ส่งท้ายเดือนชนเผ่าพื้นเมือง เสียงส่วนใหญ่ กมธ. กม.ชาติพันธุ์ เห็นชอบร่างกม.ทั้งฉบับ

คาดเสนอวาระ 2 สภาผู้แทนฯ​ พิจารณา ทันสมัยประชุมนี้ เชื่อฉันทามติทุกพรรคการเมือง สนับสนุนร่างกม. แม้ กมธ.บางส่วนจะสงวนคำแปรญัตติบางประเด็น แต่ไม่ส่งผลกระทบสาระสำคัญและเป้าหมายการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านประธานกมธ. ยัน เรื่องการคุ้มครองชาติพันธุ์ เป็นเรื่องสำคัญที่จะอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 67 การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 26 มีวาระสำคัญในการพิจารณาเพื่อโหวตเห็นชอบร่างกฎหมายรายมาตรา หลังจากที่มีการลงรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรีวิวหรือทบทวนร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์  

ภายหลังการพิจารณา ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดเผยว่า กรรมาธิการฯได้มีการพิจารณาเพื่อสรุปทุกมาตรา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องร่างกฎหมายดังกล่าว ตามที่กมธ.ฯ เสนอในทุกมาตรา อาจจะมีการขอสงวนคำแปรญัตติในบางประเด็น เช่น เรื่องของบทลงโทษการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งผู้ขอสงวนฯมองว่า ในกฎหมายอาญามีการกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว จึงไม่อยากให้เกิดความซ้ำซ้อน ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ที่ให้คงบทลงโทษไว้  เนื่องจากมองว่าการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์มีความซับซ้อนและบางกรณีระทบต่อสิทธิมนุษยชน จึงควรมีการกำหนดบทลงโทษไว้ในกฎหมายนี้อย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่าการขอสงวนการแปรญัตติบางประเด็นนั้น เป็นเรื่องของรายเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อหลักการสำคัญของก้าวแรกในการเดินหน้าเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เข้าถึงโอกาสและสิทธิต่าง ๆ ที่เท่าเทียมในสังคมอย่างแน่นอน

“เสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.เห็นชอบทุกมาตรา คือ กมธ.เรามีการแก้ไขร่างหลัก ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล เราเพิ่มความครบถ้วนให้สมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ทั่วประเทศ โดยกมธ.ทุกท่านเห็นพ้องต้องกันในการเพิ่มข้อมูล เพิ่มรายละเอียดเพื่อให้ร่าง พรบ.นี้ มีความครบถ้วนสมบูรณ์  100 %”

เช่นเดียวกับ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เห็นว่า แม้จะมีการตั้งข้อสงวนการแปรญัติติในบางประการ แต่เชื่อมั่นว่า การตั้งข้อสงวนส่วนใหญ่ เป็นการตั้งข้อเสนอในเชิงถ้อยคำ หรือเชิงเทคนิคบางอย่าง ไม่ได้กระทบต่อสาระหลัก หรือสาระสำคัญในร่างกฎหมาย

“เอาเข้าจริง กมธ.เสียงข้างน้อยหลายท่านเลยทีเดียวที่มีการสงวนไว้  ก็เพื่อความสมบูรณ์ของกฎหมายมากกว่า ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้  แต่เป็นความสมบูรณ์ของกฎหมายนี้ เมื่อมีการเอาไปบังคับใช้ได้จริง ปฏิบัติได้จริง ก็เชื่อมั่นว่าเพื่อนสมาชิกของทุกพรรคการเมือง ที่นั่งอยู่ในกมธ.และก็สนับสนุนกฎหมายนี้  ก็คงจะมีคำอธิบายที่กลับไปบอกเพื่อนสมาชิกว่า กฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างไร เป็นกฎหมายที่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาติพันธุ์อย่างไร และเราจะผ่านกฎหมายนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร”

คาดร่างกม.จะเสร็จสมบูรณ์ เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2 ทันสมัยการประชุมนี้

