ขีดเส้น 6 เดือน ออกโฉนดให้ชาวบ้าน อพยพหนีโรงไฟฟ้า-เหมืองแม่เมาะ

กมธ.ที่ดินฯ สั่งทุกฝ่าย เร่งเดินหน้าสำรวจ เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ แลกออกเอกสารสิทธิ์ หลังชาวบ้านรอนาน 16 ปี ย้ำ ที่ดินติดเงื่อนไขป่าไม้ ทำสูญเสียโอกาส วอนภาครัฐอย่าเพิกเฉยต่อผู้เสียสละให้การพัฒนา

แม่เมาะ

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ประชุมร่วมกับส่วนราชการใน จ.ลำปาง ตัวแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงรองรับการอพยพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อร่วมกันหาทางออก

16 ปี กับ ผู้เสียสละ(เพื่อการพัฒนา)ที่ถูกเมิน

มะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านผู้อพยพจากพื้นที่รัศมีรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ระบุว่า การอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2544 และเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง รวม ๆ ไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง ซึ่งกลุ่มของตนเองถือเป็นการอพยพครั้งที่ 6 จำนวน 493 ครัวเรือน ใน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยคิง, บ้านห้วยเป็ด, บ้านหัวฝาย และ บ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง ตาม มติ ครม. วันที่ 10 ม.ค. 2549 ที่เห็นชอบให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดให้กับชาวบ้านดังกล่าวที่ถูกอพยพ แต่จนปัจจุบันชาวบ้านยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์แม้แต่คนเดียว หากนับจากวันที่มีมติ ครม. ถือว่าเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 16 ปีแล้ว ที่หน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากสูญเสียโอกาสในกรรมสิทธิ์ที่ดิน

แม่เมาะ

ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดไว้รองรับ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่จนถึงเวลานี้สัญญาระยะเวลา 30 ปี ที่ กฟผ. เช่าพื้นที่จากกรมป่าไม้ ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อชาวบ้านยังไร้ซึ่งเอกสารสิทธิ์ พวกเขาจึงกังวลต่อผลกระทบ และความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมทำให้ชาวบ้านสูญเสียโอกาสจากการพัฒนา และการได้รับงบประมาณจากท้องถิ่น ที่ติดข้อจำกัดการเป็นพื้นที่ป่า ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ได้ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ และเร่งออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้านโดยเร็วที่สุด

“ที่ผ่านมาเราถือเป็นผู้เสียสละ เพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาของประเทศ ซึ่งมติ ครม. รับทราบ และระบุชัดเจนให้หน่วยงานราชการ ออกโฉนดให้กับชาวบ้านที่ยอมทิ้งบ้าน ทิ้งที่ทำกิน อพยพมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับ คือการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานราชการ ทั้ง ๆ ที่สามารถเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อการทำเหมืองได้ แต่เพราะเหตุใดจึงไม่เร่งเพิกถอนพื้นที่ป่า เพื่อให้ประชาชนได้อยู่อาศัยบ้าง”

มะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

กฟผ. ย้ำ ไม่เคยทิ้งชาวบ้าน

ประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ดูแลชาวบ้านมาตลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพราะถือเป็นผู้เสียสละ ยอมละทิ้งที่ทำกินเดิม ซึ่งการอพยพในช่วงที่ผ่านมาครั้งที่ 1 – 4 เกิดขึ้นจากความต้องการของ กฟผ. เพื่อใช้พื้นที่ทำบ่อเหมือง โรงไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ จึงจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านไปยังพื้นที่ที่จัดสรรไว้ให้ โดยอพยพออกมาก่อนแล้วค่อยทยอยออกเอกสารสิทธิ์ตามหลัง แต่สำหรับการอพยพครั้งที่ 5 และ 6 นั้นเป็นความต้องการของชาวบ้าน เพราะเห็นว่าเดือดร้อน และได้รับผลกระทบ ซึ่งก็มีมติ ครม. ออกมารองรับ และระบุชัดเจนว่าให้หน่วยงานราชการดำเนินการเรื่องเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้าน ส่วนการดูแลชาวบ้าน และชุมชนนั้น ยืนยันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้า จัดสรรให้ปีละกว่า 300 ล้านบาท เพื่อนำใช้ในชุมชน ท้องถิ่น ทั้งการแก้ไขปัญหา การพัฒนาต่าง ๆ ตามความต้องการ

