ภาคประชาชน ย้ำเป็นอีกก้าวสำคัญ พร้อมชี้แจงยกระดับสิทธิเพศหลากหลายเดินหน้าสร้างครอบครัว ที่ไม่ใช่แค่สิทธิเฉพาะคู่สมรส
วันนี้ (27 มี.ค. 67) ตั้งแต่ช่วงสายที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2 และ 3
ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้กล่าวถึงเงื่อนไขในการชี้แจงต่อที่ประชุม สส. ให้กับตัวแทนร่างฯ ของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน โดยดนุพร กล่าวว่า อยากให้การพิจารณาจบในวันนี้ เพื่อผลักดันเข้าสู่การโหวตในชั้นของวุฒิสภา ทันก่อนปิดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ เพื่อให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในวันนี้ คือวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการโหวตในรายมาตรา ซึ่งในชั้นกรรมมาธิการวิสามัญ ภาคประชาชนและฝ่ายค้าน ได้ขอสงวนไว้ 14 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับ บุพการีลำดับแรก หรือก็คือ ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายในตัวเด็ก จะมีแค่คู่สมรสเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงเครือญาติของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหมายรวมไปถึงผู้ได้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ต้องจัดการเกี่ยวกับมรดก หรือในการตัดสินใจอื่น ๆ ด้วย
อ่านเพิ่ม : ‘สมรสเท่าเทียม’ เข้าสภาฯ วาระ 2-3 ลุ้นสิทธิครอบครัวเพศหลากหลาย
ขณะที่ นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และกรรมาธิการสัดส่วนภาคประชาชน ลุกขึ้นชี้แจงว่า วันนี้ถือว่าเป็นอีกครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากการโหวตในวาระแรกได้รับเสียงจาก สส.ในสภาอย่างถล่มทลาย
หลังจากนั้นได้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย โดยยึดร่างของ ครม. เป็นหลัก พบว่า ร่างฯ ของ ครม. ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ในหลักการไม่ค่อยต่างกัน เพราะยอมรับที่จะให้คู่สมรสเพศหลากหลายสามารถสมรสกันได้ ได้สวัสดิการ สิทธิหน้าที่ในฐานะคู่สมรส เสมอเหมือนคู่สมรสหญิงชายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทุกประการ
แต่ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบิดามารดา และบุตร ในส่วนของฉบับรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปด้วย ภาคประชาชนจึงเตรียมลุกขึ้นชี้แจง 6 คน ในรายมาตราที่เกี่ยวข้องกับ บุพการีลำดับแรก โดยนำเรื่องราวของครอบครัวเพศหลากหลายที่ต้องประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม หรือวิธีการอื่น ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากผลการโหวตในวันนี้ได้รับเสียงโหวตข้างน้อย ภาคประชนชน ยืนยันว่า ยังมีในชั้นของ สว. อีก ซึ่งจากการจัดเวทีเสวนาไปก่อนหน้านี้ก็พบว่า สว.ส่วนหนึ่ง มีแนวคิดสนับสนุนการสร้างครอบครัวของคู่รักเพศหลากหลาย จึงต้องลุ้นต่อในชั้นวุฒิสภาวาระหนึ่ง ว่าจะเห็นด้วยกับภาคประชาชน เพื่อตีกลับมาให้ สส.พิจารณาใหม่อีกครั้งหรือไม่