สภาฯ ถกสมรสเท่าเทียม วาระแรก 4 ฉบับ มุ่งให้สิทธิเท่าคู่สมรสชายหญิง

สส. อภิปรายหนุนเพียบ วอนสภาฯ โหวตรับเป็นของขวัญปีใหม่ ด้าน สส.ประชาชาติ ย้ำ ไม่สามารถโหวตรับหลักการได้ เหตุขัดศาสนาอิสลาม

วันนี้ (21 ธ.ค. 66) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ รวมถึง ร่างพ.ร.บ. ที่มีลักษณะเดียวกัน อีก 3 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, และ อรรณว์ ชุมาพร นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ในเครือข่ายภาคีสีรุ้ง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยบรรยากาศในห้องประชุมพบว่ามีการอนุญาตให้นำธงสีรุ้งเข้ามาภายในห้องประชุม และมีภาคประชาชนคอยลุ้นให้กำลังใจอยู่ภายนอกรัฐสภา

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงในรายละเอียดของร่างกฎหมายของ ครม. ว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน รวมถึงคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญที่ขอแก้ไข 68 มาตรา อาทิ แก้ไขคำนิยามที่ครอบคลุมทุกเพศ, แก้ไขบทบัญญัติที่สอดคล้องกับลักษณะของคู่สมรสเพศเดียวกัน, ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับการแก้ไข พ.ร.บ.ภายใน 180 วัน ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การเขียนกฎหมายใหม่ จึงไม่กระทบจังหวัดชายแดนใต้ หรือ กฎหมายอิสลาม ที่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไปในพื้นที่ สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับประชาชน ผู้นำศาสนา ทุกภูมิภาค พบว่าประชาชน 96.6% เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว

การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ และรัฐบาลในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างหลักประกันบุคคลทุกคนได้รับสิทธิก่อตั้งครอบครัวอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และส่งเสริมภาพลักษณ์ในสิทธิมนุษยชน สร้างความเชื่อถือต่อประชาคมโลก รวมถึงขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยลักษณะทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวอาจมีความยุ่งยาก เพราะเคยเสนอมาตั้งแต่สภาฯ ชุดที่ผ่านมา แต่ไม่แล้วเสร็จ และขณะนี้มีการเสนอร่างกฎหมายรวม 4 ฉบับ ของรัฐบาล ,พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และของประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ทุกพรรคผ่านร่างกฎหมายโดยไม่คิดว่าเป็นของใคร ทุกฝ่ายควรร่วมใจทำกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม

ด้านธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.ผู้ชี้แจงร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนอยากบอกกับทุกคนในสภาฯ แห่งนี้ว่า ตนเองเกิดมาเป็นกะเทย เป็นทุกวัน เป็นตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้  สิ่งเดียวที่ต่อสู้ไม่ว่าจะใช้ชีวิตแบบใด จะหัวเราะ ร้องไห้ ความเป็นกะเทยก็จะยังติดตัวอยู่เสมอ และการเป็นกะเทยนั้นสิ่งหนึ่งที่จะตามมา คือ ความเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะมีความสามารถอย่างไร และใช้ชีวิตอย่างไรก็แล้วแต่  พร้อมยกตัวอย่างที่ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ ได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องสูญเสียเพื่อนที่รักมากคนหนึ่ง ทั้งที่เพื่อนที่ดี การศึกษาที่ดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง แต่กลับไม่สามารถอยู่ฟังเรื่องของสมรสเท่าเทียมได้เพราะฆ่าตัวตาย เนื่องจาก พ่อแม่ไม่ยอมรับในความสัมพันธ์ที่เขารักกับเพศเดียวกัน และไม่มีทางที่ครอบครัวจะรับในสิ่งนี้ได้  สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าคนรักเพศเดียวกันสามารถทำทุกเรื่องได้ ยกเว้นเรื่องความรักที่เป็นไปไม่ได้

หรือเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ดที่ จ.เชียงใหม่ ปี 2552 เกย์พาเหรดซึ่งมีลักษณะคล้ายกับงานไพรด์ในปัจจุบัน เกิดการต่อต้านจากชุมชน เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมและศีลธรรมดี นี่คือความเจ็บปวดของประชาชนที่เป็นกะเทย ไม่ได้สะท้อนแค่กลุ่มคนที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ไม่ได้สะท้อนแค่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในเชียงใหม่ แต่สะท้อนถึงอคติ การผลิตซ้ำ ที่ฝังอยู่ในสังคมไทยตลอดมา

