นักวิชาการ ห่วง สิทธิแรงงาน LGBTQIAN+ อยู่ที่ไหน ใน Pride Parade ที่เต็มไปด้วยกลุ่มทุน

กระแสโซเชียลวิพากษ์องค์กรเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQIAN+ แต่กลับใช้พื้นที่โพรโมตในขบวน Pride Parade ชี้เป็นการ ‘Rainbow Washing’ นักวิชาการแรงงานย้ำ ความเท่าเทียมทางเพศจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสิทธิแรงงาน LGBTQIAN+ ในที่ทำงานยังไม่ได้การยอมรับ

จากกระแสการเดินขบวน Bangkok Pride Parade 2024 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก ถึงกรณีหลายองค์กรที่เคยเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลับออกมาร่วมเดินขบวนและรณรงค์เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ หลายฝ่ายมองว่านี่คือการ ‘Rainbow Washing’ ที่หลายองค์กรมักจะสร้างภาพลักษณ์ว่าดูเหมือนเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ในข้อปฏิบัติทางนโยบายแล้วกลับไม่มีการปฏิบัติตามเช่นนั้นจริง

ขณะที่ ผศ.เคท ครั้งพิบูลย์ ก็ได้ออกมาตั้งคำถามถึงบางองค์กรที่ไม่รับพนักงานผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงานในบางตำแหน่งหรือสมัครงานไปแล้วกลับไม่มีการเรียกสัมภาษณ์ แต่มาวันนี้กลับมีการใช้สัญลักษณ์สีรุ้งเข้าตกแต่งโลโก้ เสมือนร่วมส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ จึงเป็นที่มาของคำถามว่าองค์กรทั้งหลายที่ร่วมเดินในขบวนพาเหรด Bangkok Pride 2024 มีนโยบายในการรองรับสิทธิความเท่าเทียมของพนักงานผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่?

The Active พูดคุยกับ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิเคราะห์ถึงการ Rainbow Washing ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้เองด้วย ทางกฤษฎามองว่าด้วยกระแสทางการเมืองที่มีฉันทามติเกี่ยวกับเรื่องสมรสเท่าเทียมและหลายหลายภาคส่วนเองก็เห็นด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับรองสิทธิสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้กระทบต่ออำนาจและเงินตราที่พวกเขาถืออยู่ จึงเป็นแคมเปญที่แสดงจุดยืนได้ง่ายกว่าประเด็นการเรียกร้องสิทธิแรงงาน หรือสวัสดิการเพื่อคนทำงาน

อย่างไรก็ตามนักวิชาการมองว่า แม้สังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องสมรสเท่าเทียมก็จริง แต่กลับยังไม่ตระหนักรู้เรื่องสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากพอ ทำให้เวลามีการเรียกร้องถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นด้านสิทธิแรงงานอื่น ๆ จึงถูกมองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิแรงงาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และถ้าคนยังไม่มองเป็นเรื่องเดียวกัน สังคมไทยก็จะตื่นรู้แค่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีตัวตน ได้มีสิทธิที่จะสมรส แต่สิทธิในการทำงานอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติก็จะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี และความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยก็จะไม่อาจเกิดขึ้นจริง

“การเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมมันเดินหน้าแค่เรื่องเดียวโดด ๆ ไม่ได้ แต่มันต้องไปพร้อม ๆ กัน ทุกประเด็นมันเชื่อมโยงถึงกันหมด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม แม้ในขบวน Pride Parade เราก็ยังต้องพูดถึงเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ประเด็นทางการเมืองอื่น ๆ ร่วมด้วย”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

กฤษฎา เผยว่า ตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่รองรับว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ดังนั้น แม้วันนี้ประเทศไทยจะไม่ตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเลยก็ตาม เรื่องการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่สนธิสัญญาฉบับดังกล่าว สังคมยังไม่ได้ตระหนักรู้มากนัก ที่ผ่านมาก็ยังมีการเลือกปฏิบัติพนักงานด้วยเงื่อนไขเพศสภาพ ชาติพันธุ์ อายุ การศึกษา ตลอดจนความเห็นต่างทางการเมือง นำไปสู่การไล่ออก ตัดผลประโยชน์บางอย่าง หรือการดูหมิ่นเหยียดหยามในที่ทำงาน จนวันนี้ ยังไม่มีการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมใด ๆ เพื่อรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น

นักวิชาการเสนอว่ากลไกที่จะพอช่วยให้แรงงานและพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ได้รับสิทธิความเท่าเทียมในมิติความหลากหลายทางเพศได้นั้น ยังมีอยู่จำกัดในสังคมไทยปัจจุบัน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงาน รวมถึงการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคม อย่างไรก็ตามภาคประชาสังคมรวมไปถึงกลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้บริโภคขององค์กรต่าง ๆ มีพลังสำคัญในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ว่าองค์กรเหล่านั้นมีข้อปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมจริงหรือไม่

“องค์กรเหล่านี้จะหวาดกลัวผู้บริโภคกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะหากพวกเขามีข้อท้วงติงในประเด็นเหล่านี้องค์กรจะต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรไว้ไม่ให้เสียหายและเร่งให้จัดหาให้มีการส่งเสริมเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

อย่างไรก็ตาม กฤษฎา วิเคราะห์ว่า กระบวนการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ กลุ่มผู้บริโภค-ในอีกบทบาทหนึ่งก็เป็นแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน-จะต้องเข้าใจก่อนว่า สิทธิทางเพศและสิทธิแรงงาน เป็นเรื่องเดียวกันบนหลักการของสิทธิมนุษยชน เมื่อสังคมตื่นตัว องค์กรเหล่านี้ก็ต้องปรับทัศนคติตามด้วยเช่นกัน

พร้อมทิ้งท้ายว่า Pride Parade ในปีนี้มีลักษณะของ ‘เทศกาล’ มากกว่าเป็นขบวนของกลุ่มผู้เรียกร้องประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะพื้นที่พาเหรดนั้นคราคร่ำไปด้วยการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มทุน กฤษฎาก็ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการผลักดันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศแล้วนั้น สิทธิในมิติด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองตลอดจนสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ จะมีเสียงดังมากพอและได้รับการแก้ไขต่อในระดับนโยบายหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active