มติเสียงข้างมากตัดคำนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในมาตรา 3 ออก หวั่นกระทบความมั่นคงในอนาคต ก่อนมีมติถอนร่างกลับไปให้ กมธ. ศึกษาอีกครั้ง หลังไม่อาจหาข้อสรุปในมาตรา 4 เรื่องอำนาจดูแลตาม พ.ร.บ.
วันนี้ (25 ก.ย. 2567) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. วาระ 2 ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. กล่าวว่า กมธ. ได้นำผลการแสดงความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นด้วยวิธีการอื่น อาทิ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง แสดงความคิดเห็นมาใช้ประกอบการพิจารณาของ กมธ. อย่างรอบด้าน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
“ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. จะเป็นวาระสำคัญของประเทศไทย ที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและเป็นก้าวแรกที่มั่นคงต่อพี่น้องชาติพันธุ์ของพวกเราทั่วประเทศ อีกทั้งจะเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่โอบรับคนทุกกลุ่ม ทุกวัฒนธรรม ได้อย่างเสมอภาคกัน”
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช
โดยมีการแก้ไขใน มาตรา 3 มีคณะกรรมการสงวนความเห็น คือ อุดมลักษณ์ บุญสว่าง กรรมาธิการ ได้สงวนความเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” โดยเสนอให้ตัดคำว่า “หมายรวมถึง กลุ่มที่ระบุว่าตนเองเป็นชนเผ่าพื้นเมืองด้วย” ออกและให้คงบทนิยาม กลุ่มชาติพันธุ์ ให้หมายความว่า “กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ อัตตลักษณ์ และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน” ซึ่งเมื่อได้พิจารณาบทคำนิยามคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองตามที่กรรมาธิการได้แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ที่ประชุมจะเห็นว่าคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองนั้น เสมือนวงกลมเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้คำนิยามด้วยคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์เพียงคำเดียว ก็ครอบคลุมคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองไปด้วย ประกอบกับผู้แทน สภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง
“คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองนั้นขัดกับบริบทของประเทศไทย และท่าทีของประเทศไทยในทางระหว่างประเทศมาโดยตลอด การใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุเพียงคำเดียว ซึ่งเป็นคำที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 70 ดิฉันเห็นว่าครอบคลุมและเหมาะสมดีแล้ว”
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช
นิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ กรรมาธิการ เสนอให้ตัดคำว่า “ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนด” เพราะเห็นว่า ความหมายของกลุ่มชาติพันธ์ุ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน หรือหลายหลายกลุ่มซึ่งมีถิ่นฐานในประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ และการสะสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน
“ผมคิดว่าความหมายเท่านี้ก็สามารถครอบคลุมทุกกลุ่มแล้วครับ”
นิคม บุญวิเศษ
ด้าน ฤกษ์อารี นานา โฆษกคณะกรรมาธิการ สงวนความเห็นใน มาตรา 3 ที่เห็นว่าควรตัดคำนิยามของคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกจากร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากเห็นว่า “การที่เรายอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย จะส่งผลต่อกรณีที่ไทย ไปกล่าวต่อสหประชาชาติ ปี 2550 จะเป็นการขัดต่อความน่าเชื่อถือทางการทูตของไทย ที่เราเคยบอกว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ และตามองค์การสหประชาชาติ ไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากในบัญญัติของสหประชาชาติเขียนว่า ชนเผ่าพื้นเมืองคือกลุ่มที่มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ สังคมก่อนการรุกราน และก่อนอาณานิคมที่เข้ามาในดินแดนของตน”
ฤกษ์อารี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นหรือเคยเป็นอาณานิคมของประเทศใดมาก่อน การเสียดินแดนในสมัย รศ.112 นั้น เป็นการเสียไปจากหลักทางวิชาการที่เราไม่สามารถยืนยัน เขตแดน ที่ชัดเจนได้ ในด้านของแผนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า ได้จ้างนักสำรวจชาวอังกฤษ และแผนที่ประเทศไทยถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1888 แผนที่ฉบับนั้นยังมีจุดอ่อนอยู่เนื่องจากว่า มีการระบุว่าชายแดนไม่ชัดเจน
