ประกาศปักหลัก กระทรวงคมนาคม จนกว่า ‘สุริยะ’ จะลงนามเช่าพื้นที่ แก้ไขปัญหาที่ดินริมทางรถไฟฯ ให้กับประชาชนที่ต้องหลีกทางให้กับการพัฒนา
วันนี้ (7 ต.ค. 67) ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟ 35 จังหวัด รวมถึง ตัวแทนชุมชนคลองเตยที่อาศัยที่ของการท่าเรือ และชาวบ้านบางส่วนจากทับลาน ที่มีปัญหาอุทยานฯ ทับที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ซึ่งทุกเครือข่ายคือตัวแทนประชาชนที่เผชิญกับปัญหาด้านความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ร่วมรณรงค์เรียกร้องเนื่องใน “วันที่อยู่อาศัยโลก” ประจำปี 2567 โดยเคลื่อนขบวนจากสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน มายัง กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหา ที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อยู่บนที่ดินการรถไฟ 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 หลังคาเรือนผู้เดือดร้อน
โดยขอให้ ยึดมติครมปี 2543 ซึ่งให้ชาวบ้านเซ็นสัญญาเช่าจากการรถไฟ สัญญาละ 3 ปี โดยหลายชุมชนขณะนี้ไม่สามารถต่อสัญญาเช่าได้เนื่องจากการรถไฟใช้บริษัทลูกมาบริหารที่ดิน ประกอบกับ โครงการรถไฟรางคู่ ที่ต้องขยายราง ที่การรถไฟเองก็ต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินในโครงการพัฒนา
ชาวบ้าน ยืนยันว่า ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่ขอให้ร่วมกันหาทางออกจัดการที่ดินร่วมกัน ทั้งนี้มีโมเดลต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ ที่สามารถจัดการได้ โดยไม่ผลักคนจนออกไปจากเมือง
ทองเชื้อ วระชุน ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค บอกว่า ในโอกาสวันที่อยู่อาศัยโลก ปีนี้ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม เครือข่ายเพื่อที่อยู่อาศัย ออกมารวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ทุกคนจะเข้าถึง การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยข้อเรียกร้องสำคัญของปีนี้ คือให้รัฐบาลแต่งแบ่งปันที่หลวง 2 ประเภท ให้คนจนได้อยู่อาศัย
- ที่สาธารณะ มีครอบครัวอยู่อาศัย 8,000 หลังคาเรือน ซึ่งตัวเลขนี้ยังสำรวจไม่ครบ
- ที่ดินการรถไฟฯ มีครอบครัวอยู่อาศัย 27,000 หลังคาเรือน บางครอบครัวถือว่าเป็นผู้บุกเบิก ต้องการสัญญาเช่าที่มั่นคง
สำหรับการเคลื่อนขบวนในวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ทั้ง 2 เรื่อง ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเมื่อช่วงสายวันนี้ รัฐบาลได้ส่งตัวแทน มาเจรจากับผู้ชุมนุม ประกอบด้วย สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ว่าที่โฆษกรัฐบาล มารับหนังสือและชี้แจงความคืบหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดย สมคิด ย้ำว่า การแก้ระเบียบแก้กฎหมายต้องใช้เวลา ยืนยันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรับฟังปัญหาของประชาชน
ขณะที่ จิรายุ บอกว่า ตนเคยเป็นนักข่าวเก่า เคยทำข่าวพื้นที่ทับซ้อนมาก่อน รับปากว่า ปัญหาที่ดินจะต้องได้รับการแก้ไข โดยขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 20 ชุด
อีกประเด็นเรือธงของการเคลื่อนไหวในวาระวันที่อยู่อาศัยโลก คือจุดยืนของเครือข่ายในการคัดค้านนโยบายเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าถึงที่ดินหรือที่เรียกว่า ทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปี โดย ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ชุมชนคลองเตย บอกว่า การเพิ่มสัดส่วนการถือครองในคอนโดมิเนียม จาก 49% เป็น 75% จะทำให้ ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้น มุ่งตอบสนองต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ส่วนคนในประเทศเข้าไม่ถึงและราคาที่อยู่อาศัยข้างเคียงก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ก็สูงกว่ารายได้เฉลี่ยถึง 21 เท่า ซึ่งสูงกว่ากรุงโตเกียว กรุงโซล และสิงคโปร์ สะท้อนว่าราคาที่อยู่อาศัยปัจจุบันเกินความสามารถของคนทั่วไป
ล่าสุดขบวนคนจนเพื่อที่อยู่อาศัย ได้มาปักหลักด้านหน้ากระทรวงคมนาคม โดยแกนนำผู้ชุมนุม ยืนยัน กับ The Active ว่า จะชุมนุมยื้อเยื้อ ไปจนกว่าจะได้พบกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมขีดเส้นว่า จะต้องมีการเซ็นสัญญาเช่านำร่อง 11 ชุมชน จาก 300 ชุมชน ที่อยู่บนที่ดินการรถไฟฯ จึงจะสลายการชุมนุมเดินทางกลับ