LGBTQIAN+ ไม่เคยอ่อม ส่งท้ายเดือนไพรด์ ด้วย Thailand Pride

29 มิ.ย.นี้ ตอกย้ำ “สมรสเท่าเทียม” เคลื่อนได้ด้วยชุมชน ประเดิมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก หวังกระจายพื้นที่จัดกิจกรรมในเมือง สู่การโอบรับความหลากหลายที่แท้จริง

อีกเพียงไม่กี่วันจะผ่านพ้นเดือนเฉลิมฉลองให้กับความภาคภูมิใจในความหลายหลายทางเพศ (Pride Month) แต่ภาคประชาชนยังคงจัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งขบวนไพรด์พาเหรด และเวทีเสวนาเพื่อสื่อสารความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ กับสิทธิมนุษยชน และนโยบายสาธารณะ

Thailand Pride หนึ่งในกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28-30 มิ.ย.67 โดยคณะทำงานหลายภาคส่วน เช่น ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจ และพันธมิตรเครือข่ายอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย รวมไปถึงในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค  สหประชาชาติ สถานทูต องค์กรไม่แสวงหาผลกําไร ฯลฯ ในการผลักดันความเป็นธรรมทางเพศ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงกฎหมายและสวัสดิการ 

ไฮไลท์วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ขบวนพาเหรด Thailand Pride @Bangkapi 2024 ภายใต้ธีม “The Art of Togetherness ศิลปะของการอยู่ร่วมกัน” เส้นทางจากหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ถึง เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ระยะทาง 1.2 ก.ม. ตั้งแต่เวลา 13.00 – 18.45 น. โดยรูปขบวนประกอบด้วย

  • Thailand Pride – ขบวนผู้นําทางการเมืองของไทย ผนึกกําลังกับคณะกรรมการไทยแลนด์ ไพรด์ ขบวนแห่งความภาคภูมิใจ เพื่อแสดงการสนับสนุนและความสามัคคี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของก้าวสําคัญสู่การยอมรับ และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม เช่น คณะทํางาน Thailand Pride กระทรวงต่างๆ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB), สำนักงานเขตบางกะปิ และองค์กรผู้ร่วมจัดงาน

  • Rights: LGBTQ NGO Communities Creative Economy – กลุ่มนักเคลื่อนไหว ผู้สนับสนุนสิทธิ และพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ เดินขบวนร่วมกันอย่างภาคภูมิใจเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อสู้เพื่อสิทธิ แสดงถึงสัญญาณแห่งความหวังและความเปลี่ยนแปลงจากผู้คนที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อทลายกำแพงที่มีในสังคม และสร้างเสริมสังคมที่เต็มไปด้วยความเคารพกันและไร้ซึ่งการแบ่งแยก เช่น เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ, เครือข่ายชมรม สถาบันการศึกษา, มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA), สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย, APCOM, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ฯลฯ

  • Creative Economy – พื้นที่ของเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ เช่น Thai Boxing ,BL Series ,Queer Film ร้านนวด เป็นต้น เพื่อส่งเสริม และแนะนำให้ผู้เข้าร่วมขบวนและนักท่องเที่ยวได้รู้จักธุรกิจเหล่านี้ เช่น BeyonceThailand , มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (RBAC) ฯลฯ

  • Public Sector – การมีส่วนร่วมของกระทรวงต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชน LGBTQIAN+ ความร่วมมือนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐต่อประเด็น LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ

  • Global Friends – สัญลักษณ์ของความสามัคคี และการสนับสนุนระหว่างประเทศ ในการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมครั้งสำคัญนี้ นอกจากยกระดับความสำคัญของงาน Thailand Pride สู่สายตาสังคมโลกการมีส่วนร่วมของตัวแทนจากหลากหลายประเทศ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการทูต ในการพัฒนาสิทธิ LGBTQIAN+ และตอกย้ำความมุ่งมั่นของชุมชนทั่วโลกในการส่งเสริมความเสมอภาค และเท่าเทียม เช่น Accenture Thailand, Thailand ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ฯลฯ

