“เพศกำหนดเอง” ศิลปะสะท้อนความเท่าเทียม ที่ยังต้องเดินหน้าต่อ

BACC จัดนิทรรศการฉลองเดือนไพรด์ 2024 สร้างพื้นที่แสดงออกผ่าน 40 ผลงานภาพวาด ชี้กฎหมายรับรองเพศสภาพภาคประชาชน กำหนดภาพลักษณ์ของเมือง ที่โอบรับความหลากหลาย

ช่วงนี้หากใครผ่านไปบริเวณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) คงสะดุดตากับภาพวาดขนาดใหญ่ นี่เป็นหนึ่งในกิจกรรม Bangkok Pride Festival 2024 เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและความภาคภูมิใจ จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 4 มิ.ย.67

ภาพ“My Body, My Choice” ผลงานโดย สุรศักดิ์ จงสมจิตต์ : Thai TGA

“My Body, My Choice” ผลงานโดย สุรศักดิ์ จงสมจิตต์ ผู้ชนะเลิศจากการประกวดภาพ “Gender of My Choice” โดยผลงานดังกล่าวต้องการสะท้อนถึงความลื่นไหลทางเพศสภาพของบุคคล ว่า สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงวัย หรือความรู้สึกนึกคิดในช่วงเวลานั้น ๆ ประกอบกับโลกยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย การกำหนดว่าบุคคลใดเป็นเพศใด หญิงหรือชายจึงเป็นแนวคิดที่แคบเกินไป และการปรับปรุง รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตัวตนของบุคคลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น

การประกวด “Gender of My Choice” จัดขึ้นโดย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) เพื่อสร้างพื้นที่ในการแสดงออกถึงสถานการณ์กฎหมายกำหนดสถานะบุคคลของไทย ที่ในปัจจุบันยังครอบคลุมเพียงเพศชายและเพศหญิง ซึ่งอาจทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ถูกละเลย เลือกปฏิบัติ และเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสต่าง ๆ โดยมีผลงานที่เข้าร่วมการประกวดรวมแล้วประมาณ 40 ผลงาน

รตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA)

The Active พูดคุยกับ รตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกวดในครั้งนี้ ว่า เป็นครั้งแรกที่ทางมูลนิธิได้จัดการประกวดภาพวาด โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจคือ ต้องการส่งเสริม และสนับสนุนกฎหมายรับรองเพศสภาพภาคประชาชน ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมในการประกวด และการรับรู้ของคนในสังคมต่อความจำเป็นของกฎหมายดังกล่าว โดยใช้งานศิลปะในการสื่อสาร ภายใต้แนวคิด Gender of My Choice ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ Gender is not my choice เพราะเพศมักถูกกำหนดโดยรัฐและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่แบ่งคนเป็นสองเพศ และสังคมก็ตีกรอบบทบาททางเพศมาอย่างชัดเจน

กฎหมายรับรองเพศสภาพภาคประชาชน หรือ ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ นี้เป็นร่างกฎหมายที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน โดยยึดมั่นในหลักการกำหนดหรือตัดสินใจด้วยตัวเอง (Self-Determination) โดยให้ความสำคัญกับการที่รัฐต้องรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น เช่น สิทธิในการใช้คำนำหน้านามให้สอดคล้องกับเพศสภาพ เพื่อให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ได้เข้าถึงสิทธิและโอกาสที่ควรจะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของสังคมไทย

“เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรมและภาษา ซึ่งการจะสร้างความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นได้ ต้องเปิดเสรีภาพให้กับประชาชน และส่งเสริมความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงความเป็นเพศของประชาชนและพลเมือง ภายใต้หลักการสากลคือ Self-determination”

รตี แต้สมบัติ

รตี บอกด้วยว่า ไม่ว่าบุคคลจะมีความแตกต่างทางร่างกายใด ๆ ก็ตาม ความเป็นเพศคือ อำนาจภายในที่ทุกคนมีในตัวในการบอก ว่าตัวเองเป็นเพศอะไร และสิ่งนี้เป็นอำนาจที่ประชาชนต้องดึงกลับมา เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะมากำหนดเพศของประชาชนตามเพศกำเนิด แต่เป็นสิทธิและหน้าที่ของตัวประชาชนเอง

นิทรรศการภาพวาด “Gender of My Choice เพศกำหนดเอง” นี้จะเป็นการเผยแพร่ บอกต่อและสื่อสารภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะที่ผ่านมา ภาพของกลุ่มคนเหล่านี้มักถูกนำเสนอแบบผลิตซ้ำมาโดยตลอดผ่านสถาบันสื่อ ทั้งการเป็นตัวตลก มีความผิดปกติ ความแปลกประหลาดและอารมณ์รุนแรง แต่การนำเสนอนิทรรศการภาพนี้จะช่วยให้ผู้คนเห็นมิติที่หลากหลายขึ้น และภาพที่จัดแสดงทั้งหมดจะสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่อุดมสมบูรณ์บนแผ่นกระดาษ และภายใต้สีสันต่าง ๆ ที่เจ้าของผลงานแต่ละคนรังสรรค์ขึ้นอย่างเต็มความสามารถ

ภาพ : Thai TGA

มูลนิธิฯ ยังรู้สึกขอบคุณและภาคภูมิใจที่ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากเจ้าของผลงานศิลปะที่ยินดีให้ผลงานของตัวเองนำมาจัดแสดง เพื่อสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ ซึ่งผลงานที่ส่งมามีตั้งแต่จากระดับศิลปินที่วาดภาพเป็นอาชีพจนถึงระดับเยาวชน จึงไม่สามารถตัดสินได้ว่า ภาพไหนสวยกว่าภาพไหน แต่ทุกภาพมีคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“แม้นิทรรศการจะมีเวลาจัดแสดงที่จำกัด แต่ทางมูลนิธิฯ อยากเห็นว่า คนที่มาใช้พื้นที่เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่จำเป็นว่า ทุกคนที่มาร่วมนิทรรศการจะต้องสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เราอยากฟังความเห็นต่างที่แลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานของการไม่ตัดสิน และการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้นิทรรศการกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สวยงาม”

รตี แต้สมบัติ
ภาพ : Thai TGA

นอกจากการจัดแสดงผลงานภาพวาดแล้ว นิทรรศการ “Gender of My Choice เพศกำหนดเอง” ยังมีนิทรรศการฉายคลิปวิดีโอและหนังสั้นที่มีเนื้อหาของประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการขาดกฎหมายรับรองเพศสภาพในไทย และยังมีพื้นที่ทางศิลปะให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถได้ออกแบบผลงานศิลปะได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนความคิดกัน หรืออาจมาพร้อมการตั้งคำถามหรือข้อสงสัย แต่เมื่อได้ชมนิทรรศการและร่วมพูดคุยแล้ว ทุกคนจะได้เรียนรู้ และได้บางสิ่งบางอย่างกลับไปอย่างแน่นอน

สำหรับภาพ “My Body, My Choice” ขึ้นโชว์หน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ไปตลอดช่วงเดือนไพรด์ (29 พ.ค. – 29 มิ.ย. 67) และอีก 35 ผลงานจากการประกวดวาดภาพได้จัดแสดงอยู่บริเวณ ห้อง New Gen Space: Space for All Generation ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 67 เวลา 10.00 – 20.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย