แก้โจทย์ที่อยู่อาศัย ‘คนจน’ ไม่ใช่แค่สร้างบ้าน แต่ต้องพัฒนาแบบมีส่วนร่วม

ผู้แทนชุมชนไทย-นานาชาติ เห็นพ้อง ขอเพียงโอกาส อย่ามองเป็นตัวปัญหาของเมือง ‘กอบศักดิ์’ ชี้ธุรกิจอสังหาฯ ซบเซา คนละเรื่องกับคนจนไร้บ้าน ย้ำ พอช. ต้องสร้างบ้านที่มากกว่าบ้าน

วันนี้ (1 ก.ค. 67) ในการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศ เรื่อง การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยมีชุมชนเป็นหลัก  (Collective Housing) “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีตัวแทนจาก 17 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 1 – 4 ก.ค. 67

หลิน หยาง รองเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก กล่าวถึงปัญหาที่อยู่อาศัย ที่คนจนเข้าไม่ถึง เผชิญกับวิกฤตด้านที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ราคาสูง เป็นโจทย์ท้าทายที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเผชิญร่วมกัน จึงหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะสามารถหาแนวทางที่จะทำให้ราคาบ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้ไม่แพง และสำคัญคือทุกคนมีส่วนร่วม

ขณะที่ อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงนโยบายของไทย ว่า ได้ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 2546 ผ่านโครงการบ้านมั่นคง แก้ปัญหาให้ชุมชนแออัด ริมคลอง ริมทางรถไฟ และพื้นที่ชนบท แต่ก็ยอมรับว่ายังมีคนจนเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยอีกมาก

สอดคล้องกับผู้แทนชุมชนทั้งของไทยและนานาชาติ ย้ำตรงกันว่า ยังมีพี่น้องคนจนอีกมากที่ยังรอการสนับสนุน ทั้งเรื่อง ที่ดิน งบประมาณ กฎหมาย รวมถึงความเข้าใจ และมองเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหาของเมือง  พวกเขาเชื่อมั่นว่าชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืน ขอเพียงโอกาส

“ไทยใช่ว่าจะมีภาคีเครือข่ายที่เข้าใจการพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้ สำคัญที่สุดคือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โอกาส ความเข้าใจของคนที่ไม่มีบ้านจากระดับนานาประเทศ มาทำให้เกิดการผลักดันพร้อมกัน และการได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ถือว่าเป็นเกียรติ เป็นหน้าต่างที่บอกทั่วโลกว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้”

อนุกูล ปีดแก้ว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า บ้านสำหรับคนจน ไม่ได้เน้นแค่การสร้าง แต่ต้องสร้างชุมชน สนับสนุนหลายด้าน เช่น เงินทุนสินเชื่อการเข้าถึงบ้าน คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี และมีเงินหมุนเวียนเกิดเป็นนวัตกรรมสังคม ช่วยแบ่งเบา ไม่ทำให้ภาระตกอยู่ที่คนจน เป็นนโยบายยั่งยืนเพิ่มศักยภาพ

ขณะเดียวกันเรื่องที่รัฐบาลจะให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินนานขึ้น และเพิ่มสัดส่วนถือครองกรรมสิทธิ์ห้องเช่า มองว่า ปัญหาที่ภาคเอกชนเจออยู่คนละโจทย์กับเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจน เพราะชุมชนที่ไปส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งชุมชนส่วนใหญ่ อยู่บนที่ดินของรัฐ ซึ่งไม่ได้ขายให้ตลาดหรือภาคเอกชนอยู่แล้ว

“ปัญหาของเรากับเอกชน เป็นคนละปัญหา เราทำในที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พวกเขาอยู่ที่ดินเหล่านี้ อยู่แล้ว อพยพจากชนบทมาตั้งบุกรุกในที่ดินของรัฐ 70-80 ปี อ้างว่าอยู่มานาน เราไม่สามารถไล่รื้อเขาได้ แต่มองเห็นว่าหากปล่อยไว้แบบเดิมก็จะเกิดปัญหาในอนาคต เราก็รวมกลุ่มกัน พัฒนาในรูปแบบที่เขามีส่วนร่วม”

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสของการร่วมมือที่ทุกประเทศรวมถึงไทย จะได้พัฒนาแนวทางการจัดการที่อยู่อาศัยให้คนจน ตามข้อตกลงร่วมของประชาคมโลกในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน (Sustainable cities and Human settlements for all) เน้นความสำคัญของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) มีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว มีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active