  • Communities – ขบวนที่ผู้คนหลากหลายร่วมแสดงตัวตน แสดงออกถึงความอิสระในสังคมไทย รวมถึงวัฒนธรรมย่อย และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น Miss LGBT Thailand, impulse Bangkok, Thailand Pride, ภาคประชาชน ฯลฯ

  • Alliances & LGBTQ Friends – สัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และชุมชนรวบรวมผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมแสดงเจตนารมย์ในการสนับสนุนสิทธิ และความเท่าเทียม เป็นการเชิญชวนผู้คนจากทุกสาขาอาชีพโดยไร้ซึ่งการแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของอัตลักษณ์ รสนิยม หรือภูมิหลัง ผู้เข้าร่วมและผู้ชมรวมตัวกันในขบวนนี้เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพ และตัวตนที่หลากหลายร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในพื้นที่แห่งความสุข การยอมรับ และความภาคภูมิใจ เช่น พรรคก้าวไกล และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน ฯลฯ
กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ Thailand Pride

กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ Thailand Pride กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดไพรด์พาเหรดในครั้งนี้ที่จัดขึ้นย่าน บางกะปิ ว่า มีเหตุผลหลัก 2 ปัจจัยด้วยกัน อย่างแรกคือ ไม่ต้องการให้การจัดงานหรือเทศกาลไพรด์ใน กทม. ถูกจำกัดอยู่แค่ใจกลางเมือง แต่ควรจะเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ที่ ทุกฝั่งของเมือง จึงเริ่มต้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกก่อน และขยายไปยังฝั่งอื่น ๆ ในปีถัดไป 

ส่วนปัจจัยรองลงมา คือ ศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้ง ซึ่งให้บริการตรวจเอชไอวีและซิฟิลิส รวมถึงบริการส่งต่อรักษาตามสิทธิการรักษาโดยชุมชม LGBTQIAN+ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รามคำแหง ซึ่งพบว่า กทม. ฝั่งตะวันออกมีจำนวนของ LGBTQIAN+ อยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ทั้งคนในพื้นที่ ประชากรแฝง และเยาวชนที่เข้ามาศึกษา กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีทั้งบาร์ สถานบันเทิงเฉพาะชุมชน LGBTQIAN+ และสถาบันการศึกษาที่เคารพสิทธิมนุษยชน ออกระเบียบให้นิสิต นักศึกษาแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพได้ นัยยะแฝงจึงเป็นเสมือนชุมชนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่ม  LGBTQIAN+

“อนาคตไพรด์ควรจะ everytime everywhere การปักหมุดฝั่งตะวันออกของ กทม. ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คน น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป รวมไปถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมความเท่าเทียมอื่นๆ ที่ไม่จำกัดด้วยช่วงเวลา และสถานที่ เพราะสมรสเท่าเทียมเป็นประตูบานแรกของความเท่าเทียม” 

กิตตินันท์ ธรมธัช

ขณะที่กิจกรรมในวันที่ 27-30 มิ.ย.67 มีนิทรรศการ PROUD TO BE PRIDE และเวที ปาฐกถา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้การมีตัวตน ยอมรับ เข้าใจ นํามาสู่การยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ ขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศ และการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชนกับภาคประชาประชาสังคม รวม ถึงร่วมแสดงพลงการรวมตัวของความหลากหลายทางเพศ ทุกอัตลักษณ์ จนถึงความร่วมมือระดับโลกเพื่อส่งเสริมประเทศในกลยุทธ์ การประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพ World Pride และกิจกรรมส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในด้านอื่น ๆ ในโอกาสเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้

สำหรับกิจกรรมขบวนพาเหรด Thailand Pride ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ สามารถรับชมบรรยากาศสด ได้ทุกช่องทางออนไลน์ของ The Active และ Thai PBS ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active