‘LBTQ Community Festival’ สะท้อนอัตลักษณ์ สู่นโยบายบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม

เทศกาลส่งท้ายเดือนไพรด์ ด้วยอีกกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ‘LBTQSapphic’ เปิดพื้นที่เรียนรู้ สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสุขภาวะ ปรับมุมมองทางสังคมและรณรงค์เชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม หลังพบเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพเท่าที่ควร

วันนี้ (30 มิ.ย 67) เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (Health and Opportunity Network : HON) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายชุมชน LBTQSapphic และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “เทศกาลส่งเสริมสุขภาวะสำหรับชุมชน LBTQSapphic : LBTQ Community Festival” เพื่อเป็นการรณรงค์สาธารณะเกี่ยวกับสุขภาวะของกลุ่ม LBTQSapphic (กลุ่มหญิงรักหญิง, หญิงรักได้ทั้งสองเพศ, ทอมหรือทรานส์) และเปิดพื้นที่เรียนรู้สำหรับองค์กรเครือข่ายในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสุขภาวะและสะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงปรับมุมมองทางสังคมและรณรงค์เชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม

ช่วงแรกของงานมีการปาฐกถาในหัวข้อ“ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ ของ LGBTQIAN+ ในประเทศไทย : ข้อท้าทายเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนของ LBTQ ที่ไม่ถูกมองเห็น” โดย อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ถึงประสบการณ์ส่วนตัวและประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศของกลุ่มสตรี หรือเฟมินิสต์ ตั้งแต่การถูกสังคมครอบงำด้วยกรอบความคิดชายเป็นใหญ่ ถึงการที่สังคมเริ่มเปิดรับมากขึ้น และไต่ระดับไปสู่การรวมตัวของกลุ่มคนจนเป็นสมาคมหรือเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีหมุดหมายเดียวกันคือ ‘ต้องการสังคมเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียม’ ตั้งแต่สมาคมฟ้าสีรุ้ง ในปี พ.ศ.2542 เรื่อยมาถึง สตรีรากหญ้า, เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย, คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้,  SWING, เฟมินิสต์ปลดแอก จนในที่สุดก็มีกฎหมายที่ทำให้เห็นถึงการก้าวไปข้างหน้าเรื่องการยอมรับในความเท่าเทียม นั่นคือ ‘สมรสเท่าเทียม’

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายต่าง ๆ จะมีความคืบหน้าและก้าวไปไกลกว่าอดีตแล้ว ‘สุขภาวะ (Wellbeing)’ สำหรับชุมชน LBTQSapphic ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องที่กำลังถูกมองข้าม ด้วยการมองปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านเลนส์ของผู้ที่มีเพศวิถีตรงตามเพศกำเนิด (ผู้ชาย,ผู้หญิง) จึงทำให้การส่งเสริมสุขภาวะสำหรับกลุ่ม LBTQSapphic ถูกทลายลงจากการกดขี่และความไม่เข้าใจของคนในสังคม รวมถึงรัฐ ทำให้สุขภาวะจึงกลายเป็นแค่กิจกรรมส่งเสริมมากกว่าการมองลึกลงไปในโครงสร้าง และทำให้ สุขภาวะ (Wellbeing) เป็นเรื่องของความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice)

“Wellbeing ไม่สามารถพูดในเชิงกฎหมาย

ถ้าเราจะทำให้เป็นกฎหมาย คือ รัฐต้องออกค่าผ่าตัดให้กับคนข้ามเพศ (Trans)

เพราะนี่เป็น Social Justice ที่เป็น Wellbeing สำหรับกลุ่ม LBTQSapphic

ว่าอยากจะอยู่ในร่างกายแบบไหน ในสรีระแบบไหน

ฉะนั้นต้องมองมากกว่านั้น อย่ามองเป็นแค่การทำกิจกรรม ไม่งั้นจะหลงทาง”

