ไทยยังไม่มีกม.การุณยฆาต แนะผู้ป่วยระยะสุดท้ายทำพินัยกรรมชีวิต

มีสิทธิปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิตตาม ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ “สาธิต” เผยไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ เดินหน้างานดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ช่วยครอบครัวไม่ล้มละลายจากการรักษา

วันนี้ (14 ก.ย. 2565) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในงานมหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด“วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ว่า สช. และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อท้าทายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพการดูแลแบบประคับประคอง และการรับรู้ของประชาชนเรื่องการวางแผนเตรียมความพร้อมของชีวิตล่วงหน้า และการเลือกการรักษาพยาบาลที่ต้องการหรือไม่ต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ตามเจตนารมณ์ มาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

หัวใจสำคัญของมาตรา 12 คือการส่งเสริมคุ้มครองให้เกิดการเข้าถึงสิทธิที่จะรับหรือไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการแสดงความประสงค์ที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติไม่ต้องมีการใช้เครื่องมือใดใดกับร่างกาย เพื่อยืดการตายออกไปโดยไม่จำเป็น และเป็นการสูญเปล่า สิ่งนี้เรียกว่าพินัยกรรมชีวิตที่สามารถทำทิ้งไว้ในช่วงที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

“ผู้ที่ทำพินัยกรรมชีวิต ปฏิเสธการรักษาเพื่อการยื้อชีวิต อย่างเช่น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตัวผมเองก็ได้กรอกแบบฟอร์มพินัยกรรมชีวิตเช่นเดียวกัน ทิ้งไว้ที่สำนักงาน” 

นพ.ประทีป กล่าว

ทั้งนี้การทำพินัยกรรมชีวิต ไม่ได้หมายความว่าเป็นการขอให้ทำ “การุณยฆาต” หรือการที่คนไข้ขอให้แพทย์ทําให้เสียชีวิตไปโดยปราศจากความเจ็บปวด เนื่องจากกําลังได้รับความทุกข์ ทรมานอย่างมากจากโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการุณยฆาตรองรับ 

ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative care) และสิทธิที่จะไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน ตามบทบัญญัติ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 ซึ่งจะช่วยสร้างสุขภาวะในช่วงระยะท้ายของชีวิตให้กับประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งในส่วนของผู้ป่วย ครอบครัว และในภาพรวมของประเทศ 

แนวคิดการสร้างสุขที่ปลายทาง เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาในระบบสุขภาพของไทยที่มีแนวโน้มอุบัติการณ์โรคร้ายแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิตเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ 

ในปีนี้ เรามีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศและอีก 9 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งระบบบริการสุขภาพแบบประคับประคองจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต บำบัด เยียวยาบรรเทาความทุกข์ ทางกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยให้การดูแลครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ป่วยอีกด้วยส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นประเด็นสำคัญของระบบบริการสุขภาพ 

จากงานวิจัยประเทศต่างๆ ให้ข้อสรุปตรงกันว่า ค่าใช้จ่ายในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตสามารถทำให้ครอบครัวล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลได้ แต่หากใช้กระบวนการดูแลแบบประคับประคองมาดูแลผู้ป่วย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้สูงกว่าการดูแลรักษาแบบปกติ  

การรักษาแบบประคับประคองจะเริ่มตั้งแต่เริ่มผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจนถึงช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เน้นบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าไม่อาจกำจัดตัวโรคให้สิ้นไปได้ แต่ลดอาการที่เกิดจากโรคที่รุนแรงและเกิดความทุกข์ทรมานจึงเน้นที่เรื่องการคงความสัมพันธ์ ในการดูแลผู้ป่วยของครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถพูดคุย บอกความรัก ความห่วงใย บอกถึงการสะสางสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นกังวล 

นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กทม. กล่าวว่า การดูแลแบบประคับประคองจำเป็นต้องอาศัยการวางรากฐานการแพทย์ปฐมภูมิชุมชน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยระยะท้ายมักมีความปรารถนาที่จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขไปเสนอวิธีการดูแลผู้ป่วยในบ้าน อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้วจากการทำแซนด์บ็อกซ์ระบบสุขภาพ ราชพิพัฒน์โมเดล ซึ่งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุขจะออกเยี่ยมบ้านโดยได้รับงบประมาณการส่งเสริมและป้องกันโรคจาก สปสช.สนับสนุน และหากมีอาการหนักขึ้นจะมีการส่งต่อมายังโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลได้เปิดศูนย์เวชศาสตร์ครอบครัวและหอพักฟื้นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อาจเป็นการดูแลผสมผสานกันระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active