‘สมรสเท่าเทียม’ เข้าสภาฯ วาระ 2-3 ลุ้นสิทธิครอบครัวเพศหลากหลาย

จับตา สภาฯ 27 มี.ค.นี้ โหวตเห็นชอบ หมวด ‘บุพการีลำดับแรก’ มีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดา-มารดา

วันนี้ (26 ม.ค.67) เว็บไซต์รัฐสภา เผยแพร่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันที่ 27 มี.ค. 67 โดยวาระที่น่าสนใจ คือ วาระร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … หรือ สมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของร่างฯ ที่ กมธ. วิสามัญฯ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับที่เป็นร่างฯ หลักของ ครม. เช่น บุคคลสามารถ หมั้นและสมรสได้ โดยมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมีสถานะทางกฎหมายคือ คู่สมรส ซึ่งหมายถึงมีสิทธิ และหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย อื่น ๆ ด้วย อาทิ สิทธิสวัสดิการราชการ, หักลดหย่อนภาษี รวมถึงบทบัญญัติในกฎหมายอื่นที่หมายถึงสามีภรรยา ให้ได้สิทธิตามการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ โดยการให้กฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

แต่ประเด็นสำคัญที่ยังมีภาคประชาชนสงวนความเห็นไว้ในชั้น กมธ. วิสามัญฯ คือ การเสนอให้เพศใดก็ได้สามารถเป็น ‘บุพการีลำดับแรก’

‘บุพการีลำดับแรก’ หมายถึง พ่อ-แม่ ส่วนบุพการีลำดับถัดไป หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย หรือเครือญาติในลำดับที่ห่างออกไป โดยคำว่า ‘ลำดับแรก’ ในทางกฎหมาย จะยังเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ต้องจัดการเกี่ยวกับมรดก หรือในการตัดสินใจอื่น ๆ

โดยบุพการีลำดับแรก มีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดา มารดา ซึ่งมีความสำคัญมากต่อครอบครัวเพศหลากหลาย ที่ต้องการมีบุตร ในการระบุสถานะที่เป็น คำกลาง อยู่ในกฎหมาย เช่น

แก้ไข มาตรา 1563 บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก

แก้ไข มาตรา 1564 บิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก จำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

แก้ไข มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หรือขอให้บุตรได้รับอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่า กล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

แก้ไข มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก

แก้ไข มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่มีบิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก หรือบิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรกถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้

แก้ไข มาตรา 1598/17 ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นคนไร้ความสามารถและศาลเห็นไม่สมควรให้คู่สมรสอีกฝ่ายเป็นผู้อนุบาลและตั้งบิดาหรือมารดา บุพการีลำดับแรก หรือ บุคคลภายนอกเป็นผู้อนุบาลในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันกับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่ถ้ามีเหตุสำคัญอันจะเกิดความเสียหายแก่คนไร้ความสามารถศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้

แก้ไข มาตรา 1598/21 การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรกของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคนใดคนหนึ่ง

ในส่วนที่ กมธ. เพิ่มขึ้นใหม่ เช่น

มาตรา 66/2 ให้บิดา มารดา หรือ บุพการีลำดับแรก ตามประมวลกฎหมายนี้ถือเป็นบิดา มารดา หรือบุพการี ลำดับแรกที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง กฎหมาย และระเบียบอื่นใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่ บุพการี หรือ บิดามารดา หรือ คำอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นบุพการีลำดับแรก ในบางมาตรา ยังมีความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขในกฎหมายอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 และกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเป็นบุพการีลำดับแรกได้ รวมถึงสามารถนิยามสถานะของตนและคู่ได้ตามกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศได้

ขณะที่ข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญฯ ที่มีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลของร่างฯ ฉบับนี้ เพื่อให้มีความเป็นกลางทางเพศยิ่งขึ้น เช่น

  • คณะรัฐมนตรีควรเร่งรัดการพิจารณาและออกกฎหมาย เกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรเสนอแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก โดยให้ใช้คำว่า บุคคล แทนคำว่า หญิง และคำว่า ชาย เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีความหมายที่เป็นกลางทางเพศและครอบคลุมบุคคลทุกเพศ

  • คณะรัฐมนตรีควรเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ทบทวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นเพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ โดยคำนึงถึงวิถีทางเพศอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคลเพื่อให้บุคคลทุกเพศ ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง และให้หมายความ รวมถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเคารพและคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศตามเจตจำนงของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศข้างต้นด้วย

  • คณะรัฐมนตรีควรเร่งรัด และให้การส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรม เผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แก่บุคลากรของตน รวมทั้งการจัดให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสและครอบครัวหลากหลายทางเพศ อันเป็นการรองรับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน

สำหรับระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียม จะเริ่มพิจารณาในเวลา 09.00 น. ก่อนเปิดให้ สส.โหวตในวาระที่ 2-3 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของสมาชิกวุฒิสภาในวาระแรก

ขณะที่รัฐสภามีกำหนดปิดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 เม.ย.67 นั่นเท่ากับว่า สว. ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระ เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่ ซึ่ง สว.ชุดปัจจุบันยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโหวตผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาฯ สมัยถัดไป คือในเดือน ก.ค. 67

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active