แต่วันนี้ความเป็นไปได้กำลังจะเกิดขึ้น ตนเองเชื่อว่าวันนี้ทุกคนมีความเห็นตรงกันวาสต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าเราจะจัดเฉลิมฉลองและแสดงความยินดีที่ได้สมรสเท่าเทียมแค่ไหน แต่สิ่งที่อยากจะย้ำเตือนคือการเฉลิมฉลองนั้น เป็นการเฉลิมฉลองการตื่นรู้ของพวกเราทุกคน  ตื่นรู้ต่อการสูญเสียสิทธิหน้าที่การก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เฉลิมฉลองกับความโง่เขลาของพวกเรา กว่าจะเดินมาจนถึงวันนี้มีประชาชนที่ต้องฆ่าตัวตาย มีเยาวชนที่ถูกบูลลี่และฆ่าตัวตายเพราะถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด จึงอยากให้พึงระลึกเสมอว่าตลอดการเดินทางอดีตจนถึงวันนี้ เราเกิดความสูญเสียมากเพียงใด

“เชื่อว่าวันนี้จะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั่วโลกจะจดจำว่าในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ ว่าเราทุกคนในที่นี้มีความเห็นของตรงกันว่าเราจะเดินสู่ความเท่าเทียมของทุกเพศ และชัยชนะคือของประชาชนทุกคน และคือจุดเริ่มต้นของการที่ประเทศไทยจะเดินไปสู่สันติภาพและความเท่าเทียม”

ด้าน อรรณว์ ชุมาพร ผู้ชี้แจงร่างกฎหมายภาคประชาชน กล่าวว่า 15 ปี ที่สังคมไทยเริ่มพูดคุยเรื่องการก่อตั้งครอบครัว หลักการที่เรานำพาประชาชนมาถึงวันนี้เราใช้หลักการที่เสนอต่อหน้ารัฐ ระบบราชการ ศาลฯ ขบวนการยุติธรรม และต่อหน้าประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือหลักการของความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ซึ่งถูกแนบอยู่ในวิทยานิพนธ์สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย  โดย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ในปี 2559 และได้รับรางวัลดีเด่นในปี 2560 การมีงานวิจัยที่ดีขนาดนี้จึงทำให้การตั้งต้นของภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งหลักการของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ก็คือ การให้ประชาชนได้ใช้กฎหมายสมรสเสมอหน้ากันทางกฎหมายที่ทุกคนใช้อยู่ นั่นก็คือกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ และเป็นหลักการเดียวกับในการประชุมของเครือข่ายภาคประชาชน และองค์การสหประชาชาติ เรื่องหลักการยอกยาการ์ตา ที่กล่าวว่า ทุกคนเกิดมามีอิสระความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

โดยตลอดระยะเวลาการเดินทาง 15 ปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจากการเรียกร้องสมรสเท่าเทียม 24 คน ครั้งนี้เรามาพร้อมกับประชาชนกว่า 36,000 คน ในเว็บไซต์ที่เปิดขึ้น การเดินทางของภาคประชาชนมีความหมาย เพราะเคยเจอเรื่องเล่าและชีวิตจริง เช่น กรณีของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถเซ็นรักษาให้กับคู่รักเพศเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ 10 วัน คู่รักก็เสียชีวิต  สิ่งหนึ่งที่เขาบอกกับเราคือหมือนตายตามแฟนไปด้วย ถ้าวันนัันสามารถเซ็นเอกสารเพื่อรักษาพยาบาลให้กับคู่รักได้จะรอดใช่ไหม นั่นคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะหยุดการเดินทางของพวกเราได้ การเดินทางของพวกเราที่ต้องการเรื่องความเท่าเทียม และความเสมอภาค เพราะจริง ๆ แล้วแม้กระทั่งหลักการที่เสนอมา ทั้ง 4 ร่างฯ เราเชื่อว่ามีข้อความที่แตกต่างกัน

