“การยุติความรุนแรงทางเพศ เพศสภาพ” ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

ภาคประชาชนยื่น 7 ข้อเรียกร้อง คุ้มครองผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว LGBTQIAN+ เหตุถูกกระทำความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เฉลี่ย 30,000 คนต่อปี

วันนี้ (8 มี.ค. 2567) องค์กรร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ 62 องค์กร เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ การยุติความรุนแรงทางเพศ เพศสภาพ เป็น “วาระแห่งชาติ” เนื่องในวันสตรีสากล (Intemational Women’s Day)  8 มี.ค. เนื่องจากปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงบนพื้นฐานเพศสภาพถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยมี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ

โดยข้อเรียกร้องขององค์กรฯ ต้องการให้รัฐบาลปกป้อง คุ้มครอง มิให้ผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลายถูกกระทำความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้

  • เร่งรัดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วน หน่วยงานบริการสวัสดิการสังคม คุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัย สาธารณสุข กำหนดแผนการดำเนินงาน จัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลาย ให้ปลอดภัยจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
  • รัฐบาลต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำ
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องจัดให้มีหน่วยพิเศษ Special Unit รองรับการดำเนินคดีความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลายเป็นการเฉพาะ และจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงอย่างน้อยในทุกอำเภอทั่วประเทศ
  • หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลาย ต้องเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในระดับประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  • รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายการรับรองเพศสภาพ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
  • ยกเลิกโทษทางอาญากับบุคคลที่ยุติการตั้งครรภ์นอกเงื่อนไขกฎหมาย และจัดให้มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ของรัฐอย่างปลอดภัยทุกจังหวัด และมีบริการคุมกำเนิดโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้รับบริการ
  • รัฐบาลต้องมีนโยบายไม่บังคับตรวจหาเอชไอวีในหน่วยงาน 

“พวกเราองค์กรที่ดำเนินงานด้านส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้ การยุติความรุนแรงทางเพศ เพศสภาพ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายตามหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชน คุ้มครองป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงซ่อนอยู่ใต้พรม และผลิตซ้ำสังคมที่ไม่เป็นธรรมไปเรื่อย ๆ”

ผู้หญิง และเพศหลากหลายทั่วโลก ยังเผชิญกับความรุนแรง ไม่เท่าเทียม

สถิติความรุนแรงทางเพศจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า จำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมมีจำนวน 81,000 คน และ 56% จากทั้งหมดเสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง 

รวมทั้งข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ผู้หญิงไทยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน มีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาและแจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 คน อีกทั้งมีรายงานการเก็บข้อมูลจากสื่อ พบว่าบุคคลเพศหลากหลายในไทยถูกสังหารจากความเกลียดชังด้วยเหตุแห่งเพศจำนวน 21 คน หากเทียบกับหลายประเทศดูเหมือนเป็นจำนวนไม่มาก แต่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีการกระทำความรุนแรงกับบุคคลเพศหลากหลายอยู่ 

สำหรับความรุนแรงบนพื้นฐานเพศสภาพต่อบุคคลเพศหลากหลาย (LGBTQIAN+) พบรายงานสถิติที่อ้างอิงได้จำนวนน้อย ไม่ครอบคลุมทุกอัตลักษณ์ทางเพศ ดังนั้น ความรุนแรงทางเพศไม่ได้มีเพียงความรุนแรงต่อผู้หญิงเท่านั้น แต่รวมถึงความรุนแรงต่อบุคคลเพศหลากหลายด้วย

ความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพยังปรากฏในรูปแบบการถูกกีดกันจากระบบกฎหมายและการเข้ารับบริการที่จำเป็น เช่น การกำหนดให้บุคคลที่ยุติการตั้งครรภ์นอกเงื่อนไขกฎหมายเป็น “อาชญากร” การไม่มีสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หรือไม่มีบริการคุมกำเนิดโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้รับบริการ

ความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่มีบริการข้ามเพศฟรีที่เป็นสวัสดิการของรัฐ ในขณะที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีกลับลงโทษพนักงานบริการแต่ไม่การลงโทษผู้ซื้อบริการ สถานบริการได้รับรองให้เป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายแต่พนักงานในสถานบริการกลับถูกกฎหมายลงโทษ การตีตรา และเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการมีเอชไอวี ปรากฏให้เห็นได้จากการบังคับตรวจหาเอชไอวีของหลายหน่วยงาน 

ผู้หญิงและบุคคลเพศหลากหลายที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนกับอัตลักษณ์ชายขอบอื่น ๆ (Intersectionality) เช่น ผู้หญิงข้ามเพศ, ผู้หญิงพิการ, ผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการ, ผู้หญิง Neurodivergent (เช่น ออทิสติก), ผู้หญิงที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ, ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง และอัตลักษณ์ชายขอบอื่น ๆ ประสบกับปัญหาซับซ้อน เข้าถึงทรัพยากรได้ยากกว่าบุคคลทั่วไป เพราะถูกปฏิเสธการจ้างงาน ถูกกีดกันโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศนานับประการ

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 71 กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครอง ป้องกันมิให้บุคคลถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการให้บำบัด ฟื้นฟู ตลอดจนการเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active