บางกอกไพรด์ 2024 ฉลองรับ ‘สมรสเท่าเทียม’ ได้บังคับใช้ก่อนสิ้นปี

ภาครัฐ-เอกชน-เครือข่ายฯ กว่า 30 องค์กร เตรียมเนรมิตรถนนพระรามที่ 1 จัดขบวนพาเหรดสีรุ้ง 1 มิ.ย.นี้ ก่อนเสนอเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 

วันนี้ (29 ก.พ.67) ที่หอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะทำงานบางกอกไพรด์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย แถลงข่าวการจัดงาน Bangkok Pride 2024 ภายใต้แนวคิด “Celebration Of Love” เพื่อเป็นนับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 

สำหรับการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในปีที่ 3 มีพันธมิตรจากทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) กว่า 30 องค์กร อาทิ เยาวชน หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ พรรคการเมือง ดารา ศิลปิน เวทีประกวดนางงาม และ Drag community ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรม เช่น ไพรด์พาเหรด บางกอกไพรด์ฟอรัม เพื่อสร้างความเข้าใจและผลักดันให้กรุงเทพมหานคร มีคุณสมบัติเป็นเมืองเจ้าภาพของ World Pride 2030 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า ปีนี้ กทม. ใช้ประสบการณ์จากปีที่ผ่านมาในด้านการอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย เช่น การปิดถนนประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในด้านการมีส่วนร่วม มีขบวนของ กทม. ทีมประชาสัมพันธ์ที่เป็น LGBTQIAN+ เนื่องจากในองค์กรมีพนักงานที่เป็นเพศหลากหลาย

ด้านการสนับสนุนคุณภาพชีวิต วาเลนไทน์ 2567 กทม. จัดให้คู่รักเพศหลากหลายร่วมจดแจ้งความรัก ทั้งหมด 165 คู่ ใน 50 เขต หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน คาดว่าจะเป็น 165 คู่แรก ที่ได้จดทะเบียนสมรส รวมถึงการเสนอเป็นเจ้าภาพ world Pride จำเป็นที่ต้องมีกฎหมายก่อน ให้ความสำคัญต่อมิติความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม

“งาน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมได้เห็นว่า LGBTQIAN+ เป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก และเป็นกำลังสำคัญในการผลักให้เมืองมีความน่าอยู่ ดึงดูดมูลค่าการท่องเที่ยวด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่คนที่รอความช่วยเหลืออีกต่อไป กทม.ขอเป็นอีกแรงในการสนับสนุนไปสู่การเป็นเจ้าภาพ World Pride”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า Bangkok Pride 2024 ถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลสนับสนุนด้านงบประมาณ ส่วนปีหน้าที่ประชุมมีมติเห็นว่าควรเพิ่มงบฯ ให้มากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าของปีนี้ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐตื่นตัว และให้ความสำคัญ 

ส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ผลักเข้าสภาฯ โดยได้รับความเข้มแข็งของภาคประชาชนเพิ่มเติมทำให้กฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะมาตราสุดท้ายที่ภาคประชาชนฝากเข้ามาคือ การให้กฎหมายบังคับใช้และมีผลได้รับสิทธิทันทีจนเกิดการปรับแก้ ส่วนอีกฉบับที่จะเข้า ครม. คือ พ.ร.บ.ขจัดการการเลือกปฏิบัติ ส่วนกฎหมายรับรองเพศอยู่ระหว่างการร่างฯ เพื่อจัดทำการรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าถ้ากฎหมายทั้งหมดผ่าน จะทำให้ดัชนีของประเทศไทยดีขึ้น

เช่นเดียวกับ อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. พรรคเพื่อไทย บอกว่า ในฐานะตัวแทนรัฐบาล สมรสเท่าเทียมจะเป็นอย่างแรกที่รัฐบาลต้องทำให้ผ่าน เพื่อไปให้ถึงการเสนอเป็นเจ้าภาพ World Pride 

“ผมเชื่อว่าเราจะได้จดทะเบียนสมรสในปีนี้แน่นอน ส่วนคำนำหน้านาม และ Sex Worker นายกฯ ได้ย้ำว่า ต้องพิจารณาด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ เช่นกัน เพราะจะเป็นหนึ่งในความน่าเชื่อถือต่อการเป็นเจ้าภาพ World Pride ผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนบริบทของสังคมไทย โดยที่ สส.รัฐบาล และฝ่ายค้านได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนสูงสุด”

อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์
อรรณว์ ชุมาพร ประธาน และผู้ก่อตั้งนฤมิตไพรด์

ขณะที่ อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตไพรด์ ระบุถึงเจตนารมณ์ของการจัดงาน บางกอกไพรด์ 2024 ยังคงเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความหลากหลาย ความรักที่ไม่มีข้อจำกัด การรวมไว้ซึ่งความเท่าเทียมสําหรับชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจ และการยอมรับในสังคม 

โดยปีนี้มีแกนหลัก คือ การสนับสนุนและผลักดันให้มีการยอมรับสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย หากฏหมายสมรสเท่าเที่ยมมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2567 นี้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ LGBTQIAN+ แต่งงานกันอย่างถูกกฏหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวเพศหลากหลายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน 

รวมถึงผลักดันให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม, กฎหมายรับรองเพศสภาพ, กฎหมายพนักงานบริการ (Sex Worker) ถูกกฎหมาย และ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกรูปแบบ ตลอดจนทำให้เกิดการยอมรับในสังคมไทย

พร้อมตั้งเป้าเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สําหรับทุกเพศ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok WorldPride ในปี 2030

“บางกอกไพรด์ปีที่ผ่านมานับเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก มูลค่าของโษณา 350 ล้านบาท เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไปเราเชื่อว่าเราคือส่วนหนึ่งที่จะเขยื้อนประเทศไม่ใช่แค่ต้องการความช่วยเหลือ มากไปกว่านั้นการเป็นเจ้าภาพ World Pride เป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด แค่ผ่านกฎหมายให้เรา 3-4 ฉบับ อนุญาตให้เราจัดงานได้เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ได้ในทุกพื้นที่ “

อรรณว์ ชุมาพร

ในงานแถลงข่าว ยังมีคู่รัก LGBTQIAN+ มาร่วมย้ำถึงความสำคัญในการมีกฎหมายรองรับการสร้างครอบครัวเพศหลากหลาย เช่น กัญจน์ เกิดมีมูล และ ปกชกร วงศ์สุภาร์ คู่รักที่นิยามตัวเองว่าเป็นปู่ย่า เคยถูกตีตราว่า “ไปกันไม่รอด” แต่ก็สามารถครองรักกันมากว่า 30 ปี พร้อมสะท้อนถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน จนถึงวันที่เห็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภาฯ และกำลังจะมีผลบังคับใช้

Bangkok Pride 2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย.67 โดยไฮไลท์อยู่ที่เส้นทางขบวนพาเหรดบนถนนพระรามที่ 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งแห่งกรุงเทพมหานคร เรื่อยไปจนถึงสี่แยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันเสารที่ 1 มิ.ย. 67 ตั้งแต่เวลา 15:00 – 21:00 น. นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน มิ.ย.67 หรือติดตามรายละเอียดผ่าน www.bangkokpride.org

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active