ตกลงกันได้! กรมทางหลวงแบ่งที่ดินให้ชาวบ้านเช่าแทนการไล่รื้อ

ชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศความร่วมมือส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ชุมชนสร้างที่อยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐ โดยชาวบ้านเตรียมออมเงินเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ สร้างบ้านมั่นคง

วันนี้ (25 ก.ย.2565) ชาวบ้านชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมือง และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จัดงานประกาศความร่วมมือส่งมอบพื้นที่เพื่อให้ชุมชนสร้างที่อยู่อาศัยตามนโยบายรัฐ โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ที่ชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมือง แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

ดนัย ทะแกล้วทหาร เลขา เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ให้ข้อมูลว่า ชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมือง เดิมเป็นที่ดินทำนาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประมาณปี พ.ศ.2474 และเกิดชุมชนอยู่มายาวนานกว่า 70 ปี กระทั่งกรมทางหลวงขอเช่าที่ดินเพื่อขุดหน้าดินไปทำถนนวิภาวดีรังสิต กรมทางหลวงยินดีให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ต่อไป แต่ไม่มีการทำหนังสือสัญญาราชการ ในปี พ.ศ.2508 มีโรงงานอุตสาหกรรมมาเปิดใกล้เคียงกับพื้นที่ชาวบ้านจึงเปลี่ยนอาชีพไปทำงานในโรงงานแทน จนกระทั่งเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว ชุมชนทราบว่าจะมีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์จึงได้หาแนวทางเข้าโครงการบ้านมั่นคง พร้อมๆ กับการเจรจาแก้ปัญหาร่วมกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงจึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งคืนให้กรมธนารักษ์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และได้ทางออกร่วมกัน คือชุมชนเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์แทน

”ตอนนี้เราออมทรัพย์ได้ 2 ปี 57 ครัวเรือน มีเงินอยู่ล้านกว่าบาท ซึ่งช่วงเดือนตุลาคมนี้คาดว่าจะเปิดสหกรณ์ชุมชนได้ เพื่อดำเนินการเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ต่อไป บนที่ดิน 5,063 ตารางเมตร คาดว่าจะสร้างแบบบ้านมั่นคงชั้นเดียวหรือสองชั้นขนาด 4X7 ตามความพร้อมของชาวบ้าน แต่คิดว่าถ้ามีความชัดเจนเรื่องราคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จะหาเงินมาออมให้ได้ หากครบ 10% แล้วก็เริ่มโครงการได้ ส่วนระยะเวลาจากวันที่โดนไล่เกือบถึงวันนี้ 3 ปีแล้ว แต่ถือว่าประสบความสำเร็จเร็ว เราไปเรียกร้องหน้าทำเนียบฯ หน้ากระทรวง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สำเร็จคือความเข้มแข็งของเครือข่ายที่ช่วยกัน”

สรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง กล่าวว่า ยืนยันถึงความจริงใจและความตั้งใจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และเห็นความสำคัญกับการประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นตัวอย่างสำคัญ ซึ่งทางกระทรวงมีความมุ่งมั่นผลักดันช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ดินที่ครอบครองอยู่หากไม่ได้ใช้ ก็ผลักดันให้พี่น้องได้ใช้ประโยชน์ ผ่านการทำงานร่วมกันกับประชาชน

ไพโรจน์ งามจรัส ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เข้าใจวิถีชีวิตของพี่น้อง แต่กระบวนการกฎหมายของราชการมีความซับซ้อน หากไม่ใช้กฎระเบียบกำกับราชการจะเข้าข่ายทุจริต เป็นเหตุผลให้กระบวนการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเกิดความล่าช้า โดยชี้แจงว่าข้าราชการไม่มีแนวคิดที่จะหวงห้ามพื้นที่โดยเหตุผลส่วนตัว และยินดีที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ ทั้งนี้ได้แสดงความชื่นชมภาคีเครือข่ายที่ช่วยทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ พร้อมแสดงความยินดีกับกระบวนการพัฒนาพื้นที่ที่สำเร็จแล้วระดับหนึ่ง

มงคล นวลเกลี้ยง ผู้อำนวยการ แขวงทางหลวงกรุงเทพฯ กล่าวว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของ กรมทางหลวง จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามความรับผิดชอบ เมื่อมีนโยบายที่จะปรับรูปแบบร่วมกับเครือข่ายชาวบ้าน แสดงความยินดีที่ได้มีการตกลงร่วมกันในการแบ่งปันพื้นที่แบบที่ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย

อราม สะอาด ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ราชพัสดุ 2 กองบริหารที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ระบุว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหา โดยการเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ โดยชาวบ้านต้องจัดตั้งสหกรณ์ของชุมชน และได้รับการรับรองจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนแล้ว ทางกรมธนารักษ์ยินดีที่จะจัดให้ชาวชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมืองเช่าเพื่อเป็นที่พักอาศัยต่อไป

สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แสดงความยินดีกับชาวบ้านชุมชนสะพานร่วมใจดอนเมือง พร้อมกล่าวว่า เป็นรูปธรรมความสำเร็จ เมื่อทราบว่ากรมทางหลวงได้ส่งมอบที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ก็รู้สึกยินดี ซึ่ง พอช.​ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องโครงการบ้านมั่นคง หลังบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ถ้าชุมชนจัดตั้งเป็นสหกรณ์และดำเนินการตามระเบียบแล้ว ทาง พอช. มีแนวทางที่จะส่งงบประมาณเพื่อสนับสนุนเรื่องระบบสาธารณูปโภค เช่น ถ้ามี 100 ครัวเรือน จะมีเงินสนับสนุนราว 5 ล้านบาท แต่จะต้องมาพิจารณาว่าจะใช้อย่างไร ส่วนถัดมาคืองบประมาณบำรุงที่อยู่อาศัย สำหรับการสำรวจ ปรับปรุงบ้าน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับสำนักงานเขตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงได้

คมสันต์ จันทร์อ่อน เลขา สลัม 4 ภาค บอกว่า อยากให้เป็นโมเดลในการแชร์พื้นที่ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เพราะการแก้ปัญหาแบบนี้ให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย หน่วยงานรัฐไม่ต้องทะเลาะกับชุมชน และร่วมพัฒนากันได้ ส่วนชาวบ้านก็มีที่อยู่อาาศัยที่มั่นคงกว่าเดิม และวันนี้เห็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประกาศการพัฒนาชุมชนร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active