วงเสวนาบางกอกไพรด์ มองกลุ่ม LGBTQIAN+ มองเป็นตลาดใหม่ของโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน สะท้อนได้จากสินค้าเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่เจาะจงเรื่องเพศ
วันนี้ (1 มิ.ย. 2567) บางกอกไพรด์ จัดงานเสวนา BANGKOK PRIDE FORUM แนวโน้มตลาดและการค้า: ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ณวัตน์ อิสรไกรศึก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI กล่าวถึงมุมมองการทำธุรกิจในตลาดของกลุ่มหลากหลายทางเพศว่า บริษัทฯ ต้องการเจาะตลาดเพิ่ม จึงมุ่งเน้นไปที่ตลาดความหลากหลายทางเพศ โดย อิงฟ้า วราหะ ก็ถือเป็นตัวอย่างในความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ ที่ปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดด้วยค่าตัวถึงระดับ 100 ล้านบาท และยังมีนางงามที่เป็นเลิฟเกิร์ลอีกหลายคู่ที่ประสบความสำเร็จในทางการตลาดเช่นกัน
ทั้งนี้ มูลค่าของความหลากหลายทางเพศนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ MGI สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากมีแฟนคลับที่เลือกเพศสภาพอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีผู้ชายแท้ ๆ ขณะเดียวกันบริษัทฯ พยายามขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น และยังได้รับความนิยมมากเช่นกัน เนื่องจากบางประเทศกฎหมายยังไม่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่สามารถแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศได้ ดังนั้น MGI จึงอยากจะเป็นศูนย์กลางในตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องของความเท่าเทียม
“บริษัทฯดำเนินงานมา 12 ปี ตนเพิ่งค้นพบว่าพลังของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือขุมทรัพย์ของประเทศ บริษัทจึงได้พัฒนาสินค้าที่สอดคล้องและไม่เคยแบ่งเพศสภาพ เช่น น้ำหอมที่สามารถใช้ได้ทุกเพศ ดังนั้นตราบใดที่ไม่แบ่งแยกเพศสภาพ ความสามารถ เพศ และความรุ่งเรืองก็จะเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เท่าเทียมกัน”
จากที่ทำธุรกิจนางงามกับความหลากหลายทางเพศ ทำให้รู้การทำสินค้าออกมาขายจะต้องรู้จักวัฒนธรรม และความชอบของคน จากนั้นต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงสินค้า อย่างกล่องบรรจุภัณฑ์ก็ต้องใส่รูปนางงาม เช่น อิงฟ้า หรือคู่จิ้นนางงาม ก็ช่วยทำให้เพิ่มยอดขายได้
นอกจากนี้ข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ MGI ทำธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดีย ในทุกเวทีประกวดจะมีการเก็บข้อมูลทั้งหมด เพราะต้องการให้ผู้บริโภคได้สินค้าที่ต้องความต้องการ บริษัทฯจะรู้ทุกอย่างว่าใครซื้อสินค้าเท่าไหร่ ซื้ออะไร ทำให้บริษัทรู้ว่าจะทำอย่างไรกับผู้บริโภค รวมถึงยังมีระบบคอลเซ็นเตอร์ และระบบร้องเรียน ต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ
อย่างไรก็ตามการทำผลิตภัณฑ์กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องมีเส้นเรื่องที่สามารถเล่าได้ ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค อีกทั้งกลุ่มนี้ก็จะช่วยบอกต่อและประชาสัมพันธ์สินค้าให้กับบริษัท เพราะเขาจะสื่อสารถึงความเป็นตัวเองมากที่สุด ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างสื่อโฆษณาสินค้าแต่อย่างใด
“ไม่มีสูตรสำเร็จว่าสินค้าที่ดีที่สุดคือสินค้าที่ขายดีที่สุด หรือสินค้าที่คิดว่าขายไม่ดีมันจะต้องขายไม่ดี เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ คือ 1.คุณภาพสินค้าต้องพอประมาณ 2.เส้นเรื่อง การทำธุรกิจผ่านกลุ่มความหลากหลายทางเพศ สำคัญมาก ๆ มันต้องมีเส้นเรื่อง ถ้าไม่มีเส้นเรื่องผมว่ามันลำบาก โดยเฉพาะปัจจุบัน เส้นเรื่องคือสิ่งที่เล่า และทำให้เกิดความอินเพรส (ประทับใจ) ต่อผู้บริโภค”
รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานกรรมการบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะหลุ่มผู้หญิงแล้ว โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามลงพื้นไปหาลูกค้า เก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย มีการทำทดสอบทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์กับกลุ่มตลาดจริง ๆ ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ผลิตภัณฑ์ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากที่สุด
ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์แค่ในห้องประชุมจึงไม่เพียงพอแล้ว เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกค้าต้องการแบบไหน ดังนั้นผู้บริหารต้องออกแบบวิธีการทดลอง ให้สามารถรู้ได้ว่าลูกค้าอยากได้สินค้าประเภทไหน นี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความเสี่ยง
“ถ้ามองตลาดภาพรวมเครื่องสำอางในอดีตสัดส่วนตลาดจะหนักในทางผู้หญิง เรียกว่าเกือบหมดเลย และก็ค่อยขยายมาเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้ เราก็พบว่าจริง ๆ แล้ว สินค้าหรือบริการที่ออกมา ไม่ได้เริ่มว่าเป็นเพศไหน หรือวัยไหนด้วยซ้ำ ก็เริ่มมีความหลากหลายที่ว่าโปรดัก ตัวหนึ่งจะสามารถตอบโจทย์คนหลาย ๆ กลุ่มได้ เพราะจริง ๆ แล้ว ความสำคัญคืออะไร มันคือ ใช้แล้วต้องเวิร์ค และใช้เสร็จแล้วเขามั่นใจหรือไม่ ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นเรามอบของแบบนี้เนี่ยให้กับคนที่เรียกว่ามีความหลากหลายที่ไม่ใช้เรื่องเพศอย่างเดียว แต่รวมทั้งอายุ ความคิด ความเชื่อ แม้กระทั้งศาสนา เพราะฉะนั้นเราพยาทำโปรดักออกมาให้ตอบโจทย์กลุ่มมากที่สุด จะเห็นว่าสินค้ายุคหลัง ๆ จะมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น บางครั้งไม่ระบุด้วยว่าเป็นของเพศไหน”
ขณะเดียวกันการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัทจะมองเป็นภาพรวม ไม่ได้คิดแยกกัน เวลาตนไปดูงานที่ต่างประเทศ ก็มักจะคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำไปพัฒนากับสินค้าของบริษัทได้ ซึ่งมีหลักการคือ 1.ผลิตภัณฑ์ต้องดี มีประสิทธิภาพ 2.ผิวต้องไม่แพ้ไม่ระคายเคือง 3.ผลิตภัณฑ์ดีต่อโลก ไม่มีสารทำลายธรรมชาติ ช่วยลดภาระต่อโลก
พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า โลกโซเซียลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการกล่างถึงเรื่องเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ และความเท่าเทียมมากถึง 75 ล้านเอนเกจเม้น (Engagement) ทั้งการกดไลค์ คอมเม้นท์ และแชร์ บนโลกโซเชียล ถือเป็นสถิติที่สูงมาก อาจจะเปลี่ยนเทียบคนไทยพูดถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
“การพูดถึงเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมเกิดขึ้นทุก ๆ วัน ทั้ง 1 ปีเต็ม คนที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มคนเล็ก ๆ อีกต่อไป ปัจจุบันมีสื่อ มีศิลปินดารา นักร้องนักแสดง อินฟูลเอนเซอร์ต่าง ๆ ออกมาผลักดันสนับสนุน แล้วก็รวมถึงปัจจุบัน เริ่มมีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่เขาเริ่มที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนช่วยประกาศในกิจกรรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องของการพูดถึงความหลากหลายและความเท่าเทียม”
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เริ่มเก็บข้อมูลในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ หลังมีหลายบริษัทให้ความสนใจกับกลุ่มนี้มากขึ้นทั้งบริษัทต่างชาติและไทย ซึ่งกลุ่ม LGBTQIAN+ จะมีความแข็งแกร่ง เวลาที่มีการพูดคุยกัน จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำแบรนด์ และการตลาด เช่น ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ บริษัทประกันจะออกผลิตภัณฑ์กันที่สามารถส่งมอบผลประโยชน์ให้กับคู่ชีวิตกลุ่มนี้ และอีกหลายบริษัทที่เริ่มขยายตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งบางแห่งเพิ่มเริ่ม หรืออยู่ระหว่างศึกษาตลาด