ขีดเส้น 6 เดือน คืนความชอบธรรมให้ชาวบ้าน

จำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ยืนยัน ตามมติ ครม. ชัดเจนว่าการออกโฉนด ตั้งต้นจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ ก่อน แล้วให้กรมที่ดินออกโฉนดให้กับชาวบ้าน และจากปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่รับรองการอพยพ โดยให้ตัวแทนทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออก

“ที่ผ่านมาติดปัญหาเยอะมาก คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นต้องเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา โดยตั้งใจไว้ว่าภายในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ ต้องทำให้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง คือต้องเร่งดำเนินการให้พี่น้องชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ พวกเขาเสียสละ อยู่มานานจึงควรได้รับความมั่นคงในชีวิต”

จำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

ขณะที่ อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ รับปากจะผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านได้รับเอกสารสิทธิ์อย่างเต็มที่ เชื่อว่าแม้ระยะเวลาการพิสูจน์สิทธิ์ การรังวัดพื้นที่ จนนำไปสู่การเสนอพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ จะมากขั้นตอน และผ่านหลายหน่วยงาน แต่ก็ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดำเนินการหากขั้นตอนไหน สามารถทำไปพร้อมกันได้ก็ให้ทำควบคู่กันไปเพื่อความรวดเร็ว เพราะมติ ครม. ก็กำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดทางกรรมาธิการการที่ดินฯ จะลงพื้นที่มาติดตามเรื่องนี้อีกครั้ง ภายใน 3 เดือนนับจากนี้

ไร้เอกสารสิทธิ์ = ตัดโอกาสพัฒนา(หมู่บ้าน)

สำหรับพื้นที่รองรับการอพยพของชาวบ้านครั้งที่ 6 จาก 4 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2549 มาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ คือ บ้านใหม่ฉลองราช หมู่ที่ 8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นั้นรองรับชาวบ้านเกือบ 500 ครัวเรือน ยังไม่มีใครได้รับเอกสารสิทธิ์ จากการลงพื้นที่ของ The Active พบว่า ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมีเพียง ‘บัตรประจำตัวผู้ได้รับการช่วยเหลือให้รับที่จัดสรร’ ซึ่งระบุพื้นที่ครอบครอง ครัวเรือนละ 1 ไร่ โดยหลักฐานนี้ ชาวบ้านยอมรับว่า ไม่มีผลทางกฎหมาย หากต้องการใช้ที่ดินค้ำประกัน จด จำนอง ไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันการ จะยื่นของบฯ ไปยังท้องถิ่นเพื่อพัฒนา ปรับปรุงสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะติดเงื่อนไขการเป็นพื้นที่ป่า

อย่างปัญหาสำคัญที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนาน คือ กรณีน้ำประปามีหินปูน ซึ่งเกิดขึ้นจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยชั้นหินปูน การขุดเจาะบ่อบาดาลในช่วงการจัดสรรพื้นที่ที่เตรียมการอพยพไม่ได้เจาะลึกกว่าชั้นหินปูน ทำให้มีหินปูนปนเปื้อนมากับน้ำจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถบริโภคน้ำได้ และยังส่งผลให้อุปกรณ์ เช่น ก็อกน้ำ มิเตอร์น้ำ เสียหาย และต้องเปลี่ยนบ่อย เพราะมีหินปูนเกาะจำนวนมาก แม้มีความพยายามแก้ปัญหา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจพื้นที่ เพื่อที่จะขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่ให้ลึกกว่าเดิมเพื่อให้เลยชั้นหินปูน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อจำกัดเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ

นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ ปัญหาจากการไร้ซึ่งเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน เป็นที่มาให้พวกเขาเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนฯ เพื่อนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active