‘สมรสเท่าเทียม’ มีแล้ว เขต-อำเภอ พร้อมหรือยัง ?

‘รองผู้ว่าฯ ศานนท์’ ย้ำ 50 เขต ต้องพร้อมจดทะเบียน 22 ม.ค.68 ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ขณะที่ กรมการปกครอง เตรียมซักซ้อมระบบจดทะเบียนสมรส ธ.ค.นี้

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ สมรสเท่าเทียม โดยมีผลบังคับใช้หลังจากนี้ 120 วัน หรือ ตั้งแต่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในการ รับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย หญิง โดยแก้ไขคำว่า ชาย และ หญิง เป็น บุคคล และเรียกคู่สามี-ภรรยา เป็น คู่สมรส

ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้จัดเวที “เตรียมประเทศไทยสู่กฏหมายสมรสเท่าเทียม” เนื่องจากมองว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ภาคส่วนต่างๆ มีความพร้อมภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยครั้งประวัติศาสตร์ แล้วหรือไม่

นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน บอกว่า นอกจากสิทธิ หน้าที่ ตามกฎหมายสมรสเทียมแล้ว อนาคตยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับที่ควรต้องได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่อง คำนำหน้า คำที่เป็นกลางเพศ การมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีในกฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้จัดทำข้อสังเกตส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อ 13 ส.ค.67

ส่วนข้อสงสัยต่อกฎหมายฉบับนี้ คือ หากคู่สมรสเป็นคนต่างชาติ จะสามารถจดทะเบียนกันได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องสัญชาติ แต่ปัญหาอยู่ที่ ‘เงื่อนไขในการได้มาซึ่งสัญชาติ’ ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ

“พ.ร.บ.สัญชาติ ยังมีร่องรอยที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ เช่น การกำหนดให้ผู้หญิงต่างสัญชาติต้องสามารถพูดภาษาไทยได้ แต่หากเป็นผู้ชายต่างสัญชาติกลับไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งทันทีที่สมรสเท่าเทียมใช้คำว่าคู่สมรส แทนที่ สามี-ภรรยา และ บุคคล แทนที่ชาย-หญิง คนที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ยินดีที่จะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องนี้ด้วยหรือไม่”

นัยนา สุภาพึ่ง

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานตัวแทนจากภาครัฐ เปิดเผยว่า วันนี้กรุงเทพมหานคร มีความพร้อมอย่างมาก จากการทดลองให้บริการ “จดแจ้งชีวิตคู่” เมื่อวาเลนไทน์ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งหมด 164 คู่ ถือเป็นการซักซ้อมให้กับเจ้าหน้าที่ แต่หากอนาคตกฎหมายผ่านทุกอย่างก็พร้อม เพื่อการเป็นเมืองที่โอบรับความหลากหลาย

“ยืนยันว่าทุกสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ พร้อมจดทะเบียนทันที และพร้อมจดในวันพรุ่งนี้ด้วยซ้ำ หากกฎหมายผ่านบังคับใช้”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

อย่างไรก็ตาม ศานนท์ บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับเพศ เนื้อตัวร่างกายจะมีปัญหาเสมอ โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่เจ้าตัว เช่น แก้ระเบียบทรงผม สะท้อนว่าเพียงกฎหมายไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ถ้าสถานที่สังคมรอบข้างไม่พร้อม ทุกภาคส่วนจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศไปในกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น โรงเรียน

กรมการปกครอง เตรียมซักซ้อมระบบจดทะเบียนสมรส ธ.ค.นี้

วันนี้ (25 ก.ย.67) ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ กรมการปกครอง โดยสำนักบริหารการทะเบียนให้เตรียมการส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยให้มีความพร้อมให้คู่สมรสที่ประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ให้ได้รับความสะดวก เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ช่วงที่ผ่านมากรมการปกครอง ได้เตรียม ทั้งการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนทั้งในสำนักทะเบียนอำเภอและสำนักงานเขต เตรียมระบบคอมพิวเตอร์ และแบบพิมพ์ต่าง ๆ และจะดำเนินการซักซ้อมทดลองระบบก่อนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 และสามารถปฏิบัติงานจริงตามที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568             

นอกจากนี้ ได้ซักซ้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้การเปิดให้บริการการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม โดยการแจ้งซักซ้อมทำความเข้าใจผู้ปฎิบัติงานทั้งทางแจ้งเป็นหนังสือและการ ชี้แจงผ่านระบบซูมทั่วประเทศและแจ้งประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางการสื่อสาร เช่น เว็บไซต์กรมการปกครอง การประชาสัมพันธ์โดยสำนักงานเลขานุการกรม การแจ้งผ่านผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน

“กฎหมายประกาศเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67 และจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ 23 ม.ค. 68 นายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ/สำนักงานเขต ทุกแห่งต้องสามารถให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ณ วันที่กฎหมายมีผลบังคับให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

โฆษกกระทรวงมหาดไทย อธิบายถึงกรณีที่ได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรอบเวลาเริ่มบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ตามที่กฎหมายได้กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับเมื่อพ้น 120 วันแต่ประกาศนั้น กรมการปกครองได้ยึดการนับวันบังคับตามแนวคำพิพากษาซึ่งมีการนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา และแม้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 10) ที่ให้เริ่มนับหนึ่งในวันประกาศราชกิจจาฯ แต่โดยทั่วไปและที่ผ่านมา กรมการปกครองจะเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในที่นี้กฎหมายครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ม.ค. 68 จึงจะมีผลใช้บังคับ วันที่ 23 ม.ค. 68 (เมื่อพ้น 120 วัน)

ขณะเดียวกัน ช่วงเย็นวันนี้ คณะทำงานบางกอกไพรด์ พร้อม คณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม จัดกิจกรรม LOVEWINS ACTION เฉลิมฉลองที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคน พร้อมเปิดรับลงทะเบียนแบบฟอร์มคู่รัก เพื่อเป็นกลุ่มแรกของประวัติศาสตร์ที่จะจดทะเบียนสมรส ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ณ สยามสแควร์ วอร์คกิ้งสตรีท

“การเตรียมงานแต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+ และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 1,448 คู่ นฤมิตไพรด์ได้จัดเตรียมงานไปมากกว่า 50% แล้ว และขณะนี้มีคู่รัก LGBTQIAN+ สมัครเข้ามาเรื่อยๆ และต่อเนื่องกว่า 183 คู่แล้ว ซึ่งการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ประเทศไทยครั้งนี้นฤมิตไพรด์ มีเป้าหมายจัดงาน “แต่งงาน คู่รัก LGBTQIAN+” และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วย”

อรรณว์ ชุมาพร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active