“สื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ หลายท่านอาจจะมองว่าหากไม่มีคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” จะเป็น พ.ร.บ. ที่ไม่มีความหมาย แต่ในส่วนตัวผมมองว่าถ้าหากยังมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยอยู่ ณ เวลานี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจจะไม่มีความหมายเลยสำหรับพี่น้องชาติพันธุ์อีกหลายคน จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลกลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ุอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย”
ฤกษ์อารี นานา
อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้สงวนคำแปรญัตติ ว่า คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” โดยระบุว่า จากที่อ่านทุกมาตราใน พ.ร.บ.นี้ ไม่มีมาตราไหนระบุถึงคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในมาตราอื่น ยกเว้นมาตรา 3 ซึ่งมีการให้ความหมาย หรือ นิยามคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองไว้ ไม่จึงต้องการทราบว่าจะมีความหมายชนเผ่าพื้นเมืองในมาตราไว้เพื่ออะไร เนื่องจากในมาตรอื่นไม่มี มองว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำว่าเผ่าพื้นเมืองในมาตรา 3 ขอแปรญัตติ ในการตัดคำว่า ชนเผ่าพื้นเมือง
“พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคเดียวที่ไม่เห็นด้วยที่ให้มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ใน พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ เพราะเรามองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาติพันธุ์ ถือว่าทุกคนเป็นคนไทย ที่สำคัญ กมธ.หลายท่านก็ได้อภิปรายว่าประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญา เรื่องชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้ไทยต้องเคารพในกติกานั้น และคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายไปในวาระ 1 ตอนรับหลักการแล้วว่า เพราะว่าอาจเกิดปัญหาความมั่นคง ที่ให้ให้ในอนาคตอาจแยกไปปกครองตัวเองได้ ทุกชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 50 กว่าชาติพันธุ์ ควรจะเป็นคนไทย ไม่มีใครอยากเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยมีเผ่าเดียว รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย แต่ประเทศไทยเป็นพหุวัฒนธรรม”
อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์
ด้าน ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน อภิปรายว่า เมื่อพูดถึงสิทธิที่คนส่วนใหญ่มี คนส่วนน้อยหรือชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง ภาษาที่แตกต่าง ศาสนา ที่แตกต่าง ควรมีเสรีภาพที่เท่าเทียมกับคนส่วนมากในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการพัฒนาความรู้พื้นเมือง การเข้าถึงบริการสาธารณสุขถ้วนหน้า สิทธิในดินแดนในที่ดินทำกิน และในทรัพยากรธรรมชาติ ความเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ รวมไปถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
เกรียงไกร ชีช่วง กรรมาธิการ กล่าวอภิปรายในฐานะกรรมาธิการว่า ขอบคุณคณะกรรมาธิการและพรรคการเมือง และทุกภาคส่วน ที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ เดินทางมาถึงวาระนี้ได้ สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมและยืนยัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจและสบายใจ สำหรับเสียงสะท้อนที่อาจมีความกังวลถึงคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ต้องยอมรับว่า กระบวนการพูดคุยปรึกษาปรึกษาหารือในชั้นกรรมาธิการในจำนวน 5 ร่าง อย่างน้อยมีสามร่างที่ระบุและพูดถึงคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง สิ่งที่ภาคประชาชนจะยืนยันคือ ไม่อยากให้เข้าใจไปได้ว่าคำนี้จะเป็นคำอ่อนไหว นำไปสู่ปัญหาความมั่นคง โดยมีข้อเท็จจริงที่อยากนำเสนอ คือ
- เรามีพี่น้องชนเผ่าชาติพันธ์ุหรือชนเผ่าพื้นเมืองมีชื่อหรือนิยามเรียกตัวเองที่หลากหลาย เป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเรายอมรับในสังคมพหุวัฒนธรรม
- ภาพลักษณ์ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ทรัพยากรต่างๆ มีการกล่าวกล่าวถึงชนเผ่า ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่อธิบายว่า ไปเที่ยวภาคไหนจะเจอระบบนิเวศแบบใด และเจอกลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ุไหน หรือแม้กระทั่งงานวิชาการตามสถานศึกษา หรือรัฐสภาเองก็เคยมี การใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในการศึกษาตรงนั้น ดังนั้นคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่น่าจะเป็นคำที่อ่อนไหว
- สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวสารที่มีการระบุถึงคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ที่ทุกคนคุ้นชิน เช่น ไทยพีบีเอสจะเล่าเรื่องของพี่น้องมันนิ ในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ คำแบบนี้ก็เป็นคำที่ใช้ ไม่น่าจะตีความว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวได้
