เตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล “ชุมชนมอแกลน” ทับตะวัน-บนไร่ จ.พังงา

งานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 ชูศักยภาพวิถีวัฒนธรรมชาวเล ร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ สมัชชาชาวเล 5 จังหวัด ร่วมระดมข้อเสนอสู่การต่อยอดประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลรวม 17 แห่งในอนาคต

วันนี้ (25 พ.ย. 2565) ที่ชุมชนชาวเลทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เครือข่ายชาวเลอันดามัน (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา (SDG)” เพื่อเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนโยบายและกฎหมาย และเพื่อเผยแพร่รูปธรรมการพัฒนาพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต่อสังคมสาธารณะและนโยบาย  

เนื่องจากปัจจุบันชาวเลยังคงเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ความไม่มั่นคงด้านที่ดินทำกิน สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน ปัญหาที่ทำกินในทะเล ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาเรื่องสุขภาวะฯ 

ปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโคงสร้างที่สั่งสมมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทำให้ในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถคุ้มครองกำหนดเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหา และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล การจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ปีนี้ จึงเตรียมประกาศพื้นที่รูปธรรม เขตส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านทับตะวัน-บนไร่

ในงานมีการจัดเวทีสมัชชา “เครือข่ายชาวเล สู่การขับเคลื่อนนโยบายเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม“ ที่ให้ตัวแทนชาวเลทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่  สตูล ระนอง แบ่งกลุ่มตามพื้นที่ ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอในประเด็นสำคัญ 3 ข้อ คือ คุณค่าความโดดเด่นของชุมชน, ความกังวลปัญหาและผลกระทบในชุมชน และความฝันต่อการมีเขตคุ้มครองทางวิถีชีวิตวัฒนธรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอให้หน่วยงานและภาคส่วนต่างที่เกี่ยวข้องหนุนเสริมสู่การผลักดันเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม โดยในปีนี้เตรียมนำร่องประกาศพื้นที่ต้นแบบเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมแห่งแรก ที่ชุมชนมอแกลน ทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน กล่าวว่า เราอยากให้สังคมเข้าใจว่า เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นกฎหมายพิเศษ แต่จะมาคุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงชาวเล ที่มีคุณค่าและความโดดเด่น มาเสริมศักยภาพให้พวกเราสามารถที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศได้จากความเข้มแข็งในพื้นที่ของพวกเรา 

“เราเชื่อว่าพื้นที่ชาวเลมีศักยภาพ เราหวังว่าพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมจะเป็นกลไกทำให้พวกเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา โดยความร่วมมือของรัฐ มาทำให้พวกเราใช้วิถีชีวิตอยู่กับทรัพยากรได้อย่างสอดคล้อง นี่เป็นหัวใจหลักของการคุ้มครอง“ 

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน

วิทวัส กล่าวต่อว่า การนำร่องก่อนหนึ่งพื้นที่ ไม่ใช่ว่าชาวเลพื้นที่อื่นมาครั้งนี้เพื่อจะแสดงความยินดี แต่เพื่อดูว่าการประกาศเขตคุ้มครองไม่ใช่อยู่ดี ๆ คิดจะประกาศแล้วประกาศ จะมาส่งเสริมคุ้มครองคุณทุกอย่าง โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่โดยวิถีมีคุณค่าอยู่แล้ว อยู่กับทรัพยากรได้ ภูมิปัญญาก็มาพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตนเองมีความสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางเศรษฐกิจ เรื่องของนโยบายเรื่องของการจัดการในพื้นที่วัฒนธรรมของตัวเอง 

“ยังมีอีก 16 พื้นที่ ที่จะเป็นพื้นที่ประกาศเขตคุ้มครองในอนาคต รวมแล้ว 17 พื้นที่ เพราะฉะนั้นเหมือนเรามาคิดมาฝันร่วมกันโดยที่เห็นภาพจากตรงนี้ และพวกเขาจะไปพูดว่า ความโดดเด่น คุณค่าในชุมชนที่ตนเองมี ความภาคภูมิใจที่ตัวเองมีมันมีอะไร และหลังจากนั้น ค่อยไปเขียนโจทย์เรื่องของกลุ่มเปราะบาง ความเป็นกลุ่มเปราะบางของเขา มันเป็นยังไง หลังจากนั้นก็ไปวาดฝันว่าเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมในฝันของคุณ ของพี่น้องเป็นอย่างไร เริ่มจากความโดดเด่น คุณค่า และก็มาที่ความเปราะบาง ซึ่งมันเป็นข้อจำกัด ทำให้พี่น้องพูดก่อนที่จะไปสู่ความฝันตนเอง ตนเองก็ต้องรู้ ทั้งคุณค่า และข้อจำกัดของตัวเอง“ 

โดยการระดมความคิดเห็นในวันนี้ เตรียมนำเสนอต่อภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะร่วมกันประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเลชุมชนทับตะวัน-บ้านไร่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในวันพรุ่งนี้ (26 พ.ย.)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active