เล็งนำร่องลานวัฒนธรรม ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับชีวิต ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

หวังเดินหน้าทันที หลังประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมคืนความเป็นธรรมผู้บุกเบิกในฐานะชุมชนดั้งเดิม เปลี่ยนปัญหา สู่ โอกาสส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

เมื่อวันนี้ 30 พ.ค. 67 ในงานเสวนา “เขตคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลสำคัญอย่างไร”  ที่จัดขึ้น ณ เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ก่อนการสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองลำดับที่ 23 ในวันที่ 31 พ.ค. 67  

สลวย หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวมเหตุผลความจำเป็น จากสถานการณ์ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง สลวย หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ย้ำว่า ชาวเลยังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงหลายด้านแต่สำคัญคือเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมาโดนคดีฟ้องขับไล่ กล่าวหาชาวเลบุกรุกมาโดยตลอด แม้ตอนนี้ศาลยกฟ้อง แต่ก็ไม่มีความมั่นคง  

“ทั้งที่ชาวเลเป็นผู้ยืนยันใว่าเกาะหลีเป๊ะอยู่ในแผ่นดินสยามทำให้เกาะสวยงามสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวนี้อยู่ในดินแดนของไทยมาถึงทุกวันนี้แต่พวกเขายังไร้สิทธิไม่เคยได้รับความเป็นธรรม“ 

ดีใจที่มาถึงวันนี้ ได้สถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้ยืนยันตัวตน ว่า เราชาวเลเป็นผู้บุกเบิกของพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ที่อาศัยของชาวเล เพราะที่ผ่านมาเราอยู่ด้วยความคาดหวังว่าเราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ”

สลวย หาญทะเล
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาใหญ่ในการถูกจำกัดสิทธิ ปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ยังเผชิญปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคหลายอย่าง เช่น การรักษาพยายาล แม้มี รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะเป็นด่านหน้ารักษา แต่การรักษาโรคเรื้อรัง ตามหมอนัดต้องไปรักษาตามสิทธิที่โรงพยาบาลจังหวัดสตูล ค่าเดินทาง ทั้งค่าเรือ ค่าเหมารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร รวมแล้วแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 6,000 บาท ทำให้ชาวเลบางคนต้องอดทน เสียโอกาสรักษา ถ้าไม่หนักขั้นเจียนตายก็ไม่ไปรักษา ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาคือต้องมีหมอมาประจำ รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ จะได้มารักษาติดตามอาการที่นี่ได้เลย 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ประปาแพงกว่าทั่วไปหลายเท่า ตกหน่วยละ 100-200 บาท  ค่าไฟแพง เฉลี่ยค่าไฟครัวเรือนนึง 3,000 บาท 

“แนวทางแก้ปัญหามีคือรัฐเซ็นสัญญากับเอกชนที่ผลิตน้ำผลิตไฟและรับผิดชอบส่วนต่างที่เกินมาหรือไม่ต้องมีกองทุนมาชดยส่วนต่างเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตรงนี้“ 

ไมตรี จงไกรจักร์

ไมตรี ยังมองว่า เขตคุ้มครองและส่งเสริมวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การขับเคลื่อนงานนโยบาย ทั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานทั้ง 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมลงนามและขับเคลื่อน 2 เรื่องสำคัญคือ 

  1. ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนและยกระดับเขตพื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ชาวเลในการฟื้นฟูวิถีชีวิซาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ให้เกิดการปฏิบัติได้ 

  2. จัดทำแผนส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตให้มีความมั่นคงในที่ดิน การเข้าถึงสิทธิและสถานะบุคล สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค พัฒนาการหลักสูตรการศึกษาตามวิถีชุมชน การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี กรอบกฎหมาย นโยบายและแนวทางปฏิบัติ

ขณะที่ ผศ.สุผาณิต วิเศษสาธร สำนักวิชาสถาปัตกรรมศาสตร์และออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำแผนที่สะท้อนปัญหาเกาะหลีเป๊ะ จากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า เกาะหลีเป๊ะมีปัญหาผังเมืองชัดเจน เพราะที่รีสอร์ทโรงแรมที่พักแน่น โครงข่ายการสัญจรไม่ปกติถนนก็เล็กมาก ขนาดว่ารถซาเล้ง ที่เป็นรถขนาดเล็กใช้ขนของ และเป็นพาหนะที่พาผู้ป่วยไปหาหมอส่งลงเรือแทบจะวิ่งกันไม่ได้ หรือวิ่งอย่างลำบาก แถมน้ำท่วมเกาะทั้งที่ฝนตกไม่นาน 

