‘ครูหยุย’ เชื่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ผ่านฉลุย!

LGBTQIAN+ เตรียมรับของขวัญ Pride Month ชี้ ‘สมรสเท่าเทียม’ สารตั้งต้น เดินหน้าสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายอื่น ๆ เพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ จี้หน่วยงานรัฐติดตามกฎหมายอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (30 พ.ค. 67) ครูหยุย – วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “เห็นชอบ” ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวาระสาม และวุฒิสภาก็ให้ความเห็นชอบในวาระหนึ่งไปแล้ว โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา วาระสอง สาม ในการประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ในวันที่ 18 มิ.ย 67

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม คือ การแก้ไขให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดก็สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิหน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกัน โดยแก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส”

(ข้อมูลจากรัฐบาลไทย : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/75243)

ครูหยุย มองว่า กฎหมายฉบับนี้ มีความพิเศษกว่ากฎหมายฉบับอื่น ๆ ซึ่งเห็นได้น้อยในสภาฯ เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่มีการกำหนดรายละเอียดลักษณะแบบนี้ โดยส่วนใหญ่หลักการ และเหตุผลของกฎหมายฉบับอื่นจะเห็นเป็นรายเอียดคร่าว ๆ เท่านั้น แต่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฉบับนี้ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้างต้น ดังนั้น การที่มีกฎหมายซึ่งเขียนรายละเอียดชัดเจนและยังผ่านการรับหลักการอย่างเป็นเอกฉันท์ทั้ง 2 สภาฯ จึงเชื่อว่าในการประชุมสภาฯ ที่จะถึงนี้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะสามารถผ่านการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาอย่างแน่นอน

หาก พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม ผ่านด่านวุฒิสภา แล้วยังไงต่อ ?

ครูหยุย บอกด้วยว่า หลังจากที่ พ.ร.บ สมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภาในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องติดตาม และเร่งแก้กฎหมายต่าง ๆ เนื่องจากกฎหมายนี้เปรียบเสมือนสารตั้งต้นเปิดให้มีกฎหมายอื่น ๆ ตามมา โดยเร่งให้ร่างกฎหมายระหว่างที่รอเข้าสภาภายใน 120 วัน เพื่อเตรียมพร้อมให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 70 ฉบับ ตามมาอย่าง พ.ร.บ. สัญชาติ, การอุ้มบุญ หรือการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ผมว่าส่วนราชการหลายส่วน ควรดูกฎหมายไปพร้อมกัน และหวังว่าจะมีการเร่ง โดยเฉพาะสิ่งที่ง่ายที่สุดคือ เร่งกฎระเบียบประกาศ ซึ่งสามารถทำได้ โดยไม่ต้องเข้าสภาฯ”

ครูหยุย – วัลลภ ตังคณานุรักษ์
วัลลภ ตังคณานุรักษ์

เชื่อผ่านกฎหมายไม่น่ามีปัญหาเท่าการปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม แม้มีความเชื่อมั่นว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะสามารถผ่านการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาได้ แต่ครูหยุย ยังกังวลในขั้นตอนการปฏิบัติ ด้วยอุปสรรคทางทัศนคติเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของราชการในส่วนต่าง ๆ ซึ่งจากประสบการณ์แล้วมองว่า กฎหมาย เกือบ 70% ไม่สามารถทำตามหลักการได้เลย และตามระเบียบประกาศการตั้งกรรมการตามกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ไปแล้ว ก็ยังพบว่ากฎหมายกว่าร้อยละ 50 ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

หากว่าบังเอิญส่วนราชการใดมีทัศนคติที่ไม่เข้าใจคำว่าเพศหลากหลาย เขาจะใช้เวลาในการออกกฎกระทรวงนานมาก เถียงกัน ก็ไม่ได้ออกสักที เมื่อไม่สามารถออกได้ กฎหมายก็ไปไม่ได้”

ครูหยุย – วัลลภ ตังคณานุรักษ์

ทางออกที่จะแก้ไขในส่วนนี้ ครูหยุย เสนอให้เขียนข้อสังเกตที่มีรายละเอียดอย่างชัดเจน ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เร่งปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังต้องรายงานความเคลื่อนไหวต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ เช่นเดียวกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ที่ประสบความสำเร็จในการออกมาตรการดังกล่าวในช่วงที่มีการออกกฎหมายที่ผ่านมา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active