เครือข่ายปกป้องหาดอ่าวปากบารา ยื่น กมธ.ที่ดิน ลงพื้นที่ตรวจสอบ

เร่งรัดแก้ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะหาดปากบารา จ.สตูล  กมธ. เตรียมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

วันนี้ (16 ก.ย.65) เครือข่ายปกป้องหาดปากบารา นำโดย สมบูรณ์ คำแหง เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร ผ่าน ธิวัชร์ ดําแก้ว ในฐานะนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว  เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการลงพื้นที่และผลักดัน เร่งรัด ตรวจสอบ  แก้ปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะหาดปากบารา จังหวัดสตูล 

โดยเนื้อหาใจความสำคัญ ระบุถึงที่มาของปัญหาว่า จากกรณีที่มีการอ้างสิทธิของเอกชน ด้วยการเข้าไปปักเสาหลักปูนเพื่อแสดงเขตที่ดินในบริเวณชายหาดอ่าวปากบารา ตำบลปากน้ำ จังหวัดสตูล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาหลังจากเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสตูลได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้มีการตรวจสอบการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ (นส.3 ก.) ว่ามีความถูกต้องชอบธรรมด้วยกระบวนการทางกฏหมายหรือไม่อย่างไรนั้น จนนำไปสู่ความไม่สบายใจของประชาชนทั่วไป ที่เข้าใจว่าที่ดินชายหาดดังกล่าวคือ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน แต่พอมีการปักเสาปันเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว ได้กลายที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ภาพจากเฟซบุค Somboon Khamhang

ทั้งนี้ หาดปากบาราเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เป็นหน้าตาต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัด เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของประชาชนในพื้นที่ และจังหวัดสตูล ปัจจุบันปรากฏว่ามีเอกชน เข้ามาทำการก่อสร้างอาคารบนที่ชายหาดปากบารา บริเวณซึ่งน้ำทะเลขึ้นถึงโดยสภาพ โดยอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ นส.3 ก. และมีการนำป้ายหวงห้ามประชาชนอื่น ๆ มาปักบริเวณ  แม้ว่า เอกชนจะอ้างว่ามีเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สภาพข้อเท็จจริง พื้นที่ชายหาดปากบาราบริเวณดังกล่าว มีสภาพน้ำทะเลขึ้นสูงสุดจนถึงขอบถนน และในช่วงเวลาน้ำลงเป็นพื้นที่ชายหาดที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตลอดต่อเนื่องมากกว่า 40 ปี ในลักษณะเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคนทั้งจังหวัดสตูล และใกล้เคียงจำนวนมาก ชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่หาหอยเสียบเป็นอาหาร ใช้ทำกิจกรรมเก็บขยะอนุรักษ์รักษาชายหาดโดยชุมชน เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปมาโดยตลอดฯ  และไม่เคยปรากฎเอกชนรายใดหรือบุคคลซึ่งอ้างสิทธิหนังสือรับรองประโยชน์ในกรณีนี้ เข้ามาทำประโยชน์ และไม่เคยมีการอ้างสิทธิครอบครอง หรือหวงกันที่ดินในลักษณะใดๆ มาก่อนแต่อย่างใด 

“เมื่อได้ยื่นขอให้จังหวัดสตูล และหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบ กลับไม่มีการลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง ส่งจดหมายชี้แจงตอบ โดยนำเอาเอกสารชี้แจงของหน่วยงานซึ่งเป็นหน่วยที่เกี่ยวพันโดยตรงและอาจเกี่ยวพันกับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยไม่รับฟังหรือนำเอาข้อเท็จจริงที่ประชาชนนำเสนอไปพิจารณา  ขณะนี้ เอกชนเริ่มเข้ามาปักหลักล้อมรอบพื้นที่ชายหาด โดยหน่วยงานต่าง ๆ เพิกเฉย เกิดผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนและทำร้ายจิตใจประชาชนจำนวนมาก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง “

หนังสือระบุ

ทั้งนี้ จึงขอให้ประธานและคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ได้ดำเนินการลงพื้นที่และผลักดัน เร่งรัด ตรวจสอบ และแก้ปัญหากรณีดังกล่ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนโดยรวม ที่จะได้มีชายหาดสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันดังเดิมโดยด่วน   

ธิวัชร์ ดําแก้ว กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า จะนำหนังสือดังกล่าวยื่นถึงประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ในเร็ววันนี้ และเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการตรวจสอบเบื้องต้น ที่อาจจะไม่ใช่แค่หน่วยงานภายในจังหวัดเท่านั้น อาจจะต้องเรียกระดับอธิบดีมาชี้แจงด้วย อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการฯ จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะทำหน้าที่บนความถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย 

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางการผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันจันทร์ที่19 กันยายนนี้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active