ผศ.สุผาณิต วิเศษสาธร สำนักวิชาสถาปัตกรรมศาสตร์และออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

“ต้องทำผังเมืองใหม่แบบมีส่วนร่วมเพราะชัดว่าผังเมืองที่รัฐออกมา ก็ไม่ครบถ้วนครอบคลุมกับการแก้ปัญหาหรือความต้องการของคนในพื้นที่ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย“ 

ผศ.สุผาณิต วิเศษสาธร

ที่สำคัญมองว่า ชาวเลเองในฐานะเจ้าของบ้าน ต้องคุยกันว่าจะวางทิศทางการพัฒนาเมืองไปตรงจุดไหน แต่ที่น่าสนใจตอนนี้คนรุ่นใหม่บนเกาะหลีเป๊ะ เขาให้ความสำคัญและสนใจกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมชุมชน สิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงอนาคตของเกาะ เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ หรือต้องดูพลวัตปัจจุบัน คำถามสำคัญคือต้องทำให้วัฒนธรรมเดินคู่ไปพร้อมกับการท่องเที่ยวให้แข็งแรง 

ผศ.สุผาณิต ยังได้นำโมเดลการออกแบบผังลานวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ในชุมชนสิเข่ง ซึ่งมีพื้นที่ 2 ไร่ เพื่อที่จะวางเป็น Sandbox หรือพื้นที่นำร่อง ให้ชาวเลมีส่วนร่วมนำศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมมาร่วมพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว และสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน เช่น ตลาดชาวเล สู่การเที่ยวเที่ยวมีส่วนร่วมและยั่งยืน 

กัลยทรรศน์ ติ้งหวัง คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จ.สตูล บอกว่า จากการนำสภาพปัญหา การเข้าถึงสาธารณะพื้นฐาน สวัสดิการสังคมที่เกิดขึ้น ไปสะท้อนในเวทีและวงประชุมต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล และเห็นว่าเป็นแค่เสียงเล็ก ๆ ไม่นำไปแก้ไขปัญหา หลังจากมีการลงนามข้อตกลงกับหน่วยงานต่าง ๆ ต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ภายใต้นโยบายสาธารณะ หลังจากนี้ต้องมีการทำข้อมูลให้เพิ่มขึ้นขึ้นและต้องเกิดธรรมนูญเพื่อผลักดันเป็นข้อเสนอ

กิตติ อินทรกุล ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บอกว่า หน้าที่ พม. คือให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของสวัสดิการ เช่น เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย สิทธิและความมั่นคงของมนุษย์การเข้าถึงทางด้านการศึกษาการสร้างหุ้นส่วนของการพัฒนา ซึ่งพื้นที่ต้องลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่ง เรื่องที่ต้องทำต่อไปคือการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้น

สอดคล้องกับ อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า จุดเริ่มต้น เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการแนวนโยบาย ในการฟื้นฟูชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่ วัฒนธรรมพิเศษชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการคุ้มครองและส่งเสริมวถีชีวิตกลุ่มชาตพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ประกอบกับเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหา การพัฒนา และการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการระบบสุขภาพและสวัสดิการสังคมของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล สู่การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเลเกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง หลังจากนี้ชาวเล จะรับรองด้วยการบันทึกความร่วมมือ (MOU) ใช้ไปพลางก่อนการออกกฎหมาย การมีแผนบริหารพื้นที่ เช่นการจัดการผังพื้นที่

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“สิ่งที่ยังต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน  คือ การสร้างความเข้าใจ ลดอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนนี้ต้องยอมรับแม้สังคม หรือฝ่ายนโยบาย จะมีความเข้าใจทิศทางที่ดีในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ เราเห็นขอจำกัดและปัญหานี้อยู่ ในการพิจารณากฎหมายชาติพันธุ์ในชั้นกรรมาธิการตอนนี้  ก็ยังมีคำถาม ที่พบบ่อยคือทำไมต้องให้สิทธิคนกลุ่มนี้ นี่สะท้อนว่า ไม่มองพวกเขาในฐานะพลเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องปรับมโนทัศน์ หรือหลักคิดกันใหม่“ 

อภินันท์ ธรรมเสนา 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active