บทสรุป Collective Housing เน้นความร่วมมือเพื่อที่อยู่อาศัย

นานาชาติเห็นพ้องกัน เตรียมเดินหน้ากลไกพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนมีรายได้น้อย โดยชุมชน ผลักดันกองทุนเงินออม เสนอตั้งคณะกรรมการชุมชน ออกแบบกระบวนการ เน้นความร่วมมือทุกฝ่าย

วันนี้ (4 ก.ค. 67) การประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยมีชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing) “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีตัวแทนจาก 17 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 1 – 4 ก.ค. 67

โดยในวันสุดท้ายของการประชุมหลายประเทศสะท้อนถึงกลไก Collective Housing ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศของเขา เช่น การรวมกลุ่ม การจัดตั้งกองทุนเงินออมในรูปแบบสหกรณ์ เช่น ผู้แทนจากประเทศปากีสถาน กล่าวว่า จะร่วมผลักดันให้เกิดเครือข่ายชุมชนในหลายระดับ โดยเชิญชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการแบ่งปันในระดับกระบวนการ และผลักดันการจัดตั้งกองทุนเงินออม ซึ่งในประเทศปากีสถานยังไม่มีเรื่องนี้

“การได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เห็นว่ากลไกดังกล่าวเป็นกลไกที่ยั่งยืน และดีมากหากคนในชุมชนจะเริ่มต้นออมคือการลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวเองก่อนและจำนวนเงินที่ออมก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาด้วยคือไม่มากเกินไป”

เช่นเดียวกับ ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ตั้งใจจะกลับไปทำการถอดบทเรียนและประชุมกันในระดับคนทำงาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสหกรณ์ การจัดกระบวนการ สร้างภาคีเครือข่าย โดยกระบวนการรวมตัวของชุมชน ทั้งนี้มีหลายประเทศที่เห็นตรงกันว่า อาจไม่ง่าย แต่ก็เห็นว่าเป็นหลักการที่ดี ที่จะกลับไปเรียนรู้และสร้างเครือข่ายทำงานลักษณะนี้

“สิ่งที่ต้องโฟกัสไม่ใช่แค่ชุมชน แต่ต้องโฟกัสกระบวนการสร้างความเข้มแข็ง ให้มีความรู้ความสามารถในกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และจะทำอย่างไรให้ได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบาย”

ขณะที่ ประเทศอินโดนีเซีย วางแผนที่จะทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกในการปฏิรูปประเทศ และสิ่งที่ขาดมากที่สุดในเวลานี้ คือ ฐานข้อมูล การขึ้นทะเบียนข้อมูลคนที่มีรายได้น้อยจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน รวมถึงมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

ส่วน ประเทศอินเดีย จะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเมือง เพื่อเป็นกลไกผลักดัน “บ้านชุมชน”

ประเทศมองโกเลีย จะจัดทำเอกสารแจกจ่ายให้กับประชาชน เครือข่ายในประเทศ โดยได้ขออนุญาตนำเอกสารจากการประชุมแปลเป็นภาษาของเขาเพื่อขยายความรู้ต่อเรื่องนี้

ขณะเดียวกันการผลักดันกลไก “บ้านโดยชุมชน” แบบที่โครงการบ้านมั่นคง ภายใต้ พอช. ดำเนินการอยู่นั้น มีหลายประเทศที่ดำเนินการแล้ว เช่น Lea Oswald ผู้ประสานงานองค์กร Urban Monde และ Co-Habitat Network เครือข่ายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย สำหรับคนที่มีรายได้น้อยโดยการใช้กลไกของสหกรณ์มา 100 ปีแล้ว

เขาอธิบายว่า ที่สวิตเซอร์แลนด์รัฐบาลกลางจะสนับสนุนงบประมาณผ่านมายังสหกรณ์กลาง ก่อนจะกระจายไปยังสหกรณ์เคหะสถานอื่น ๆ สำหรับใช้เป็นทุนในการสร้างบ้าน หรืออาจเป็นหลักประกันให้กับธนาคารกรณีที่ชุมชนจะขอสินเชื่อ จำนองบ้าน แต่สิ่งที่ Lea Oswald เรียกร้องต่อรัฐบาลของเขา คือ อยากเห็นการเข้าถึงที่ดินของคนที่มีรายได้น้อยได้มากขึ้น และการผลักดันในระดับนโยบายท้องถิ่นให้เกิดขึ้นได้จริงเมื่อรัฐบาลกลางมีนโยบายที่ชัดเจนมาแล้ว

ขณะที่รูปแบบนี้ มีลักษณะคล้ายกับโครงการบ้านมั่นคง ที่ พอช. จะเข้าไปสนับสนุนงบประมาณในการสร้างบ้านบางส่วนเช่นกัน และกลไกชุมชนก็มีการจัดตั้งสหกรณ์โดยผ่านการออมก่อน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในหลายแง่มุม เช่น Seiji Terakawa Kindai University Associate ProPessor เสนอว่า ควรมีการใช้การออกแบบเข้ามาช่วย ยกตัวอย่าง โครงการบ้านมั่นคง ริมรางรถไฟ จุดที่เป็นพื้นที่กลางยังคงมีการออกแบบที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้จริง หากนำเรื่องการออกแบบเข้ามาปรับเรื่องนี้ จะเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้สูงสุด มากขึ้น

ขณะที่ สมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการโครงการบ้านมั่นคง พอช. ระบุว่า การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศมองเห็นกลไกในการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะการออกแบบกระบวนการในการเปลี่ยนนโยบาย และที่สำคัญคือการหากลไกในการทำงานร่วมกันระหว่าง ชุมชน หน่วยงานและรัฐ โดยเปลี่ยนการทำงานให้เน้นที่การสร้างความร่วมมือ

“เราต้องการกระบวนการที่มีทางเลือกหลายทาง ไม่ใช่รัฐบาลแบบเก่า แต่สร้างกลไกการร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ชุมชนก็ด้วย
ทุกฝ่ายคิดเนื้อหา กลไกสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ ภายใต้การพัฒนาประเทศที่ดี”

สมสุข บุญญะบัญชา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active