ช่วงต่อมาเป็นการเสวนาสาธารณะเรื่อง“สุขภาวะของ LBTQ ช่องว่างและนโยบายการเข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์” ดาราณี ทองศิริ นักวิจัยโครงการฯ เผยผลการศึกษาจากรายงานผลการศึกษาสำรวจสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่ม LBT พบว่า ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่ม LBTQSapphic จำนวน 25 คน ทำให้เห็นถึงการเพิกเฉยของสังคมกับกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเพศอื่น ๆ อาจส่งผลให้กลุ่ม LBTQSapphic ไม่ได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ เท่าที่ควร และส่งผลต่อสุขภาวะในหลายด้าน ดังนี้

1.สุขภาวะทางจิตใจและจิตวิญญาณ

  • การขาดผู้ให้คำแนะนำทางจิตใจ
  • ภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยว
  • ความกังวลจากการถูกกดดันจากครอบครัวให้แต่งงานหรือมีคู่เป็นเพศตรงข้าม
  • พื้นที่รักษาเยียวยาทางจิตใจและจิตวิญญาณไม่โอบอุ้ม

2.สุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์

  • การให้บริการทางแพทย์ที่ขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องสุขภาวะทางเพศ
  • การเข้าไม่ถึงการรักษาเกี่ยวกับอวัยวะเพศหรือที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์​
  • การขาดข้อมูลและเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย
  • การเข้าไม่ถึงบริการผ่าตัดหรือรับฮอร์โมนเพศในกลุ่มทอมหรือทรานส์
  • การเข้าถึงอุปกรณ์เพิ่มความสุขทางเพศหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

3.สุขภาวะทางสังคม

  • การไม่สามารถเปิดเผยตัวตนหรือวิถีทางเพศกับครอบครัว ชุมชน และสังคม
  • การถูกปฏิเสธจากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ชุมชน ศาสนา และผู้ให้บริการ การคุกคามและความรุนแรงทางคำพูดจากสังคมความไม่มั่นคงในการสร้างความสัมพันธ์หรือการก่อตั้งครอบครัว
  • ความกังวลเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา
  • การขาดพื้นที่ในการร่วมกลุ่มหรือสร้างความสัมพันธ์

4.สุขภาวะทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

  • ภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
  • ปัญหาการเข้าถึงการจ้างงาน

5.สุขภาวะทางกฎหมายและนโยบาย

  • การก่อตั้งครอบครัวและกฎหมายสมรสเท่าเทียม
  • ความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการในที่ทำงาน
  • การขาดกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองหรือส่งเสริมสิทธิ

“ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันหมด เมื่อคุณไม่สามารถเปิดตัวตนที่แท้จริงของคุณได้ คุณก็ออกไปบอกกับสังคมไม่ได้ว่าคุณไปเจออะไรมาบ้างในฐานะ LBTQSapphic รวมถึงบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ คุณจะเข้าถึงไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ยอมรับจากสังคม เพราะฉะนั้น ผลวิจัยจึงเป็นสิ่งที่สามารถบอกได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่สามารถเป็นตัวเองได้ทุก ๆ อย่างก็จะบล็อกไปหมด”

นอกจากนี้ ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อํานวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส ยังเสริมต่อจากผลการวิจัยว่า LBTQSapphic 25 คน ที่ไปสัมภาษณ์มานี้ ทุกคนต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ แต่โจทย์หลักต้องกลับมามองว่าพื้นที่ปลอดภัยเป็นแบบไหน ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ข้อจำกัดเรื่องอาชีพที่อาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ รวมถึงสถานการณ์การเป็นครอบครัวของกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้ถูกยอมรับและไม่นับว่าเป็นครอบครัว

ด้าน บุณฑริกา ลิ่วเฉลิมวงศ์  นักจิตวิทยาการปรึกษา, CBT therapist และนักเพศวิทยาคลินิกศูนย์ CBTดีต่อใจ, คลินิกสุขภาพเพศ รพ. จุฬาฯและธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางเยียวยาสุขภาพจิต สุขภาพเพศของคนเพศกำเนิดหญิง และ LBT ว่าไม่ใช่เพียงกลุ่ม LBTQSapphic ที่มีปัญหาในการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพ แม้กระทั่งเพศหญิงที่มีเพศวิถีตรงกับเพศสภาพ ก็ยังมีปัญหาในการเข้ามาตรวจภายใน ด้วยความเชื่อและความคิดของสังคมที่มีต่ออวัยวะเพศหญิง ซึ่งมองเป็นเพียงวัตถุทางเพศและมีบทบาทหน้าที่บางประการอย่างการให้กำเนิด ต่างจากการเชิดชูอวัยวะเพศชายที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มาเติมเต็มและศักดิ์สิทธิ์ในบางความเชื่อ จึงทำให้เพศหญิง รวมถึง LBTQSapphic ไม่เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ จนอาจทำให้เกิดการบานปลายของโรคได้

หากจะแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว บุณฑริกา มองว่าจะต้องมีการอบรบเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในสังคมให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพรับรู้ถึงการมีตัวตน รวมถึงการจัดสถานที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสบายใจต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำที่เป็น Neutral Gender Restroom เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกอุ่นใจ และมีทัศนคติบวกต่อสถานที่บริการนั้น ๆ

“หลายสิ่งที่ทำให้ผู้รับบริการซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกอึดอัดใจ เกิดจากความไม่มั่นใจของผู้ให้บริการเกี่ยวกับเพศที่หลากหลาย เพราะความหลากหลายทางเพศไม่ใช่องค์ความรู้ที่เป็นบรรทัดฐานในการศึกษา ฉะนั้น ต้องปรับตั้งแต่ทัศนคติสังคม นโยบาย และการศึกษา”

สำหรับ‘การจัดบริการสุขภาพใน BKK Pride Clinic’ กนกรัตน์ เลิศไตรภพ สำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมี BKK Pride Clinic จำนวน 20 แห่ง กระจายตามเขตต่าง ๆ ทั้งหมด 6 เขต รวมถึงส่วนบริการสาธารณสุข 69 แห่ง เพื่อดูแลกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง โรคทางกาย ทางใจ ยาเสพติด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ส่วน ‘คลินิก พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก’ โดย ดร.พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) พบว่าผู้ที่มาใช้บริการคลินิกที่เป็นกลุ่ม LBTQSapphic มีเพียง 4-5% จากทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มีการไต่ระดับการให้บริการที่ครอบคลุมในทุก ๆ เพศมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “คลินิกสุขภาพทางเพศที่มองคนเป็นคน : Sexual Health For All Gender” โดยจะต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะต้องลงทุนกับคนทุกกลุ่ม เพื่อให้คนทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงและจะทำให้พัฒนาไปสู่สุขภาวะที่ดีสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

“พวกเราทำงานในเชิงสุขภาพ ถ้าพูดถึง Wellbeing เรื่องของกฎระเบียบนโยบาย สังคม เศรษฐกิจ สายสุขภาพก็ต้องก้าวข้ามออกมาเป็นส่วนหนึ่งให้ได้ และเรามีบทบาทของเราที่จะผลักไปด้วยกันในเรื่องนั้น เพราะเรามีเรื่องของสุขภาพช่วยดัน เรื่องของข้อมูลช่วยดันตรงนั้นได้”

ด้านแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่ม LBT : ความร่วมมือเพื่อการจัดบริการภาคประชาชน  โดย ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่า สำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความเป็นได้ว่าถ้ามีการคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันของเครือข่าย ก็จะทำให้เห็นแนวโน้มรูปแบบบริการให้สอดคล้องกับกลุ่ม LBTQSapphic ให้เป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับบริการอื่น ๆ ในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงอาจจะต้องขยายการให้บริการและขยายผลการให้ความร่วมมือจากโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณะสุข ฯลฯ ทำแบบบูรณาการร่วมกันอีกด้วย

นอกจากนี้ กองส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย ชยกร วิทยาเวช กล่าวถึง แนวทางการช่วยเหลือ ดูแล และแก้ไขความรุนแรงในชีวิตคู่ สำหรับคนเพศหลากหลาย ว่าขณะนี้ทางกระทรวงกำลังผลักดันในหลายประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ เช่น การแก้ไขกฎหมายสำหรับการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ในส่วนของกรมกิจการสตรีและสถานบันครอบครัว ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายฉบับนี้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้แน่นอน รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศที่เป็นสารตั้งต้นให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องของทัศคติต่อคนในสังคม หรือเรื่องของส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและมีความปลอดภัย สบายใจ สำหรับทุกคน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active