruemitpride.com/

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active