- สิ่งที่กังวลตอนนี้คือเรากำลังแสดงหรือสื่อสารเจตนาถึงความสูญเสียที่ทำให้พี่น้องเหล่านี้ยิ่งมีความกังวลมากขึ้น ภาพเดิมที่สภายอมรับในวาระหนึ่งครั้งนั้น พี่น้องเราทั่วประเทศชื่นชมและยินดีและคิดว่าหลังจากนี้ในห้าร่างที่มีทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้ความงดงามนั้นคงอยู่ ซึ่งขอเพียงแค่มีคำนี้อยู่ในมาตราสามเท่านั้น กับคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เหลือก็ไม่มีแล้ว เพราะเราเข้าใจสิ่งที่ทางสภาสื่อสารออกมา
“ในฐานะสภาชนเผ่าพื้นเมือง เราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าถ้าเราจะออกกฎหมายมาด้วยความดราม่า หรือความเห็นอกเห็นใจ สงสาร แต่ไม่เห็นในมุมศักยภาพของพวกเรา ที่พยายามแสดงความเป็นพลเมือง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภัยพิบัติโรคอุบัติใหม่เราลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อยืนยันว่าคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่ได้มีนัยยะถึงความอ่อนไหวเลย”
เกรียงไกร ชีช่วง
สุนี ไชยรส กรรมาธิการ กล่าวว่า พี่น้องชาติพันธ์ุและชนเผ่าพื้นเมือง ชื่นชมและฝากความหวังเอาไว้หลังจากที่รัฐสภาผ่านกฎหมายทั้ง 5 ร่าง ที่มีทั้งร่างของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ซึ่งเป็นความงดงามที่ทุกคนฝากความหวัง จึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนกับหลายท่านที่พูดถึงว่า ทำไมต้องมีคำนิยามว่า ชนเผ่าพื้นเมือง ตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่หนึ่งในชาติพันธุ์ แต่มีความต่างตรงที่ว่าไม่ใช่คนไทยอย่างเดียวทุกคนยอมรับว่าตัวเองเป็นคนไทยอยากเป็นคนไทยแต่กรุณาอย่าด้อยค่า หากมีการใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว จะมีนัยยะของการเป็นปัญหาต่อความมั่นคง
“ดิฉันคิดว่าสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย มีบทเรียนยาวนานใช้คำว่าความมั่นคงของชาติ แล้วกลายเป็นปัญหาสถานการณ์ของพี่น้องทั่วประเทศมายาวนาน ในรูปแบบของการตีความความมั่นคงของชาติแบบที่ไม่ได้นึกถึงความมั่นคงของมนุษย์ บทเรียนของมากมายจนเกินกว่าจะใช้คำอ้างความมั่นคงอย่างเดียว ดิฉันคิดว่า สส. ที่อยู่ต่างจังหวัด และมีพี่น้องชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธ์ุต่าง ๆ ได้เห็นภาพเหล่านี้มาอย่างชัดเจน”
สุนี ไชยรส
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในกระบวนการปรับแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งมีการเสนอร่างเข้ามาด้วยกัน 5 ฉบับ จำเป็นต้องนำความเห็นในแต่ละร่าง มาบูรณาการและพิจารณาประกอบกันเพื่อเทียบปรับแก้ เป็นสาเหตุว่าทำให้มีการปรับแก้เยอะ เนื่องจากว่าร่างฉบับต่าง ๆ มาจากพื้นฐานวิธีคิด การออกแบบที่แตกต่างกัน แต่ในการพิจารณาของ กมธ. ใช้เวลาอย่างมาก มีการประชุม 36 ครั้งใช้เวลา 8 เดือน นำเอาความเห็นที่แตกต่างกันมาถักทอ ร้อยเป็น พ.ร.บ. โดยในการพิจารณามีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นและมองถึงความเหมาะสม จึงอยากขอชี้แจงประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม คือ การปรับให้ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธรเป็นผู้ดูแลกฎหมายฉบับนี้เป็นการพิจารณาที่มีการถกเถียงกันอยู่พอสมควร แต่ในการประชุมพิจารณากฎหมายฉบับนี้หรือการจัดประชุมสภากลุ่มชาติพันธ์ุเป็นภารกิจที่ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธรดำเนินการมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่มีมติ คณะรัฐมนตรีในการให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธ์ุ และยังเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการเกี่ยวกับชาติติพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงชาวเล หรือในกรณีอื่นใดก็ตาม มาอย่างต่อเนื่อง การใช้สภามาแทนคำว่าสมัชชา มีข้อสรุปว่าสภาจะเป็นกลไกการทำงานที่ต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับสภาองค์กรผู้บริโภค สภาสังคมสงเคราะห์ ที่ผู้คนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นด้านต่าง ๆ และไม่ได้มีสิทธิมากกว่ากรรมการชุดอื่น ๆ
โดยในที่ประชุมมีการลงความเห็นในมาตรา 3 โดยเสียงข้างมาก เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. ที่ให้มีการระบุคำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ และมีการลงความเห็นให้ตัดคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองออก” ด้วยมติเสียงข้างมาก
ต่อมาได้มีการหารือต่อในมาตรา 4 ซึ่งเป็นเรื่องกรอบอำนาจการดูแลหลัก ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยในที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึงรายละเอียด ซึ่งโดยท้ายที่สุดมีการเสนอให้ถอนญัตติกลับไปพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการเพิ่มเติมในรายละเอียด ขณะที่สมาชิกอีกส่วนหนึ่งเสนอว่าให้พิจารณาต่อไป สุดท้ายที่ประชุม มีมติด้วยคะแนน 255 เสียง ต่อ 137 เสียง ทำถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … ออกไป