ปิยะรัฐชย์ ยังเปิดเผยว่า ทางกมธ.ฯ จะพยายามเดินหน้าให้การพิจารณาร่างกฎหมายนี้ให้มีความสมบูรณ์ ดังนั้นจะมีกรอบเวลาอีกประมาณเดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ที่จะทำให้ร่างกฎหมายนี้ถูกบรรจุได้ทันสมัยการประชุมนี้ ดังนั้นนัดต่อไป ในวันที่ 9 ก.ย. 67 จะเป็นการนำผู้ที่ขอแปรญัติไว้ตั้งแต่ในการพิจารณารับหลักการในวาระ 1 นำความคิดเห็นที่จะสงวนไว้ รวมถึงที่เป็นข้อสังเกตมาคุยกัน และทาง กมธ.จะพยายามทำให้เร็วที่สุด แล้วจะเหลืออีกนัดสุดท้ายซึ่งเป็นการพิจารณาสรุปไฟนอลร่างกฎหมาย จากนั้นจะเสนอเข้าบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 ต่อไป  คือจะพยามให้เสร็จก่อนอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม เพื่อที่จะพยายามนำร่างนี้เข้าสภาให้ทันก่อนวันที่ 30 ตุลาคมนี้

ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช  ประธาน​กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

ด้าน ณัฐวุฒิ เห็นว่า ในตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา การพิจารณากฎหมายคืบหน้าได้เพียงฉบับเดียว นั่นคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในขณะที่กฎหมายหลายฉบับยังค้างการพิจารณา แต่เมื่อดูกรอบเวลาก็คาดว่าร่างกฎหมายชาติพันธุ์ น่าจะแล้วเสร็จทันบรรจุวาระ และแม้ว่าจะปิดประชุมช่วงปลายเดือนตุลาคม แต่ถ้าเห็นมีเหตุจำเป็น สามารถขอให้คณะรัฐมนตรีประกาศเปิดสมัยประชุมวิสามัญได้อีก คือถึงแม้ไม่ทันจริง ๆ ก็มีกระบวนการที่จะรองรับ แต่ตนยังมั่นใจว่าจะพิจารณาทันสมัยประชุมนี้ จึงต้องมาจับตาว่า พ.ร.บ.ชาติพันธุ์จะถูกอภิปราย ถูกพูดในสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และวาระ 3 อย่างไร  ทั้งนี้ส่วนตัวยังเชื่อและมั่นใจในฉันทามติของทุกพรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายนี้

“ผมมั่นใจ เพราะว่า วาระ 1 ก็เห็นเป็นเอกฉันท์ ในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวาระ 2 ส่วนใหญ่ก็เห็นไปในทางเดียวกัน ข้อสงวนก็จะเป็นเชิงเทคนิค รายละเอียดถ้อยคำเท่านั้นเอง เรื่องนี้ต้องบอกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนขั้ว ไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะมาเป็นพรรคประชาชน หรือว่าใครจะมาเป็นฝ่ายค้าน อย่างพลังประชารัฐจะมาเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ผมว่าสิ่งนี้ ไม่มีผลต่อการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพราะว่าในสภาผู้แทนราษฎร เรามองไปไกลกว่าการเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน และเอาเข้าจริงๆ ร่างที่สภาฯ รับมาทั้งหมด ไม่ใช่ร่างรัฐบาลอย่างเดียว เป็นร่างของพรรคการเมือง และภาคประชาชนด้วย ฉะนั้นผมเชื่อมั่นว่า มันถึงเวลาจริง ๆ ที่เป็นฉันทามติร่วมกันของสส. และหวังถึงการเคารพ ยอมรับว่าประเทศนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย และอาจจะยังไม่เข้าถึงสิทธิบางอย่าง ที่จะต้องมีกฎหมายเข้ามาดูแลคุ้มครองสนับสนุนร่วมกัน”

ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อถึงเวลาลงมติจริง ๆ ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่หากกฎหมายฉบับนี้ ไม่ผ่าน หรือว่าไม่ได้สาระสำคัญที่ควรได้ ก็แน่นอนว่าตัวแทนประชาชนต้องไปตอบคำถาม ต่อพี่น้องประชาชนที่เลือกเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนึกถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ ไม่อยากให้คิดถึงแค่ภาพของพี่น้องที่อยู่พื้นที่สูง  หรืออยู่พื้นที่ตามจังหวัดชายแดนเท่านั้น แต่ว่าความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีเต็มไปหมด เช่น จังหวัดอ่างทอง บ้านตน มีทั้งลาวโซ่ง และอีกหลากหลายกลุ่ม เรื่องเหล่านี้จึงใกล้ตัวสส. ตนจึงมั่นใจว่า เมื่อสส.มาจากประชาชนเป็นตัวแทนประชาชน เขาสัมผัส เห็นวิถีชีวิต และปัญหาคืออะไร ก็จะนำไปสู่การคุ้มครองอย่างไร

