วอนสื่อเลิกพาดหัวข่าว ด้วยอคติต่อชุมชน ‘คนข้ามเพศ-Intersex’

เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร้อง กสม. ตรวจสอบสื่อออนไลน์ กรณี ‘อิมาน เคลิฟ’ ชี้สร้างมาตรฐานใหม่ นำเสนอข่าวที่เคารพสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (22 ส.ค.67) เครือข่ายทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ เพื่อความเท่าเทียม  (TransEqual) และกลุ่ม Intersex Thailand องค์กรที่ทำงานปกป้อง ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะ ทอม ผู้ชายข้ามเพศ นอนไบนารี่ และ Intersex เข้ายื่นหนังสือต่อ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยระบุขอให้ กสม. พิจารณาตรวจสอบการนำเสนอข่าวของ ไทยรัฐออนไลน์ กรณี อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) นักชกหญิงชาวแอลจีเรีย กีฬาโอลิมปิก 2024

เนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า กรณีการนำเสนอข่าวอัตลักษณ์ทางเพศของ อิมาน เคลิฟ นักชกหญิงชาวแอลจีเรียของไทยรัฐออนไลน์ ที่กล่าวถึงการมี โครโมโซม XY ของนักชกหญิงคนดังกล่าว ในฐานะนักชกไม่ผ่านการตรวจเพศ ในขณะที่เธอกำลังเป็นคู่แข่งของนักชกหญิงชาวไทย ซึ่งเป็นคนที่แตกต่างทางด้านเชื้อชาติและสัญชาติกับคนไทย

อิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย (ชุดแดง) ในวันทำการแข่งขันกับ แองเจลา คารินี จากอิตาลี (ภาพ : AFP)

โดยเฉพาะ การเลือกใช้ภาพถ่าย ที่มีลักษณะการแสดงออกที่แตกต่างจากกรอบค่านิยมของความเป็นหญิงตามบรรทัดฐานของสังคม เพื่อกระตุ้นอารมณ์ของคนหมู่มากพร้อม พาดหัวข่าว เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บนเนื้อตัวร่างกายบุคคลอื่น ซึ่งเป็นคู่แข่งกับคนสัญชาติไทย จนทำให้เกิดการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะของการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้หญิง กลุ่มคนข้ามเพศ และกลุ่มคน Intersex ในพื้นที่ออนไลน์ โดยมีผลที่เกิดขึ้น เช่น “ผู้หญิงในร่างชายแท้” “กะเทย” “กะเทยแปลงเพศ”

“กรณีดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนคนข้ามเพศ หากแต่ยังส่งผลยิ่งต่อชุมชนอินเตอร์เซ็กส์ โดยเฉพาะถ้อยคำที่กล่าวว่า บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง มีโครโมโซม XY ‘เป็นความผิดปกติทางเพศ’ และ ‘เป็นตัวประหลาด’ ที่มีลักษณะของการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างของคุณลักษณะทางเพศ การแสดงออกทางเพศ เพศ ไปจนถึงเชื้อชาติและสัญชาติของบุคคลในข่าว ตลอดจน ผู้หญิง ที่มีคุณลักษณะทางเพศที่แตกต่าง การแสดงออกทางเพศที่แตกต่าง กลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มคนอินเตอร์เซ็กส์อย่างร้ายแรง”

เหตุนี้จึงขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พิจารณาและมีข้อเสนอแนะเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่บุคคลในข่าวเป็นคนสัญชาติหรือเชื้อชาติอื่น และเป็นคู่แข่งกับบุคคลสัญชาติไทย การนำเสนอข่าวที่เคารพและไม่กระตุ้นหรือปลุกเร้าให้เกิดการโจมตีด้วยความเกลียดชัง เพราะความแตกต่างทางด้านสัญชาติหรือเชื้อชาติควรเป็นแบบใด

  2. ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลในข่าวที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้เปิดเผยด้วยตนเอง การนำเสนอข่าวที่เคารพสิทธิมนุษยชนควรเป็นไปในรูปแบบเช่นใด

  3. การแสดงออกที่แตกต่าง เนื่องจากคุณลักษณะทางพันธุกรรม เชื้อชาติ สัญชาติ และสีสีผิว รวมถึงคุณลักษณะทางเพศของบุคคลในข่าว เมื่อนำมาเสนอข่าวต่อสาธารณะชน สื่อควรนำเสนอในรูปแบบใด จึงจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเคารพต่อบุคคลอื่น และเป็นมาตรฐานอันเป็นสากลของการเคารพสิทธิมนุษยชนในการนำเสนอข่าวของบุคคลในสื่อ
สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุภัทรา ระบุด้วยว่า ตนเองจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ซึ่งจะเปิดโอกาสผู้ถูกร้องชี้แจง มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เพื่อสรุปว่าจะมีแนวทางอย่างไร เช่น ประสานคุ้มครอง ช่วยเหลือ ตรวจสอบ ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ส่งเสริม

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นแม้ที่ผ่านมาจะมีสมาคมสื่อต่าง ๆ หรือเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ออกแบบคู่มือในการนำเสนอข่าวเพื่อลดการตีตรา เลือกปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายฉบับ แต่เนื่องจากยังไม่มีการสอบ หรือบทลงโทษที่ชัดเจน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เนื่องจากมีความละเอียดอ่อน และกังวลว่าจะถูกใช้เพื่อปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่การใช้ถ้อยคำในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม ด้อยค่า และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการที่จะกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งมิได้

ทั้งนี้มองว่า หากมีการส่งเสริม สร้างความเข้าใจโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เช่น การเปิดเวทีพูดคุยแสดงความเห็นข้อห่วงใยการนำเสนอของสื่อในมิติของเพศ เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรหรือข้อมูลที่มีอยู่ ให้มีการระมัดระวังเข้าใจความละเอียดอ่อน ต่ออคติทางเพศมากยิ่งขึ้น อย่างกว้างขวาง หรือเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active