เร่งจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นหลักฐานทางราชการ

เดินหน้าสำรวจสำมโนประชากรสร้างความชัดเจนในมิติต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีความสับสน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาติพันธุ์ในไทย และจัดทรัพยากรสนับสนุน

วันนี้ 8 ส.ค. 65 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการประชุมหารือแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์ โดยความร่วมมือของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีฐานข้อมูลของทั้ง 4 องค์กรมีความแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การจัดประชุมหารือเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ สร้างเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อเป็นองค์ความรู้ของสังคม และประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า เบื้องต้น ภาครัฐรับทราบจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ 8.5 แสนคน ที่ไร้สัญชาติ แต่เมื่อสอบถามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์พบว่ามีความไม่ชัดเจน ไม่สามารถรายงานได้ ดังที่จะพบว่าข้อมูลของ ม.มหิดล มี 71 กลุ่ม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ 54 กลุ่ม สภาชนเผ่าฯ 43 กลุ่ม และศูนย์มานุษย์ฯ 60 กลุ่ม

“จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนเรื่องของจำนวนกลุ่ม และองค์ความรู้ด้านสังคมมานุษยวิทยา เนื่องจากด้านนโยบาย ต้องการทราบสถานการณ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้อย่างถูกต้อง ทั้งเรื่องของจำนวน คำเรียก คำเขียน ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีความสับสนไม่ชัดเจน และยากต่อการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาติพันธุ์ในไทย การดำเนินงานเพื่อจัดทรัพยากรสนับสนุน รวมถึงการสร้างความเข้าใจของสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย”

ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มองว่า ศูนย์มานุษยวิทยา ควรมีระบบฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเดียวกัน วิธีการสำคัญคือการเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเดียวกัน และอยากให้หน่วยงานสนับสนุนการทำฐานข้อมูลในระดับชุมชน ชาติพันธุ์นั้น ๆ ด้วยตัวเอง เช่น งบประมาณ กระบวนการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นโอกาสของกลุ่มชาติพันธุ์

“ชื่อเรียกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ใช้ฐานข้อมูลจากสมาชิกในสภา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 43 ชาติพันธุ์ แต่ได้มีการติดต่อเข้าร่วมสภาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มเติม จำนวนที่แตกต่างกัน คือการยืนยันว่าอ้างอิงจากส่วนไหน ต้องอธิบายที่มาที่ไปของตัวเอง เพราะเป็นการบ่งบอกยอมรับการมีตัวตนขององค์กรผู้บันทึกฐานข้อมูลนั้น ๆ”

ชุติมา มอแลกู่ รองนายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชางไทยภูเขาในประเทศไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายอาข่าได้เริ่มเก็บข้อมูลในกลุ่มพี่น้องอาข่าเอง แต่ก็มีปัญหาเรื่อง ตัวอักษร เนื่องจากการออกเสียงสำเนียงภาษาชาติพันธุ์ยากต่อการหาวรรณยุกต์ในภาษาไทย แต่ได้มีความพยายามในการประดิษฐ์ภาษาสื่อสารให้เข้าใจกัน โดยมีการจัดตั้งอาสาเก็บข้อมูลชุมชน ผ่านการรับรู้ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน เยาวชนในชุมชน ที่สามารถใช้เทคโนโลยี โดยใช้ google platform ในการเก็บข้อมูลโดยสามารถเก็บข้อมูลแล้วกว่า 20 ชุมชน ทั้งข้อมูลชุมชน ประวัติศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ข้อมูลครัวเรือน

”เมื่อก่อนชาติพันธุ์จะแต่งงานในเผ่าเดียวกัน แต่ปัจจุบันแต่งงานข้ามเผ่าจำนวนมาก เมื่อลูกออกมาจะต้องลงทะเบียนว่าอยู่เผ่าไหน เราก็มีการให้ลูกสามารถเลือกเองได้ว่าจะอยู่เผ่าพ่อหรือเผ่าแม่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นในการเก็บข้อมูลที่ยาก เช่น พื้นที่ที่ชุมชนที่กระจัดกระจาย เมื่อแต่งงานข้ามเผ่าก็มีการอยู่แบบผสมผสาน และบางส่วนสูญเสียทรัพยากร สิ่งนี้ยากต่อการระบุว่า ชาติพันธุ์แต่ละแห่งอยู่ที่ไหนบ้าง”

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกสำหรับแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์ หลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งอาจต้องมาจัดกลุ่มข้อมูล และเรียงลำดับว่าจะต้องเก็บข้อมูลประเภทไหนก่อน แต่หลายเรื่องมีข้อมูลบึนทึกไว้ก่อนหน้านี้ คาดว่าจะสามารถจัดการได้ก่อนเบื้องต้นภายในปีนี้ 20% โดยคาดว่าจะจัดทำบันทึกฐานข้อมูลได้อย่างมีเอกภาพและสมบูรณ์ภายใน 2-3 ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้