ลุ้น ‘สมรสเท่าเทียม’ บังคับใช้ มกราคมปีหน้า

ภาคประชาชน จัดเวทีเคลียร์คำถามเส้นทางกฎหมาย พร้อมเดินหน้าจดทะเบียนสมรสคู่รัก 1,000 คู่ ทันที

วันนี้ (20 ก.ย.67) นฤมิตไพรด์ คณะทํางานสมรสเท่าเที่ยมภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “เตรียมประเทศไทยสู่กฏหมายสมรสเท่าเทียม” ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ…. จากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยในช่วงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ดำเนินการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : สมรสเท่าเทียม เส้นทาง…กว่าจะเป็นกฎหมาย

อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตไพรด์ และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน บอกว่า หากเป็นไปตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ร่างฯ อยู่ระหว่างรอทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน จึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 ต.ค.นี้ และให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย 120 วันหลังประกาศ ซึ่งคาดการณ์ว่า อย่างเร็วที่สุด คู่รักเพศหลากหลายจะได้จดทะเบียนสมรสในวันที่ 30 มกราคม 2568

อรรณว์ ชุมาพร

“ความก้าวหน้าในครั้งนี้นอกจากขอบคุณกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) และประชาชนที่ร่วมสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ต้องขอบคุณอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เสนอร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างรวดเร็ว ซึ่งสมรสเท่าเทียมที่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย จำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงค์ทางการเมือง”

อรรณว์ ชุมาพร

นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และกรรมาธิการสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน บอกว่า การจดทะเบียนสมรส ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัว คู่สมรสอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน และความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินของคู่สมรส สินสมรส สินส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หน่วยงานรัฐทุกองค์กรต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายอีกจำนวนมาก เพื่อให้คู่สมรสได้รับสิทธิ หน้าที่ และสถานะครอบครัว ตามหลักการความเสมอภาค

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.ได้สนับสนุนสิทธิการสมรสเท่าเทียมมาโดยตลอด เชื่อว่า การให้สิทธินี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องความรัก และครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงสามารถช่วยลดความแตกต่างในสังคม และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

วันนี้ กทม. มีความพร้อมอย่างมากสำหรับผู้ปฏิบัติงานในทุกเขตในการจดทะเบียนให้กับคู่รักหลากหลายทางเพศ หรือ คู่รัก LGBTQIAN+ เพราะ กทม. คือ เมืองที่โอบรับความหลากหลาย เช่น แผนอบรมเจ้าหน้าที่หากกฎหมายมีความชัดเจน การเตรียมความพร้อมของสังคมที่เกี่ยวข้องกับเมือง

“ที่ผ่านมาการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับเพศ เนื้อตัวร่างกายจะมีปัญหาเสมอ โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่เจ้าตัว เช่น แก้ระเบียบทรงผม สะท้อนว่าเพียงกฎหมายไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ถ้าสถานที่สังคมรอบข้างไม่พร้อม ทุกภาคส่วนจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศไปในกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น ที่โรงเรียน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ในกิจกรรมยังเปิดช่องทางลงทะเบียนสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ โดยคู่รักทุกเพศที่ต้องการจดทะเบียนสมรส สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า พร้อมเดินหน้าจัดงานสมรส และจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมกว่า 1,000 คู่ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทันที เมื่อมีประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทยออกมาอย่างเป็นทางการ

ลงทะเบียนแบบฟอร์มคู่รักสมรสเท่าเทียม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active