คุกคามทางเพศในพรรคการเมือง สะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ในทุกระบบ

ภาค ปชช. ชี้ สังคมต้องการกระบวนการสอบสวนที่รวดเร็ว ละเอียดอ่อน เหยื่อต้องรับการเยียวยา

วันนี้ (1 พ.ย.66) ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ เขตพญาไท มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี ได้จัดเสวนาหัวข้อ “คุกคามทางเพศ กับนักการเมือง ผู้นำและอำนาจ”  เพื่อขจัดการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในพรรคการเมือง และองค์กรที่กำกับดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ช่วยกันสร้างมาตรฐานสังคม ที่ไม่ยอมรับการกระทำผิดทางเพศ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ทันทีที่เกิดกรณีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกระแสข่าวนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมือง และ องค์กรที่กำกับดูแลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใน 6 ข้อ ดังนี้

1. ประกาศนโยบายและมาตรการ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคาม และ ล่วงละเมิดทางเพศในองค์กรให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม

2. จัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน กรณีการคุกคาม และ ล่วงละเมิดทางเพศที่เข้าถึงได้ง่าย มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเรื่องเพศ และ ถือเอาผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง

3. กำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ ในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียน เรื่องการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่มีความชัดเจน  มีกรอบเวลาในการดำเนินการโดยไม่ชักช้า มีแนวทางการเยียวยาผู้เสียหาย และ มีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด

4. มีมาตรการในการคุ้มครองผู้เสียหาย ผู้แจ้งเหตุ และพยาน

5. มีมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร

6. ในฐานะองค์กรด้านนิติบัญญัติ พรรคการเมือง ควรริเริ่มและผลักดันให้มีการออกกฎหมายเฉพาะด้าน เพื่อจัดการปัญหาการการคุกคามทางเพศ  กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด และ มีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อป้องปรามการกระทำผิด และ ให้การคุ้มครองทางกฎหมายที่ชัดเจนแก่ผู้เสียหาย

โดยการเสวนาในครั้งนี้ ต้องการฉายภาพให้ชัดเจนว่า ว่าปัญหาการคุกคามทางเพศในพรรการเมือง หรือองค์ต่าง ๆ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และสังคมต้องการนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่ชัดเจน มีระบบร้องเรียนที่รวดเร็ว เป็นธรรม มาตรการลงโทษผู้กระทำผิด ให้ได้รับบทเรียนไม่กระทำผิดซ้ำ และเยียวยาผู้เสียหายอย่างชัดเจน

ธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมทางการเมืองและความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน เมื่อมาถึงยุคขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมีปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ในการมอนิเตอร์ข่าวสารต่าง ๆ จึงอาจทำให้ประเด็นการคุกคามทางเพศในขบวนการฯ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์จึงทำให้กระบวนการสืบสวน สอบสวน ผ่านไปแบบเงียบ ๆ กระทั่งการชุมนุมในปี 63 จึงเริ่มเห็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศไปพร้อมกันด้วย

“ตอนเป็นนักกิจกรรมเรารู้สึกอึดอัดมาก แม้กระทั่งจะพูดว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นก็ยังไม่ยอมพูดกันเลย เพราะเขาจะมองว่าให้ไปเคลียร์กันเองเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ แล้วทุกคนก็ไม่ยอมรับว่ามันเป็นปัญหาสุดท้ายจึงไม่เกิดแนวทางในการแก้ไข”

ธารารัตน์ ปัญญา

ธารารัตน์ ยังคาดหวังให้ทั้งพรรคการเมือง สถานศึกษา สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญในการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีแนวปฏิบัติ จัดอบรมต่อเนื่อง ไม่ให้การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในองค์กร

ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศ รวมถึงการมุ่งโทษเหยื่อที่เป็นผู้หญิงว่าเป็นคนเข้าหาผู้ชายก่อน หรือเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน ส่วนสำคัญมาจากสังคมไทยที่ไม่เข้าใจ หรือละเลย คำว่า ยินยอม (Consent) แม้กระทั่งในละครไทยก็ยังมองว่าการใส่ฉากขอความยินยอมก่อนมีเพศสัมพันธ์กันก่อนจะทำให้เสียอรรถรส ผู้ชายที่โตมากับละครเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมการถามความยินยอม ขณะที่เพศหญิงก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานั้น เป็นความซับซ้อนที่อธิบายได้ 3 ประเด็น

