ยอดแจ้งความร้องทุกข์ 30,000 คน/ปี หลายคนต้องเข้ารับการบำบัดรักษา ขณะที่หญิงมุสลิมต้องเผชิญการถูกลิดรอนสิทธิ ผนึกกำลังคนรุ่นใหม่ร่วมหาทางออก
ในแต่ละวันมีผู้หญิงไม่น้อยกว่า 7 คน ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ จนต้องเข้ารับการบำบัดรักษา
สถานการณ์ความรุนแรงสะท้อนผ่านตัวเลขหญิงไทยที่ถูกละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความรุนแรงทางด้านร่างกาย จิตใจ พุ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.65แม้เป็นข้อมูลที่ฟังดูน่าหดหู่ และยังขัดกับโอกาสพิเศษในการร่วมเฉลิมฉลองให้กับผู้หญิงทั่วโลก แต่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิงแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันลด และขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นเป้าหมายที่ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย
จากข้อมูลพบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ มีไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน ขณะที่รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน
จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความถี่ในการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5
“ผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่เผชิญความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง จากอคติทางเพศที่ฝังในระบบคิด ติดอยู่ในจารีต และการปฏิบัติในวัฒนธรรมจนส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิง ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจ และอำนาจการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และนโยบายสาธารณะ ที่กำหนดชะตาชีวิต”
ภรณี ภู่ประเสริฐ
ด้านวรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะแกนนำกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญปัญหาการถูกลิดรอนสิทธิ ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมระดับกลไกของรัฐ หรือระดับการเมืองท้องถิ่น ในการช่วยตัดสินใจ ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าควรเป็นเรื่องของผู้ชาย
สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้ความรุนแรงในครอบครัวสูง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น กรณีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรยุ่ง ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากกล้าหาญไปขอความยุติธรรมจากหน่วยงาน แต่จะถูกบอกว่าให้อดทน และการไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ
ทั้งที่ในพื้นที่ผู้ชายมีจำนวนน้อยลงจากการเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ หลบหนีกระบวนการยุติธรรม หรือเจอคดียาเสพติด ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แต่ในระดับการตัดสินใจหรือกลไกต่างๆ กลับให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ 0.05 สะท้อนการให้โอกาสที่น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนในระบบการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หญิงมีสูงกว่าผู้ชาย ทำให้ถูกผลักดันไปเป็นแกนนำ ไปอยู่ในกลไกต่างๆ ทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทำให้ช่วยเหลือได้มากกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมีทั้งเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ผู้หญิงที่หย่าร้าง
“เราต้องการมีตัวแทนผู้หญิงในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อที่จะตัดสินใจร่วมกันได้ โดยเคารพความเป็นมนุษย์เท่ากัน ที่ผ่านมาผู้ชายทำงานเพียง 10 ผู้หญิงต้องทำงาน 100-200 จึงทำให้ยอมรับได้โดยไม่มีข้อกังขา ส่วนตัวกว่าจะทำให้ยอมรับได้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และกว่าจะทำให้ผู้หญิงในพื้นที่มั่นใจในตัวเอง กล้าออกมาส่งเสียง ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับเขา 4-5 ปี ซึ่งปัญหาอุปสรรคยังเป็นเรื่องการยึดมั่นในความเชื่อว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น”
วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ
ปัจจุบัน สสส. ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ได้เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นร่วมหาทางออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงร่วมกัน โดยประกาศรับสมัครเยาวชนรุ่นใหม่ และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน 2565 สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.นับเราด้วยคน.com