ถอดบทเรียน ‘เด็กตกตึก’ แนะปิดจุดเสี่ยง – เข้ม กม. เอาผิดผู้ปกครองละเลย

สถิติน่าสลด มกราคม 2567 เด็กตกตึกเสียชีวิตแล้ว 3 ราย เสนอปรับปรุงอาคารที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก กำหนดขอบ ราวระเบียง ควรสูงไม่ต่ำกว่า 100 ซม. ช่องว่างห่างไม่เกิน 9 ซม.

วันนี้ (2 ก.พ. 67) สถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก แถลงข่าว ประเด็น “เด็กวัย 4 ขวบ ตกตึกเสียชีวิต” เพื่อสะท้อนสาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไข

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เหตุการณ์เด็กพลัดตกจากอาคารสูงเกิดขึ้นหลายครั้งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งยังไม่พบการแก้ไข โดยพบมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรณีนี้เกิดขึ้น คือ 1. พฤติกรรมของเด็ก 2. การดูแลของผู้ปกครอง และ 3. การออกแบบสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับเด็กที่เป็นผู้ใช้สถานที่ร่วมกับผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กในวัย 1 – 6 ปี เป็นวัยที่อาจจะยังไม่สามารถรับรู้เข้าใจการกระทำ อาจไม่สามารถแก้ไขปัจจัยที่ทำให้เกิดในส่วนนี้ได้ แต่ตัวผู้ปกครองและสภาพแวดล้อมของอาคารเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันก่อนเกิดได้

“เราพยายามขับเคลื่อน นอกจากเรื่องความปลอดภัยในการตกจากที่สูง และยังทำเรื่องการวิเคราะห์เหตุ การตายของเด็ก 1 คน การตายจากความไม่ปลอดภัยเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ที่เกิดจากความบกพร่องของผู้ดูแลและสถานที่”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังระบุจากทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หากดูแลอย่างน้อยตามมาตรฐานขั้นต่ำ คือ

  • เด็กอายุ 1 – 3 ปี ผู้ปกครองควรให้เด็กอยู่ในระยะวงแขน หรือ ห่างไม่ควรเกิน 1 เมตร

  • ส่วนเด็กอายุ 3 – 6 ปี ควรให้อยู่ในระยะที่สายตามองเห็น และเข้าถึงตัวเด็กได้ทันที

โดยย้ำว่า “การสอนให้เด็กมีทักษะ ในช่วงนี้ยังไม่นับว่าเป็นการป้องกัน” แต่เป็นการส่งเสริมทักษะ ที่จะช่วยให้เขาสามารถพัฒนาได้เมื่ออายุหลัง 6 ปีขึ้นไป แต่ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้ปกครอง และ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่จัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อเด็กก่อน เนื่องจากเด็กเล็กเป็นวัยที่ชอบการสำรวจ และไม่รับรู้เรื่องความเสี่ยง

“สถานที่หลายครั้งมีการออกแบบมามีความเสี่ยงมาแต่ต้น ผู้ให้บริการที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยง โดยที่ไม่ได้แจ้งให้กับผู้อยู่อาศัย ว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ถือว่าผู้ประกอบการละเลย”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกอีกว่า แม้เหตุการณ์จะเกิดจากเด็กปีนราวระเบียง จากระเบียงที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร และ ปีนออกตามช่อง แต่พบเห็นว่าหลายกรณี มีการวางสิ่งของที่จะทำให้เด็กปีนขึ้นไปได้ เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์ รวมทั้งการออกแบบราวระเบียงที่ปีนป่ายง่ายเหมือนเป็นบันไดลิง จึงมีข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาโดย “เริ่มต้นที่การออกแบบอาคาร” ให้คำนึงถึงความปลอดภัยที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบความเสี่ยงและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

  1. ราวหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป พบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตกต้องมีความสูงของราว หรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตร จากพื้น

  2. ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึง ต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอน และมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้คอมเพรสเซอร์แอร์

  3. ราวกั้นกันตกควรเป็นลักษณะแนวตั้ง โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่ไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือออกแบบให้เป็นแผ่นทึบแทน เช่น คอนกรีต โดยไม่เจาะช่องลมให้เป็นที่สอดเท้าเหยียบแล้วปีนป่ายได้

  4. ซี่ราวแนวนอนซึ่งเป็นคานล่างของซี่ราวแนวตั้งนั้นมีได้ แต่ต้องอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 9 เซนติเมตร โดยซี่ราวที่สูงเกินกว่า 100 เซนติเมตร มีซี่ราวแนวนอนเป็นคานยึดซี่ราวแนวตั้งได้ที่ระดับ 100 เซนติเมตรเป็นต้นไปเท่านั้น

ขณะที่ ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ ฝ่ายสื่อสารศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสถิติเดือนมกราคม 2567 พบว่า มีเด็กตกตึกเสียชีวิตถึง 3 ราย ได้แก่

  • รายแรก วันที่ 12 ม.ค. เด็กอายุ 4 ขวบ ตกตึกย่านอ่อนนุช ขณะที่ผู้ปกครองออกไปซื้อของ พบว่ากระจกบานเลื่อนที่จะออกไปสู่ระเบียงตัวล็อกเสีย

  • รายที่ 2 วันที่ 20 ม.ค. เด็กชาย 3 ขวบ พลัดตกตึกย่านบางขุนเทียน มีคนให้ข้อมูลว่าเด็กชอบปีนหลายครั้ง และบริเวณระเบียงมีผ้าห่มวาง แม้ความสูงระเบียงอยู่ที่ 96 เซนติเมตร แต่มีตะกร้าผ้า ทำให้เด็กปีนได้

  • รายที่ 3 วันที่ 31 ม.ค. เด็ก 4 ขวบตกตึก 23 ชั้น ย่านพระราม 2 ขณะที่น้ากำลังจัดห้อง คาดการณ์ว่าเด็กมุดร่องราวระเบียงออกไป

ประจวบ ระบุด้วยว่า จากการรวบรวมกรณีศึกษาเด็กตกตึก นับว่าเป็นครั้งแรกที่พบว่าในเวลา 1 เดือนเกิดเหตุมากถึง 3 ครั้ง แม้ที่ผ่านมาศูนย์ฯ จัดเสวนาบ่อยครั้ง แต่ไร้การแก้ไขในทางวิศวกรรม นอกจากเกิดขึ้นแล้วในอาคารนั้น ๆ จากหลายกรณีที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่า เด็กสามารถออกจากอาคารได้ทั้ง ทางหน้าต่างบานเลื่อน ช่องห่างราวระเบียง ที่ระเบียงมีสิ่งของให้ปีนป่าย การต่อเติมบริเวณราวระเบียงที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการละเลย ปล่อยให้เด็กอยู่ลำพัง

“ทุกท่านอาจจะคิดว่า การตกตึก ของเด็ก อาคารจะเป็นแฟลต หรือคอนโดเก่า แต่คอนโดหรูหลายแห่ง ก็มีเช่นกัน ไม่รู้ว่าเด็กตกได้อย่างไร เพราะมักปิดข่าว ไม่ยอมบอกมันเลยไม่เกิดการป้องกัน ส่วนคอนโดเก่า ราวระเบียง อาจแก้ไม่ได้ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องระวัง”

ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

ขณะเดียวกันพบว่า หากเกิดเหตุในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นในต่างประเทศ ผู้ปกครอง จะถูกจำคุกฐานละเลย แต่ในไทยก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 25 ผู้ปกครองต้องไม่ทอดทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใด ๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม แต่ยังไม่เคยเห็นกรณีไหนที่มีการลงโทษผู้ปกครอง เชื่อว่า หากกฎหมายเอาจริงเอาจัง จะทำให้ผู้ปกครองเกิดความระมัดระวังมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active