1.การสื่อสารเรื่องเพศในสังคมทั่วโลกถูกผูกขาดโดยผู้ชายเป็นผู้เริ่มต้นก่อนเสมอ ส่วนหน้าที่ในการปฏิเสธตกเป็นของผู้หญิง ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ยินยอม หากผู้หญิงไม่มีความพยายามหรือกล้าหาญพอที่จะหยุดผู้หญิงคนนั้นจะรู้สึกผิดมาก โทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวเองถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมจะผลักภาระว่าเพราะเธอไม่ยอมพูด โดยที่ผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับการกระทำนั้นเลย

2.การคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะพร้อมใจหรือถูกบังคับ ในสถานการณ์เวลานั้นจะเกิดขึ้นเร็วมาก บางทีผู้หญิงอาจจะอยู่ในสถานการณ์กลัวสุดขีดหรือไม่มีสติ จนไม่มีโอกาสที่จะพูดได้ว่าเราไม่ยินยอม เมื่อเกิดเหตุแล้วสังคมที่ไม่เข้าใจเรื่องของการยินยอมก็จะมองว่าทำไม่ผู้หญิงไม่ร้อง ไม่ตะโกนขอความช่วยเหลือ เพื่อปกป้องตัวเอง

3.วัฒนธรรมที่บอกว่า หญิงที่ดีต้องปฏิเสธพอเป็นธรรมเนียม สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมองผู้หญิงที่ปฏิเสธว่าแค่แกล้งทำ นั่นหมายถึงการปฏิเสธ หรือไม่ยินยอม ที่จะมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงนั้นไม่มีอยู่จริง หรือ ผู้หญิงชอบที่จะถูกข่มขืน สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับอาชญากรคดีข่มขืน สิ่งนี้เป็นมายาคติที่รุนแรงมาก ถ้าไม่ออกมาพูดหรือกระตุกเตือนในแต่ละครั้งจะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงอยู่

“ภรรยาหลายคนไม่ได้ต้องการมี SEX แต่เพราะกังวลว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ภรรยาที่ไม่ดี หรือเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าได้ในภายหลัง ดังนั้นการยินยอมในบางครั้งจึงไม่ได้หมายถึงผู้หญิงต้องการ นี่เป็นความพร่าเลือนและซับซ้อนมาก ๆ เกี่ยวกับการยินยอม (Consent)”

ชเนตตี ทินนาม

เพื่อป้องกันความสับสนในการสื่อสารเรื่อง Consent ต่างประเทศมีความพยายามรณรงค์ให้คู่สัมพันธ์ถามก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง (ASK) ตามด้วยการฟังว่าคู่ของเรามีความรู้สึกอย่างไร (Listen) และสุดท้ายคือการเคารพในการตัดสินใจ (Respect)  

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีคุกคามทางเพศในพรรคการเมืองเวลานี้ว่า หลังเกิดเหตุในสื่อสังคมออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือคนที่เข้าใจเหตุการณ์ และบอกว่าพรรคต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ กับอีกฝั่งที่บอกว่าคุณไม่ชอบเขาทำไมไปแชทคุยกันตั้ง 200 หน้า กลายเป็นว่าภาระในการปฏิเสธตกมาอยู่ที่ผู้ถูกคุกคาม ต้องหาทางปฏิเสธให้เด็ดขาด แต่คำถามไม่ได้ถูกถามไปยังผู้ที่คุกคามทางเพศว่าแสดงท่าทีอย่างไรถึงยังไม่หยุด นี่ถือเป็นการวัฒนธรรมในการโทษเหยื่อ หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่ได้เอาเป็นข้อพิจารณาในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งความจริงคนที่มีอำนาจน้อยกว่า บางครั้งไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา หรือตัดความสัมพันธ์ได้ในทันทีอาจจะยังทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องของการต้องทำงาน เกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ดังนั้นผู้มีอำนาจในการสอบสวนต้องมองว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อองค์กร ไม่มีเหตุผลที่จะปิดเป็นความลับอีกต่อไป

กรณีพรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ดึงดูดคนรุ่นใหม่ แต่พรรคเองก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมว่ามีคนที่มีความคิดเรื่องเพศแบบเก่า และแบบใหม่รวมอยู่ด้วยกันในองค์กร จึงเกิดกรณีที่มีปัญหาจนเกิดการร้องเรียน ซึ่งองค์กรอาจจะยังไม่ตั้งหลักให้ดีกับเรื่องการคุกคามทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศ ควรมีนโยบาย แนวปฏิบัติอย่างไร สังคมจึงเกิดคำถามกับกระบวนการจัดการปัญหาขององค์กร

“กรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลมีการร้องเรียนก็จริง แต่ผู้เสียหายอาจจะรู้สึกว่ากระบวนการเชื่องช้า ผ่านไปนานแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงตัววิธีการ ขั้นตอน หรือแนวปฏิบัติ จัดการปัญหาการคุกคามทางเพศที่มีปัญหาของทางพรรค นำมาสู่การโพสต์ในโลกออนไลน์”

วราภรณ์ แช่มสนิท

วราภรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีมีร้องเรียนการคุกคามทางเพศโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหลายกรณีต่อเนื่องกันในช่วงนี้ สะท้อนว่าสำนึกเรื่องความเป็นธรรมทางเพศของคนในสังคมจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวและดำเนินการใด ๆ เพราะความอับอายและเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำ ทำให้คนที่ทำผิดลอยนวล และมีแนวโน้มจะไปคุกคามเหยื่อรายอื่นอีก แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีสำนึกเรื่องการปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น ไม่ยอมรับการคุกคามทางเพศ และไม่ยอมนิ่งเงียบอีกต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่า พฤติกรรมคุกคามทางเพศเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องหมาหยอกไก่ ใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ผิดอะไร พอคนสองกลุ่มนี้มาเจอกัน ปัญหามันก็ปะทุขึ้น ยิ่งเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนมอบความไว้วางใจ ยิ่งต้องถูกตรวจสอบโดยสาธารณะ จะถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้

ข้อมูลจากนิธิหญิงชายก้าวไกล เก็บข้อมูลการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ปี 2564 พบข่าวความรุนแรงทางเพศถึง 98 ข่าว แบ่งเป็นข่าวข่มขืน 38.8 % ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว 30.6 % ข่าวอนาจาร 11.2 % ข่าวการคุกคามทางเพศทางออนไลน์, พูดจาแทะโลม 11.2 % ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 5.1 % ข่าวพรากผู้เยาว์ 3.1 % สำหรับผู้กระทำคือ คนรู้จักคุ้นเคย เช่น ครู เพื่อนบ้าน อดีตแฟน เพื่อนในวงเหล้า เป็นต้น 46.4 % คนในครอบครัว เช่น พ่อเลี้ยง, พ่อกระทำลูก, ลุง เป็นต้น 30.9 % บุคคลแปลกหน้า 20.6 % และถูกกระทำจากคนรู้จักผ่านโซเชียล 2.1 % สำหรับผู้ถูกกระทำมีทั้งหมด 132 ราย อายุ 11-15 ปี 50.5 % อายุ 16-20 ปี 16.5 % อายุ 21-25 ปี 11.4 % อายุ 6-10 ปี 9.3 % ทั้งนี้ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ถูกพ่อข่มขืน อายุมากสุดคือ 83 ปี ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน ที่สำคัญคือพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุถึง 38.3 % ยาเสพติด 19.2 % อ้างความต้องการทางเพศ 10.6 % และพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 13.5 % ชลบุรีและนครราชสีมา 7.2 % เชียงใหม่ 6.2 % สมุทรปราการ 5.2 %

ทั้งนี้ คนที่ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกกระทำจากคนรู้จักคุ้นเคย คนในครอบครัว สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจน ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และข้อมูลที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ พบว่าผู้เสียหายถูกกระทำจากครู อาจารย์เพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มถูกคุกคามทางเพศจากผู้นำ นักการเมืองท้องถิ่นด้วย จึงถึงเวลาที่เราควรให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน องค์กรการเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดใช้อำนาจเหนือ และไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหาย ไม่กล่าวโทษผู้เสียหาย มีระบบให้คำปรึกษาที่ชัดเจน เป็นมิตร ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์จิตใจ ที่สำคัญการเมืองทุกระดับต้องมีการกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบเข้มข้น ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ใช้อำนาจเอาเปรียบทางเพศหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active