ขณะที่การร่วมลงรายชื่อของประชาชน 1 แสนคน ภายใน 1 ชั่วโมง นี่คือปรากฏการณ์ที่พวกเราสร้างร่วมกัน เราเริ่มต้นมาจากท้องถนนในการผลักสมรสเท่าเทียมจนมาถึงวันนี้ และเชื่อว่าวันนี้เราจะได้รับฟังข่าวดีก่อนปีใหม่ และหลังจากนั้นเราจะร่วมกันพิจารณาร่างฯ ที่ดีที่สุด และถูกพูดถึงในสภานี้อีกครั้งช่วงวันวาเลนไทน์ เพื่อให้เดินทางไปถึงไพรด์พาเหรดในปี 2024 ด้วยกัน เป็นการเฉลิมฉลองของประเทศนี้ในเรื่องสมรสเท่าเทียมอย่างแท้จริง พร้อมกับการสนับสนุนกฎหมายรับรองเพศสภาพ และยกเลิกกฎหมายการปราบปรามการค้าประเวณี ที่ยังมี Sex Worker ถูกจับในทุกๆ วัน 

การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายต่างๆ เราถือว่าเป็นคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐ ที่พรากสิทธิการก่อตั้งครอบครัว เสรีภาพ ศักดิ์ศรีไปจากประชาชน คำขอโทษเหล่านี้จะกลายเป็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นที่สุด ที่รัฐจะประกาศให้กับเยาวชนเพศหลากหลาย และให้กับทุกคนที่ต้องการอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้ ด้วยความสุขความเสมอภาค และความเป็นธรรม และเราเชื่อว่าเสียงของท่านคืออีกพลังหนึ่ง เพราะท่านคือ ส.ส.ที่มาจากประชาชน

เช่นเดียวกับ ณชเล บุญญาภิสมภาร นักกิจกรรมข้ามเพศ ได้ชี้แจงสาระสำคัญที่ถูกร่างภายใต้หลักการทั้งหมด 6 ข้อ ตอนหนึ่งว่า เป็นการสิทธิบุคคลที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน คู่รักต่างเพศ และคู่รักหลากหลาย จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายและหญิง รวมถึงให้ได้สิทธิรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีหน้าที่เป็นบุพการีที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ขอให้สภาฯโหวตรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนเพื่อเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2567 กับประชาชนที่สนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของประชาชน เพื่อให้สิทธิ และคุ้มครองบุคคลทุกเพศอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

ขณะเดียวกันก็หวังว่ารัฐสภาจะได้มอบความหวังให้กับประชาชนที่กำลังผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความคุ้มครอง และสิทธิที่เท่าเทียมให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ที่กำลังจะเดินสู่ประตูรัฐสภาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรบรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแก้ไข พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี รวมถึง พ.ร.บ.การขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนทุกคนรู้ว่ารัฐสภาอ้าแขนเปิดรับ และเรื่องปากท้องสิทธิเท่าเทียมของประชาชนทุกคน

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า การขยายหลักการของภาคประชาชนตาม ข้อที่ 4,5,6 เพื่อทำให้คู่สมรสที่รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ให้เป็นอุปการีที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักประกันเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรับประกันว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ได้รับการแก้ไขตามเจตนารมณ์ของรัฐสภาที่ต้องการให้คู่สมรสทุกคู่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเสมอหน้าเท่าเทียมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะที่ผ่านมาเมื่อคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันไปโรงพยาบาลสิ่งที่จะต้องถูกถาม คือ ถ้าเห็นเป็นผู้หญิงจะถามว่าเราเป็นอะไรกับคนป่วย ถ้าหากว่าเป็นคู่สมรส จะถูกถามว่าคนไหนป็นภรรยา คนไหนเป็นสามี หรือไม่ยินดีที่จะให้การรักษา 

ดังนั้นต้องรับประกันว่าจะไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง และทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมกลายเป็นเครื่องมือให้บุคลากรของรัฐที่ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ไม่เลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิ หรือใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัวอีกต่อไป สมรสเท่าเทียมภาคประชาชนจึงระบุให้มีในเรื่องบทเฉพาะกาล เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปกติต้องใช้เวลาเกือบปีเพื่อให้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ นั่นหมายความว่าจะมีคนที่ จะต้องสูญเสียชีวิตหรือรู้สึกว่าจะต้องตายตามไปด้วยอีกกี่คน รวมถึงการเป็นบุพการีตาม กฎหมายนี้ได้ทันที เพื่อที่แผ่นดินนี้จะได้ไม่มีใครกระทำความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การศึกษา การทำงาน การรักษาพยาบาล ซึ่งหลักการเพิ่มเติมของภาคประชาชน ต้องการร่างฯ ที่ใช่ ใช้ได้จริง และใช้ได้เลย

