‘ที่ปรึกษาพีมูฟ’ หวั่นเกิดช่องโหว่ ฟอกที่ดิน ตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ แนะต้องพิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจน พร้อมรับรองสิทธิ์ชุมชน ป้องกันผู้แสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินในระยะยาว
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 67 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน จึงขอให้ที่ประชุม ครม. ไปดำเนินการดังนี้
- ให้กระทรวงการคลัง และ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และเหมาะสม รวมถึงเรื่องดำเนินการให้นำที่ดินของรัฐมาสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของรัฐ รวมถึงการอนุญาตให้ทำสัญญาทรัพย์อิงสิทธิได้ในระยะยาวขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้สถาบันทางการเงินพิจารณาเพิ่มสินเชื่อ ให้กับประชาชนในกลุ่ม ดังกล่าวได้มากขึ้น
- ให้คณะทำงานที่จะจัดตั้งขึ้นนำผลการศึกษาดังกล่าว ของผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยที่ทำตามมติของ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอสังหาริมทรัพย์มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้อย่างที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดหาพื้นที่ให้ประชาชน เช่น โครงการหนองวัวซอโมเดล
จากประเด็นดังกล่าว The Active พูดคุยกับ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ถึงข้อสังเกตที่หลายคนกำลังตั้งคำถาม “นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ดีหรือไม่ ?” สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากการใช้ที่ดินของรัฐ
ออกประกาศทับ กระทบสิทธิ์ผู้อยู่อาศัยเดิม
ประยงค์ มองว่า การจัดสรรที่ดินเพื่อตอบสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการในลักษณะเดียวกันกับ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก่อนหน้านี้นั้น คือให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ดินให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือครองที่ดินได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่สั่งการเชื่อมโยงกัน
ข้อสั่งการของ นายกฯ แพทองธาร มีเป้าหมายในที่ดิน 2 กลุ่ม คือ ที่ดินของกรมธนารักษ์ และที่ดินของกรมที่ดิน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7 ล้านไร่ ในบรรดาที่ดินเหล่านี้จะมีพื้นที่ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่จำนวนมาก นั่นคือการมีชุมชนที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว มีประกาศที่ดินเหล่านี้ทับเข้าไป เช่นเดียวกับกรณี โครงการรัฐเอื้อราษฎร์ ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อปี 2547 ในพื้นที่ดินราชพัสดุ
ประยงค์ ยอมรับว่า กระบวนการนี้กระทบต่อสิทธิของประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศจัดสรรที่ดิน โดยส่งผลให้เกิดการตัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ หรือการต่อสู้ทางสิทธิ์ของชุมชนที่อยู่มาก่อน นั่นหมายความว่า หากผู้อยู่อาศัยเดิมต้องการจะพิสูจน์สิทธิ์ รัฐบาลจะไม่ให้ผู้อยู่อาศัยเดิมเข้าสู่กระบวนการเช่า ซึ่งหากต้องการจะเข้าสู่กระบวนการเช่าก็จะต้องยอมรับว่าตนเองเป็น ผู้บุกรุก
“นี่คือการบังคับให้ประชาชนอยู่ในที่ดินของรัฐ ไปยอมรับว่าตัวเองบุกรุกที่ดิน เพื่อที่จะอยากเข้าสู่กระบวนการเช่า ซึ่งสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่”
ประยงค์ ดอกลำใย
ฟอกที่ดินได้ด้วย พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ?
ส่วนนโยบายเรื่องการเช่าที่ดินได้ 99 ปี โดยเฉพาะต่างชาติ พร้อมเพิ่มเพดานการถือครองห้องชุดและคอนโดมิเนียมจาก 49% เป็น 75% ก็มีความเชื่อมโยงเช่นกัน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสัญญาเช่า ให้เป็นกรรมสิทธิ์ หมายความว่า ผู้ทำสัญญาเช่าก็จะมีสิทธิ์เหมือนกับเจ้าของโฉนด ในช่วงระยะเวลาที่ทำสัญญา และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในการเช่าให้กับคนอื่นได้ รวมถึงชาวต่างชาติก็สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เช่นกัน
“เหมือนโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ในอดีต โดยเริ่มต้นอาจจะอ้างว่าเป็นคนจน แต่พอเกินระยะเวลาหรือครบสัญญา ประชาชนไม่อยากจะต่อสัญญา เพราะการใช้ประโยชน์ที่ดินมันมีเงื่อนไขจำกัดมาก จึงทำให้ที่ดินตรงนั้นก็เป็นที่ดินเปล่า เมื่อชาวบ้านกลุ่มแรกที่เป็นจุดริเริ่มของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ก็เอาที่ดินไปให้กลุ่มทุนหรือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีแทน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าก็เป็นการฟอกที่ดิน แล้วถ้าไปโยงกับ พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ ก็จะเท่ากับเหมือนให้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นสาธารณะประโยชน์ และที่ดินของกรมธนารักษ์มีสถานะเทียบเท่ากับที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินเลย”
ประยงค์ ดอกลำใย
ตรวจสอบสิทธิ์ให้ชัดเจน คือการพิสูจน์สิทธิ์ก่อนว่าใครอยู่ก่อน อยู่หลัง
หากต้องการยุติข้อกังวลในการฟอกที่ดินจากโครงการดังกล่าว ที่ปรึกษาพีมูฟ เสนอว่า ต้องตรวจสอบสิทธิ์ให้ชัดเจน นั่นคือ การพิสูจน์สิทธิ์ก่อนว่าใครอยู่ก่อน-หลัง ซึ่งใครอยู่ก่อนก็จะมาดำเนินการให้เช่าไม่ได้ นอกจากนี้ ควรมีรูปแบบของการอนุญาต หรือการรับรองสิทธิ์ที่ไม่ใช่การเช่า เพราะว่าการรับรองสิทธิ์ชุมชนจะช่วยให้ชุมชนมีกฎ กติกา และระเบียบต่าง ๆ ในการรักษาที่ดิน รวมถึงตรวจสอบไม่ให้ ผู้ที่ไม่ได้มีสถานะยากจนเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นในระยะยาวต่อไป