ส่วนตัวยังมองว่า หากเทียบกับกฎหมายหลายฉบับ เอาเข้าจริง ๆ อย่าง สมรสเท่าเทียม หรือแม้แต่ประเทศนี้ไม่ตีเด็ก ที่พิจารณากันอยู่ขณะนี้ บางครั้ง เรายังเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างมากกว่า กฎหมายฉบับนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงมั่นใจในเพื่อน สส. และเมื่อสภาฯผ่านวาระ 3 ไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ตนก็ยังมีความมั่นใจต่อการสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะจากการประชุมพิจารณาของวุฒิสภาร่วมกันครั้งแรก ฟังโทนเสียง น้ำเสียงที่มาที่ไป ก็เชื่อมั่นว่าจะผ่านสมาชิกวุฒิสภาแบบเดียวกัน และคาดว่าปีหน้า กฎหมายนี้จะถูกประกาศใช้ และมีผลบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตพี่น้องชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง

ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองประธาน ​กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ปธ.กมธ.ยัน เรื่องชาติพันธุ์ เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะอยู่ในการแถลงนโยบายรัฐบาลแพทองธาร

ในฐานะฝ่ายค้าน ณัฐวุฒิ กล่าวถึงการจับตาในการแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ว่า ต้องฝากทางประธานกมธ. คือสส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ซึ่งเห็นบทบาทในการปกป้องสิทธิของน้องชาติพันธุ์ แต่ยังไม่เห็นหน้าตาของนโยบาย ซึ่งในความจริง คณะรัฐมนตรียังจัดตั้งไม่เรียบร้อย ยังไม่รู้ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม อาจจะให้เวลาคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่ในการติดตาม การทำนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ตั้งแต่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเขียนชัดเจนว่าจะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่ปี 2563 แต่ปรากฏว่า สุดท้ายกฎหมายนี้ ไม่ถูกส่งมาพิจารณาแต่อย่างใด และถ้อยคำในลักษณะนี้ ในการปกป้องสิทธิประชาชน มีอยู่ในการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่เข้าใจว่าท่านคงเห็นปัญหา เลยไม่กล้าสัญญาว่าจะแล้วเสร็จตามกรอบได้เมื่อไหร่ อย่างไร

​อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่า ณ นาทีนี้ การเขียนนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร อาจไม่ใช่แค่เรื่องของการย้ำให้ชัดถึงกฎหมายฉบับนี้ แต่ตนอยากให้พิจาณา ถึงกรอบในการพิจารณานโยบาย ที่จะครอบคลุมมิติของพี่น้องกลุ่มต่าง ๆ คือกลุ่มเปราะบางในสังคมทั้งหมดด้วย  เพราะอย่างพี่น้องชาติพันธุ์ ก็มีความละเอียดถึงผู้หญิง เด็ก มันมีความทับซ้อนของมิติที่มีการละเมิดสิทธิที่ไม่เหมือนกัน ​ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ​นายกฯเองน่าจะมีความเข้าใจ ยังอยากเห็น และน่าจะรอดูว่า ถ้าเกิดไม่มีการเขียนในนโยบายของ​แพทองธาร พวกตนวันนี้ในฐานะฝ่ายค้าน ก็คงต้องตั้งคำถาม หรือแม้ว่าจะมีการเขียน ก็คงต้องมาดูกันว่า การเขียนนโยบายนั้นเขียนอย่างไร นำไปสู่การคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ได้จริงหรือไม่

ด้าน ปิยะรัฐชย์  ย้ำชัดว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ยืนยัน 100%  ว่าเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน

“ในเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คำว่า ชาติพันธุ์  พี่น้องชาติพันธุ์ จะอยู่ในคำแถลงนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีแน่นอน ”

ประธานกรรมาธิการฯ ยังย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้  ไม่ได้เป็นไม่ได้เป็นร่างกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ กับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่จะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีวัฒนธรรม และให้พวกเขาที่อยู่ห่างไกลและมีความเปราะบางได้เข้าถึงสิทธิและโอกาสเท่าเทียมคนในสังคม  

ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ

1) คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของรัฐ

2) ส่งเสริมศักยภาพ โดย “ส่งเสริมศักยภาพ” สร้างกลไกการมีส่วนร่วมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

3) สร้างความเสมอภาค ด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมี “ศักดิ์ศรี” ให้หลักประกันความเท่าเทียมที่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาพเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active