ภาพยนตร์ “RedLife” ตอกย้ำความจริงชีวิตคนจนเมือง

ฉายภาพ โสเภณี อาชญากร กับการดิ้นรนเอาตัวรอดในเมืองหลวง เพื่อหลุดพ้นจากความจนไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

RedLife หนังยาวเรื่องแรกของ BrandThink Cinema  กำกับโดย เอกลักญ กรรณศรณ์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน และกำลังฉายอยู่ในเวลานี้ หากใครที่ชอบดูหนังแนวดราม่าเสียดสีสะท้อนสังคม ไม่ควรพลาด แต่ส่วนตัวผู้เขียนซึ่งได้ชมไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ขอเรียกมันว่า “หนังรัก”

หลังจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ในมุมของคนที่ได้รับชมและในฐานะที่เป็นคนทำงานในวงการสื่อมวลชนที่พยายามสื่อสารประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่หนังกำลังบอกเล่าอยู่ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่หมักหมมอยู่กับสังคมไทยเรามายาวนาน เช่น โสเภณี อาชญากร เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาครอบครัว และสังคมสูงวัย ซึ่งตัวละครทุกตัวไม่ว่าจะตัวหลัก หรือตัวประกอบ ล้วนมีที่ไปที่มา มีปมในชีวิต ซึ่งทำให้เรื่องดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบอย่างลงตัว

เต๋อ (ธิติ มหาโยธารักษ์ ) ชายหนุ่มผู้โหยหาความรัก เขาทำทุกอย่างทั้งดีและเลว เพื่อผู้หญิงที่เขารัก แม้ว่าในสายตาของใคร ๆ จะมองเธอเป็นเพียงผู้หญิงขายตัวข้างถนน ไม่มีค่าหรือราคาใด ๆ ที่ควรทุ่มเทให้  หนังหนึ่งชั่วโมงครึ่งไม่ได้ทำให้เห็นว่าความรักของทั้งคู่ก่อตัวขึ้นอย่างไร เหมือนหนังจงใจชวนให้ครุ่นคิดถึงชีวิตในวัยเด็กของชายหนุ่ม อะไรที่ทำให้เขาโหยหาอ้อมกอด และความรักได้มากเพียงนี้  ในขณะที่มายด์ (กานต์พิชาพงษ์พานิชย์) แฟนสาวของเต๋อ หนังบอกเล่าชัดเจน ว่าเธอต้องการใครสักคนที่ไม่ทอดทิ้งเธอเหมือนพ่อ และเธอก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อคนรักของเธอไม่เว้นแม้แต่การเอาตัวเข้าแลก สิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดของสองตัวละครนี้ คือฉากในรถซึ่งเป็นฉากตลกร้าย น่าขันแต่เจ็บปวด

มีตัวละครหลักอีกตัว คือ   ส้ม (สุพิชชา สังขจินดา)  เด็กสาวที่รังเกียจชีวิตและสังคมที่อยู่ เพราะแม่ อ้อย (กรองทอง รัชตะวรรณ) ขายตัวส่งเธอเรียน ความรักที่พร่ำบอกว่าทำเพื่อลูกกลับกลายเป็นความอึดอัด และน่ารังเกียจเมื่อลูกต้องจำใจยอมรับให้ได้ ชีวิตของส้มและอ้อย เปิดประเด็นเอาไว้ให้น่าถกเถียง และละเอียดอ่อนมาก เช่น  โสเภณี ถูกปล้น ถูกโกง แต่พวกเธอก็แจ้งความไม่ได้  เพราะในบ้านเราอาชีพนี้ผิดกฎหมาย ในบทสนทนาของหนังสะท้อนไว้ทำให้เห็นว่าผู้เขียนบท ผู้กำกับ เข้าใจปัญหานี้ และใช้วิธีการเล่าผ่านศิลปะของหนังอย่างน่าสนใจ ไม่ใช่การยัดเยียดให้คนดู 

อีกเรื่องที่ชวนขบคิดต่อ คือ  อคติที่มีต่ออาชีพนี้ ความดูแคลนคนที่ใช้เนื้อตัวร่างกายแลกเงิน จะเห็นว่าส้ม เธอดูเหมือนจะเข้าใจและรับได้กับสิ่งที่แม่เธอทำ แต่ท้ายที่สุดการจะต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมากับเพื่อนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเอาจริง ๆ แล้วการที่อาชีพนี้ถูกกฎหมาย ก็อาจจะแก้ปัญหาการเอาเปรียบและคุ้มครองคนทำงานได้จริง แต่จะเปลี่ยนความรู้สึกหรือท่าทีของผู้คนในสังคมที่มีต่อคนที่ทำงานแบบนี้ได้หรือไม่ แต่สำหรับ “ส้ม”เข้าใจแต่รับไม่ได้ สุดท้ายการได้เข้าไปรู้จักกับ พีช (สุมิตตา ดวงแก้ว) รุ่นพี่ในโรงเรียน คือการเปิดโลกให้เห็นชีวิตอีกด้านที่เธอเชื่อว่าสวยงามและน่าอยู่กว่า ซึ่งตัวละครตัวนี้มีความน่าสนใจ ดูลึกลับ และไม่เปิดเผยปมในชีวิตอย่างตรงไปตรงมา ทิ้งไว้หลายปริศนาให้ชวนคิดต่อว่าชีวิตเธอผ่านมาอะไรมาบ้าง และจริง ๆ แล้ว ชีวิตของเธอสุขสบายแบบที่เห็นหรือไม่ 

ตัวละครสุดท้าย ที่อยากจะพูดถึง ชีวิตของชายแก่ที่เข้ามาใช้บริการอ้อย ดูผิวเผินนี่ไม่ใช่แค่การเล่าในมุมของคนแก่มากตัณหา แต่กลับเห็นความโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุในสังคมไทยที่มีอยู่อีกมาก ชีวิตที่มั่งมีแต่โดดเดี่ยวสุดท้ายต้องจ้างโสเภณีร้อนเงินมาดูแล ขณะที่ตัวประกอบในเรื่องดำเนินไปเพื่อตอกย้ำว่าชีวิตของทุกคนล้วนเชื่อมโยงกันหมด และพวกเขาต้องการหลุดพ้นจากวงจรชีวิตที่เส็งเคร็งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม 

ความจริงของชีวิตคนจนในเมือง ที่ถูกบอกเล่าผ่านหนังเรื่องนี้  ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และไม่ได้ทำให้เราเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างถ่องแท้เหมือนการนั่งอ่านตำรา และเชื่อว่านั้นก็คงไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผู้กำกับ แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึก และรับรู้ว่าความพยายามที่จะเป็นคนดี ตามกรอบศีลธรรม มันยาก เพราะมันมีโครงสร้างบางอย่างครอบมันไว้อีกที และยิ่งเมืองถูกพัฒนา เจริญด้วยวัตถุและสิ่งปลูกสร้าง ยิ่งสว่างไสวมากแค่ไหน ชีวิตของคนจนตามตรอกซอกซอยกลับยิ่งมืดมิดเท่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส