กทม. วอนผู้ใจบุญ บริจาคอาหารจุด Drop In คนไร้บ้าน

ชี้ 2 เดือน มีฐานข้อมูลคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น พร้อมประเมินขยายผลเป็นศูนย์พัก สร้างอาชีพ หลังพบคนไร้บ้านหน้าใหม่พุ่ง 80 %

วันนี้ (31 ต.ต.65) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะบริหาร ตรวจเยี่ยมจุดสำรวจพื้นที่บริการคนไร้บ้านเฉพาะกิจ (Drop In) จุดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร หลังเป็นพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมสำรวจความต้องการของคนไร้บ้าน ร่วมกับภาคีเครือข่ายมากว่า 2 เดือน

จากการรวบรวมข้อมูลโดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริเวณจุดประสานงาน 1.หัวลำโพง 2.ราชดำเนินกลาง 3.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 4.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า พบคนไร้บ้านใช้บริการจำนวน 1,344 คน และจากการสำรวจเชิงรุกจำนวน 330 คน พบส่วนใหญ่ต้องการคำแนะนำด้านสวัสดิการ และสิทธิต่างๆ ส่งกลับภูมิลำเนา และการจ้างงาน เพราะกว่า 30% เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ไม่เกิน 1 ปี

สอดคล้องกับข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ที่สำรวจในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบคนไร้บ้าน 1,656 คน ในจำนวนนี้ 1,573 คน เป็นคนไร้บ้านที่พัฒนาให้กลับมามีบ้านและกลับไปสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งใน 1,573 คน เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่อยู่ประมาณ 80% ตกราว 1,400 คน ซึ่งในการทำงานของ กทม. ยังได้รับความร่วมมือจากโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ตั้งจุด “สดชื่นสถาน” ให้บริการซักผ้า อบผ้า อาบน้ำฟรี ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากคนไร้บ้านว่าการที่ได้อาบน้ำ มีเสื้อผ้าสะอาด ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะไปหางาน มูลนิธิฯ จึงเล็งที่จะเปิดให้บริการเป็นการถาวร ในพื้นที่ที่ได้หารือกับ กทม. ไว้ก่อนหน้านี้เพื่อให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  คนไร้บ้านอาจเป็นผู้ที่ประสบปัญหาการใช้ชีวิต หรืออาจะเลือกดำเนินชีวิตตามอิสระ แต่ กทม. มีหน้าที่ในการรักษาสิทธิต่าง ๆ ให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงได้ ซึ่งจุด Drop In ทั้ง 4 จุดช่วยให้ กทม. มีฐานข้อมูลคนไร้บ้านที่เพิ่มเติมมากขึ้น และอาจใช้เป็นโอกาสในการขยายผลสร้างเป็นศูนย์พัก (safe shelters) ที่ครบวงจร อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือจากผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคอาหารให้คนไร้บ้าน บริจาคบริเวณจุด Drop In ทั้ง 4 จุด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย

“จากข้อมูลที่เรามีคนไร้บ้านที่มีปัญหาทางจิตมีไม่เยอะ ทางที่ดีที่สุดคือเราต้องเข้าไปช้อนเขาให้ได้โดยเร็ว ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งแก้ไขยากขึ้นในแง่เศรษฐกิจ สุขภาวะต่าง ๆ นอกเหนือจากผู้ใจบุญที่ต้องการจะแจกข้าว หากต้องการแรงงานก็ขอให้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์รวมของความช่วยเหลือทุกอย่าง ถ้าลงทะเบียนไว้แล้วจับคู่กันได้ก็จะยิ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่ปัญหาการไร้บัตรประชาชน ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าเป็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิต่าง ๆ และหลายหน่วยงานต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกัน แต่คิดว่าต้องเริ่มทำนอกเหนือจากการให้บริการรักษา สมัครสวัสดิการจากรัฐ ฯลฯ ในจุด Drop In ซึ่งระหว่างนี้มีโครงการคลินิกกฎหมายกระจกเงา ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับคนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎมาย ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือ เสมือนไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิอันจำเป็นหลายประการ แต่ยังอยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนด้านนโยบาย เพื่อให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active