ด้าน สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ในฐานะผู้ชี้แจงร่างฯ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเป็นพื้นฐานของทุกชีวิต ทุกชีวิตเกิดมาย่อมต้องสัมผัสกับความรักโดยมีความรักเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ทางความรักของครอบครัว ซึ่งเคยมีคนกล่าวไว้ว่าความรักเป็นบ่อเกิดแห่งการปลูกฝังความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คนทุกคนต่างมีความรักและใช้ความรักเป็นแรงในการขับเคลื่อนชีวิต ดังนั้นความรักของมนุษย์ไม่มีข้อจำกัด และไม่ควรมีกำแพงใดๆ มากีดกันหรือเป็นเส้นกำหนดความรักระหว่างคนสองคน มนุษย์ไม่ได้หลงรักใครเพราะว่าเขาเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง มนุษย์รักใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นเอง

แต่สังคมไทยในปัจจุบันแม้มีการเปิดกว้างแต่ยังไม่เปิดรับการ เปิดกว้างคือการ เป็นที่ยอมรับสำหรับการแสดงตัว เป็นบุคคลที่มีรสนิยม มีการแสดงออกตามเพศวิถีหรือสร้างตัวตนแบบใดแบบหนึ่ง แต่ไม่เปิดรับ คือ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพความเสมอภาคในฐานะความเป็นคนที่เท่าเทียม  โดยการนำข้อจำกัดเรื่องเพศเข้ามาเป็นตัวชี้วัดความรัก และการสร้างครอบครัวอย่างถูกกฎหมายของประชาชนทั่วไป สิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม รวมถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งความรักเป็นเรื่องของบุคคล 2 คน ซึ่งมีให้กันและกัน สิทธิเสรีภาพนี้เป็นพื้นฐานที่ประชาชนของประเทศควรได้รับอย่างเท่าเทียม ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ผ่านกฎหมายการสมรสเท่าเทียมในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศไปแล้ว ปัจจุบันกว่า 34 ประเทศทั่วโลก โดยไต้หวันเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2562 เท่ากับว่าหากสภาฯ อนุมัติร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศไทยจะเป็นแห่งที่ 2 ของเอเชีย 

โดยร่างฯ ของประชาธิปัตย์จะแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการจดทะเบียนสมรส และการใช้ชีวิตคู่เป็นคู่สมรสไม่ว่าบุคคลใดก็จะได้สิทธิที่มีประโยชน์ตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องว่าคู่สมรสตามเพศกำเนิด มีอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรสคือ 18 ปี สามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติได้ จัดการทรัพย์สินร่วมกันได้ รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ รับมรดกของคู่สมรสในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรม จัดการแทนคู่สมรสในกรณีเป็นผู้เสียหายในทางคดีอาญา ใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ ไม่ต้องเสียภาษีมรดกกรณีรับมรดกจากคู่สมรสที่เสียชีวิต และสามารถตัดสินใจในทางการแพทย์ได้ 

ผมเชื่อว่าในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายที่ดีต้องมุ่งรองรับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้คนโดยการขยายสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นให้กว้างขึ้น มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ ตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าผมกำลังอภิปรายถึงอำนาจนิติบัญญัติของสภาแห่งนี้ ที่ท่านกำลังจะทำหน้าที่ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่คนไทยทุกคน วันนี้ผมขอถือโอกาสว่า พวกเรากำลังจะมอบของขวัญปีใหม่อันล้ำค่าให้กับพี่น้องคนไทยที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงพี่น้องคนไทยทุกคน และผมเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สภาฯ ของเราจะได้ร่วมกัน อนุมัติร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ทันโลก ทันสมัยที่สุดแห่งยุคของพวกเรา

หลังจากนั้นจากนั้นสภาฯ ได้เปิดให้ สส. ได้อภิปรายในเนื้อหาสาระก่อนที่จะลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่  โดยมี สส. ร่วมลงชื่ออภิปรายจำนวนมาก จังหวะหนึ่ง ซูการ์โน มะทา สส.จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปราย ระบุว่า ทางพรรคไม่สามารถรับร่างฯ หลักการนี้ได้ เนื่องจากการสมรสของคนเพศเดียวกันขัดกับหลักศาสนาอิสลาม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active