ส.ว. มีมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ. อุ้มหายฯ ของ ส.ส.

ตัดข้อห้ามไม่ให้นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ และดึงตัวแทนผู้เสียหาย ออกจาก คกก. ให้เป็นอำนาจ ครม. แต่งตั้ง ห่วงกฎหมายคลอดไม่ทันรัฐบาลนี้

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติในวาระสองและสามให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ในบางมาตรา โดยที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 121 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง นั่นหมายถึงไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับร่างฯ ของ ส.ส. ต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขของ ส.ว. และหาก ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภา เพื่อแก้ไขร่างกฎหมายร่วมกันต่อไป

แม้ในการประชุมจะมี ส.ว. หลายท่านไม่เห็นด้วย ในบางมาตราที่ กมธ. ชุดนี้แก้ไข ทั้ง การเสนอตัดความหมาย”การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หรือ ตัดข้อบังคับที่ให้ต้องบันทึกวีดีโอและเสียงในขณะที่ทำการจับกุมและควบคุมตัว จนกระทั่งส่งไปถึงพนักงานสอบสวน แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายมาตราซึ่งที่ประชุม ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. ที่ไม่ตรงกับความตั้งใจในร่างฯ ของ ส.ส. เช่น

ตัดข้อห้ามที่ไม่ให้นิรโทษกรรมผู้กระทำการทรมานหรืออุ้มหาย

ในการประชุมเมื่อวานนี้ กมธ. ได้เสนอตัดข้อห้ามไม่ให้นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐออกไป ในมาตรา 12 วรรคสอง โดย พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. ได้ชี้แจงว่าเหตุผลของการตัดข้อห้ามดังกล่าว เนื่องจากในความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ บางสถานการณ์ อาจต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเฉพาะกรณี โดยเฉพาะ เรื่อง ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งไม่ต้องการบังคับเอาโทษกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการโดยสุจริต ซึ่งหากเป็นการกระทำโดยทุจริต ต้องรับโทษตามความผิดฐานกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว

แหล่งข่าวระบุว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ ในที่ประชุม กมธ. ก่อนหน้านี้ ได้รับความเห็นจากกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มาอธิบายว่า การห้ามนิรโทษกรรมเป็นการขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป “กฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า” และ “กฎหมายเฉพาะยกเลิกกฎหมายทั่วไป” ซึ่งเท่ากับว่าจะเป็นการ “ยกเว้นกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” จึงไม่สามารถระบุเช่นนี้ในกฎหมายได้

ในขณะที่ร่างของ ส.ส. นั้น มีการระบุไว้ในมาตรา 12 ว่าไม่ให้นำสถานการณ์พิเศษ เช่น สงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินใด ๆ มาเป็นข้ออ้างในการทำความผิดซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหาย และในวรรคสองยังระบุให้ “กฎหมายหรือข้อยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายใดไม่ให้นำมาบังคับใช้กับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งสะท้อนว่าความตั้งใจของร่างกฎหมายเดิม หมายถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหาย กฎหมายอื่นที่กำหนดนิรโทษกรรมหรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในภายหลังนั้นจะนำมาใช้กับกรณีเหล่านี้ไม่ได้

ตัดตัวแทนผู้เสียหายจากคณะกรรมการฯ ยกเลิกการสรรหา ให้อำนาจ ครม. 

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ’ ขึ้น ซึ่งมีกระบวนการได้มาผ่านการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา โดย กมธ. ส.ว. มีการเปลี่ยนแปลงให้กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง (เช่น กรรมการด้านสิทธิมนุษยชน หรือตัวแทนผู้เสียหาย) ให้มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีทั้งหมดจากร่างเดิมที่เสนอให้มีคณะกรรมการสรรหา 

โดยคณะกรรมการสรรหานี้ จะประกอบไปด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร นายกสภาทนายความ และผู้แทนพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่ามีขั้นตอน และวิธีการค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงการให้นักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่สรรหา อาจทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระและอาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้

นอกจากนี้ที่ประชุม ส.ว. ยังเห็นด้วยกับการตัดองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานฯ โดยตัดสัดส่วนของ “ผู้เสียหายหรือตัวแทนผู้เสียหาย” ออกไป 2 คน โดย ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ กมธ. ให้เหตุผลว่า เป็นการซ้ำซ้อน และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบางประเด็น และอาจเกิดความยุ่งยากในภายหลังได้แม้จะมี ส.ว. บางท่าน อย่าง คำนูน สิทธิสมาน และเสรี สุวรรณภานนท์ อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการตัดผู้เสียหายออกจากคณะกรรมการก็ตาม

โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้เสียหาย หรือตัวแทนผู้เสียหาย อาจเข้ามาได้ผ่านการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน ที่สามารถเลือกได้จากผู้เสียหายจากเหตุการณ์ในอดีต หรือปัจจุบัน จึงมองว่าองค์ประกอบไม่ได้หายไปไหน แต่สามารถเข้ามาได้ในมิติอื่น และยังมีการเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ เข้ามาด้วย

ในขณะที่ พล.อ.ต. นพ. เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นอภิปรายตอนหนึ่งว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่ากฎหมายที่ร่างมาในตอนนี้ คือ ‘มิติของการออกกฎหมาย’ เพราะ หากกฎหมายไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเดือนนี้ และแก้ไขอย่างที่ทำอยู่ แล้วส่งไปยังที่ประชุม ส.ส. ตนเชื่อว่า ส.ส. จะไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน และเมื่อเริ่มสมัยประชุมหน้าในเดือน พ.ย. กว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จะกินเวลานานออกไป จนเราไม่สามารถบอกได้ ว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถใช้ได้หรือไม่ เพราะยังมีมิติการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายดีๆ อย่างนี้ จึงอยากให้มีการประนีประนอม ตนไม่อยากให้กฎหมายประกาศใช้ไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้